วันที่ 12 ธ.ค.60 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ 3 มาตรการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ หรือ ลดปริมาณยาง ที่ทางกระทรวงเกษตรได้ทำการรายงานเบื้องต้นไปต่อที่ประชุมฯ ประกอบไปด้วย 1.เป็นมาตรการที่ทางกระทรวงเกษตรได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา และกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอทราบความต้องการปริมาณยางที่จะใช้ในหน่วยงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าปีนี้มีจำนวนยางพาราในแต่ละส่วนราชการจะใช้อยู่ที่ 70,000-80,000 ตัน หากเป็นปริมาณเท่านี้ยังต่ำ จึงเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้หน่วยงานราชการประชุมและตกลงอีกครั้ง เพื่อทราบจำนวนที่แน่นอนว่ามีจำนวนการใช้ยางในประเทศมากน้อย มาตรการที่ 2 คือ การสนับสนุนชดเชยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราไม่เกินร้อยละ3 หรือประมาณ 600 ล้านบาท (คิดจากกรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท) เพื่อดูดซับผลผลิตออกจากท้องตลาดได้ราว 3.5 แสนตันและมาตรการที่3 มาตรการลดการกรีดน้ำยางและลดพื้นที่การปลูกยางในพื้นที่ของส่วนราชการ ในอัตราส่วน 100เปอร์เซ็นเต็ม เป็นเวลา 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.61) ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่ราว 1.2 แสนไร่ ช่วยลดปริมาณได้ประมาณ 5,000 ตัน และอีกส่วนเป็นการเชิญชวนให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยางพาราลงแล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เป้าหมาย 2 แสนไร่ โดยการยางแห่งประเทศไทยจะมีทุนการซื้อปัจจัยการผลิต และซึ่งจะจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 400 บาท แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ ทั้งนี้ยังมีมาตรการ เสริมอย่าง การทำความตกลงกับบริษัทกลางยางพารา 3 ประเทศ เพื่อลดการส่งออกชั่วคราว คาดว่าจะลดลงราวประเทศละ 2 แสนตัน ซึ่งทาง กยท.จะรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรเพื่อดูดซับปริมาณยางออกจากตลาดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยาวพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น "อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 มาตรการดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอมาตการต่อคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เห็นชอบก่อนนำมาเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เชื่อว่า 3 มาตรการจะช่วยพยุงราคายางพาราให้กับเกษตรกรได้ โดยไม่ขาดทุน หรือมีราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 50-60 บาท" นายกฤษฎา กล่าว