ตั้งงบรวม 1,870 ล้านบาทแก้น้ำท่วมพัทยา เมืองพัทยาเร่งหารือกรมเจ้าท่าโยธาธิการฯ และทุกภาคส่วน เตรียมเดินหน้าแผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ขนาด 3.6 เมตรลอดถนนพัทยากลาง หวังรองรับน้ำฝั่งตะวันออกกว่า 2 ล้าน ลบ.ม.เพื่อระบายลงทะเล หวังลดปัญหาน้ำท่วมพัทยาถาวร ด้านเจ้าท่าพัทยาหวั่นปัญหาปล่อยมวลน้ำมหาศาลลงชายหาดอาจกระทบเกิดกัดเซาะรุนแรงและโครงการเสริมทราย ขณะที่การต่อท่อลงทะเลระยะ 1 กม.อาจไม่ใช่ทางออกหากคุณภาพน้ำมีปัญหาก็อาจเกิดวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้ ผลที่ประชุมสรุปเร่งจัดทำข้อดี-เสีย แผนการปล่อยน้ำทางบนบกและบนฝั่ง ก่อนนำเรื่องเข้าพบ มท.1 เพื่อชี้แจงและขอรับความเห็นชอบ 14 ธันวาคมนี้ (9 ธ.ค.60) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี พลตํารวจตรี อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา เป็นประธานประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติแผนการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพัทยาอย่างถาวร โดยมี นายอภิชาติ วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา นายสุธรรม เพ็ชรเกตุ รองปลัดเมืองพัทยา นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง ผู้อำนวยการสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพัทยา ผู้แทนจากกรมส่งเสริมคุณ ภาพสิ่งแวดล้อม สถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รวมทั้งคณะที่ปรึกษาออกแบบโครงการ เข้าร่วม พลตำรวจตรี อนันต์ กล่าวว่าจากการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในช่วงที่ผ่านมา เมืองพัทยาได้นำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวร หลังเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อเนื่อง จึงได้มีการสั่งการให้ประสานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองพัทยาเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบศึกษา และวางแผน ซึ่งปัจจุบันทางกรมโยธาธิการได้มอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาดำเนินการออก แบบและวางแผนปแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีความสมบูรณ์เรื่องการออกแบบโครงการแล้วกว่า 100 % โดยแผนงานดังกล่าวคาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวน 1,870 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้เป็นพวงมาจากที่ ครม.มีมติให้ดำ เนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในงบประมาณรวม 810 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้มาแล้วจากการอุดหนุนจาก EEC ตามมติ ครม.แล้วจำนวน 665 ล้านบาท จากนั้นเมืองพัทยาจะทำการของบประมาณอุดหนุนปี 2562 อีก 145 ล้านบาทเมืองพัทยาจะได้เสนอขอการจัดสรรจากสำนักงานประมาณ และให้กรมโยธาธิการดำเนิน การต่อในการขอรับงบประมาณอุดหนุนซึ่งอาจจะเป็นการของบของกรม หรือขอผ่านทาง EEC อีก 1,000 กว่าล้านบาท ก็จะทำให้โครงการสามารถดำเนินการได้ทั้งระบบ สำหรับโครงการนี้จากการออกแบบของที่ปรึกษากรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นรูปแบบการจัดวางท่อระน้ำขนาด 2.2 เมตร เลียบถนนทางรถไฟทาง 2 ฝั่ง พร้อมบ่อรับน้ำจำนวน 3 จุด ได้แก่ ทิศเหนือของทางรถไฟ พัทยาใต้ และซอย 5 ธันวาคมซึ่งเป็นจุดน้ำท่วมขัง ก่อนต่อระบบท่อมาทางซอยวัดบุญสัมพันธ์ และวางอุโมงค์ใต้ดินลอดถนนพัทยากลางจากปากทางไปสู่ทะเลบริเวณลานเอนกประสงค์แยกพัทยากลางซึ่งจัดทำเป็นบ่อพักสลายพลังงานหรือความแรงของน้ำขนาด 6x12 เมตรใต้ดิน ที่รับน้ำที่ไหลผ่านมาจากอุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ 3.6 เมตร ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี ตามงบประมาณดังกล่าว ที่จะทำให้สามารถรองรับน้ำฝนหลากจากฝั่งตะวันออกได้กว่า 2 ล้าน ลบ.ม.เพื่อระบายลงสู่ทะเล เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เมืองพัทยาอย่างถาวร อย่างไรก็ตามแผนงานดังกล่าวปัจจุบันยังไม่ได้ผลสรุปที่ชัดเจนว่าจะปล่อยน้ำที่บริเวณลงสู่ชาย หาดหรือการท่อต่อระบายลงสู่ทะเลในระยะ 1,000 เมตร เนื่องจากได้รับความทิ้งติงจากสำนักงานเจ้าท่าว่ากรณีมวลน้ำเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายหาดที่ทางกรมมีแผนทำการเสริมทรายภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 61 นี้ ขณะที่การต่อท่อระบายลงสู่ทะเลนั้นต้องมีแผนและระบบในการป้องกันขยะและลักษณะการป้องกันความขุ่นขนของน้ำซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล การเดินเรือ และการท่องเที่ยวได้ ขณะที่มีการชี้แจงว่าแผนการระบายน้ำของเมืองพัทยาในอดีตจำนวน 11 โครงการที่มีการต่อท่อระบายลงสู่ทะเลได้ผลสำเร็จหรือไม่ เพราะน้ำที่หลากมาส่วนใหญ่มีตะกอนทรายและโคลนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากใช้วิธีการนี้อาจทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ขณะนี้การดำเนินการโครงการนี้มีส่วนเกี่ยวพันในกฎหมายหลายด้าน ตั้งแต่การใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการจัดวางท่อรับน้ำเลียบถนนทางรถไฟ ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อแผนการจัดสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมทั้งการดำเนินการในเขตเมืองพัทยาซึ่งอยู่ในพื้นที่ประกาศคุ้มครองสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการก่อสร้างอาคารบริเวณชายหาดจะต้องมีการผ่านความเห็นชอบหรือไม่ นอกจากนี้การวางท่อใต้ทะเลต้องเข้าข่ายตามข้อกำหนดของกฎหมายกรมเจ้าท่าที่ต้องฝังแนวท่ออยู่ใต้ระดับทราย 5 เมตร และลดปัญหาการกัดเซาะชายหาด โดยการนี้ พลตำรวจตรี อนันต์ นายกเมืองพัทยาได้มอบหมายให้ทางกรมโยธิการไปทำการสรุปแนวทางการจัดทำโครงการทั้ง 2 แนวทางคือการระบายน้ำบนฝั่งและในทะเลด้วยการต่อท่อในระยะ 1,000 เมตร โดยการพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย รวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อกังวลเกี่ยวกับการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมการจัดทำ IEE เพื่อรายงานวิธีการและผลกระทบต่อคณะกรมการระดับจังหวัดพิจารณา จากนั้นจะได้รวบรวมข้อมูลพร้อมผู้เกี่ยวข้อง เข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยอีกครั้งในวันที่ 14 ธันวาคมนี้เพื่อหาผลสรุปและผลักดันการดำเนินโครงการต่อไป มีรายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยานั้น แต่เดิม ครม.มีมติเห็นชอบในงบประมาณจำนวน 810 ล้านบาท เพื่อทำระบบรางระบายน้ำริมถนนเลียบทางรถไฟไปยังลงคลองก่อนปล่อยลงสู่ทะเล แต่คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันมองว่าอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่เบ็ดเสร็จ จึงมีการเปลี่ยนแผนให้เป็นการจัดทำอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ โดยการดึงเอางบ EEC ที่อนุมัติไว้เดิมมาปรับเปลี่ยนเพื่อดำเนินการในระยะแรก ก่อนจะขอจัดสรรรงบเพิ่มเติม และให้กรมโยธาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนงบประ มาณที่เหลือหรือในระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจาก มท.1 ก็จะมีการนำเรื่องไปชี้แจงต่อสำนักงบประมาณเพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบก็จะนำเรื่องกลับเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบใหม่อีกครั้ง ก่อนมาดำเนินการในส่วนของงานพัสดุ งานคลัง เพื่อประกวดราคาและดำเนินการต่อไป มีกระแสกังวลจากประชาชนบางส่วนว่าโครงการนี้แม้จะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองพัทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่งไปสร้างปัญหาอีกอย่างหนึ่งหรือไม่ โดยเฉพาะการระบายมวลน้ำในปริมาณนับล้าน ลบ.ม.ลงสู่พื้นที่ชายหาด ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักจะได้รับผลกระทบทางชายฝั่งและทะเลรวมถึงการท่องเที่ยวอย่างไร พร้อมเห็นควรว่าน่าจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการด้วย