จากประเด็นที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) มีแนวทางขยายอายุรับบำนาญจาก 55 ปีเป็น 60 ปี และเตรียมปรับเงินสมทบเพิ่มขึ้น แต่มีคนคัดค้านไม่เห็นด้วย และโยงไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลว่าถังแตกต้องหาเงินเพิ่ม จนต้องมาเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม วันนี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมถึงข้อเท็จจริงว่าเป็นมาอย่างไร หมอสุรเดชย้ำว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลชุดนี้จ่ายเงินครบมาตลอด ต่างจากแทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมาส่งขาด ค้างอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้าน บางปีพยายามคืนส่วนที่ขาดมาบ้าง ซึ่ง สปส.ไม่ทราบเหตุผล แต่ส่วนใหญ่ถูกตัดงบในชั้นของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย เพราะ ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการส่วนใหญ่มองว่า กองทุนสปส.มีเงินก้อนใหญ่ อยู่แล้ว โดยที่ไม่ได้คิดว่านี่เป็นเงินที่รัฐบาลต้องสมทบตามกฎหมาย หรืออาจไม่เข้าใจ เพราะหากเป็นงบจากส่วนอื่นๆตัดไปแล้วจบ แต่งบกองทุน สปส.ตัดแล้วยังเป็นหนี้อยู่ ในอนาคตถึงอย่างไรต้องจ่ายคืนให้ สปส. สำหรับเหตุผลที่สำนักงานประกันสังคมปรับฐานเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพ สภาวะเศรษฐกิจ และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพื่อสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคงให้กับผู้ประกันตน อีกทั้งเป็นการอออมรายได้ส่วนหนึ่งของผู้ประกันตนให้มีเงินเลี้ยงตัวเองในยามชราหลังเกษียณอายุ โดยไม่เป็นภาระกับครอบครัวและสังคม อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวใช้มานานกว่า 27 ปี โดยที่ไม่มีการปรับใดๆ การคิดคำนวณเงินสมทบ จึงไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับขึ้น ทั้งนี้เดิมที่เคยคิดคำนวณเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท จะขยายเพดานค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 20,000 บาท แบ่งการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนคือ ผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาทใช้ฐานคำนวณเดิม เก็บเงินเข้ากองทุน 750 บาท,เงินเดือน 16,000 เก็บ 800บาท เพิ่มขึ้น 50บาท,เงินเดือน 18,000เก็บ 900บาทเพิ่มขึ้น 150 บาท และเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไปเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน 1,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 250 บาทต่อเดือน ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับใหม่อยู่ระหว่างเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อให้พิจารณา สำหรับอัตราการเก็บเงินสมทบรูปแบบใหม่ ส่งผลดีต่อประชาชนเพิ่มขึ้นเช่น กรณีเจ็บป่วย แพทย์มีความเห็นให้หยุดงาน มีใบรับรองแพทย์จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากเดิมเดือนละ 7,500 บาทเป็นเดือนละ 10,000บาท กรณีคลอดบุตรผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตรเพิ่มขึ้นจากเดิม 7,500 บาท เพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาทต่อเดือนโดยได้รับ 90 วันรวมเป็น 30,000 บาท กรณีทุพพลภาพจะได้รับเงินชดเชยไปตลอดชีวิต จากเดิมเดือนละ 7,500 บาทเพิ่มเป็น 10,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีเสียชีวิตนอกจากได้เงินค่าทำศพ 40,000 บาทแล้ว ทายาทยังได้เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตเพิ่มจากเดือนละ 7,500 บาทเป็นเดือนละ 10,000 บาท ขณะที่ถ้าว่างงาน หากลาออกจากงานได้รับ 3 เดือนจากเดิมได้เดือนละ 4,500 บาทเพิ่มเป็นเดือนละ 6,000 บาท แต่หากถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้ทำผิดกฏหมายได้รับ 6 เดือนจากเดิมเดือนละ 7,500 บาทเพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาท ทั้งนี้ที่ผ่านมาภายหลังการรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นครั้งสุดท้ายจะมีการรวบรวมความเห็นจากการรับฟังความเห็นในทุกครั้งที่ผ่านมา แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าเห็นด้วยเพราะอะไร ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร รวมถึงข้อเสนอแนะ ซึ่ง 2 ประเด็นใหญ่คือเรื่องการขยายบำนาญชราภาพจาก 55 เป็น 60 ปี กับเรื่องการขยายเพดานส่งเงินสมทบจากเพดานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ส่งสมทบสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต้องบอกว่าไม่มีใครเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เรื่องขยายการส่งเงินสมทบบอกได้ว่าคนเห็นด้วยมีมากกว่า ขอยืนยันว่า สปส.ไม่ทิ้งความเห็นของคนที่ไม่เห็นด้วย แม้เป็นเรื่องที่ทำได้เร็วแต่ไม่รีบ เป็นหน้าที่ที่ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจก่อนรอบด้าน คุณหมอกล่าวด้วยแววตามุ่งมั่นว่า ที่ผ่านมา สปส.บริหารเงินกองทุนอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ คำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนและเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ มุ่งมั่นในการบริหารกองทุนและสร้างผลตอบแทนสะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่กองทุนประกันสังคมสามารถรองรับค่าใช้จ่ายในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจากผลการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมมีสถานะเงินลงทุน ณ 30 มิ.ย.60 มีเงินสมทบ และผลตอบแทนสะสมเป็นจำนวนเงิน 1,636,549 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินสมทบ 1,144,982 ล้านบาท ผลตอบแทน 491,567 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังร้อยละ 5.06 ทั้งนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้ว ตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย.60 เป็นจำนวน 25,223 ล้านบาท ทั้งปีไม่น่าต่ำกว่า 52,000 ล้านบาทที่เป็นตัวเลขผลตอบแทนปี 59 และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ได้มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆเช่น จำนวนการใช้บริการของผู้ประกันตนทั้ง 7 กรณี อัตราการใช้บริการทางการแพทย์ จำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวนสถานประกอบการ รวมทั้งข้อมูล การลงทุนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของ สปส. ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนประกันสังคมว่า เป็นเงินก้อนใหญ่มาก น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ช่วยเหลือผู้ประกันตนที่เดือดร้อน ดีกว่าไปลงทุนในหุ้น ในกองทุนฝากธนาคาร ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ และไม่เคยบอกประชาชนว่าลงทุนอะไรบ้าง ได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ ใช้จ่ายคืนผู้ประกันตนไปเท่าไหร่ จากประเด็นดังกล่าวขอชี้แจงว่า การลงทุนของสำนักงานประกันสังคมเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันสังคมการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมและมีเจตนารมณ์ เพื่อวางพื้นฐาน สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมถึงรับผิดชอบในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาพยาบาลและมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อบัญญัติให้ผู้ประกันตนกู้เงิน หากให้สำนักงานประกันสังคมนำเงินสมทบมาใช้หนี้นอกระบบหรือเรื่องอื่นๆจะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม ซึ่งการนำเงินสมทบให้ผู้ประกันตนกู้ยืมต้องใช้องค์ความรู้และเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และความชำนาญด้านการวิเคราะห์สินเชื่อเป็นการเฉพาะ เพราะต้องมีการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงรายบุคคล สำหรับการนำเงินสมทบไปลงทุนเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ สปส.มีคณะอนุกรรมการการบริหารการลงทุน และคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุนที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงและการลงทุนประกอบด้วย ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นักวิชาการอิสระร่วมให้คำแนะนำ และกำกับการลงทุน อีกทั้งงบดุล และรายงานการรับจ่ายเงินกองทุนประกันสังคมต้องส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อตรวจสอบและรับรองก่อนเสนอ รมว.แรงงาน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ที่ผ่านมา สปส.ได้นำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนโดยลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคงสูงร้อยละ 81 คือหุ้นสามัญพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง ไม่ค้ำประกัน หน่วยลงทุนผสมตราสารหนี้ ตราสารทุนต่างประเทศ และหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ และลงทุนหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 19 คือ พันธบัตรรัฐบาล ธปท. รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้เอกชนหรือ securitized debt ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เงินฝาก และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ทำให้มั่นใจถึงความโปร่งใส มีธรรมภิบาลในการนำเงินไปลงทุน คุ้มค่ากับการจ่ายเงินให้ สปส.นำไปบริหารเพื่อกลับมาดูแลผู้ประกันตน