พด. เดินหน้าโครงการขุด “บ่อจิ๋ว” แหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นานอกเขตชลประทาน ปีงบประมาณ 2561 แก้ปัญหาภัยแล้งและสนองความต้องการเกษตรกรที่ขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค 45,000 บ่อ วันนี้ (12 ธ.ค.60) นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้ทางกรมพัฒนาที่ดิน จัดหาหรือพัฒนาแหล่งน้ำหรือการหาน้ำให้มีประจำพื้นที่แก่เกษตรกร และพิจารณารวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็กเช่น บ่อ หรือสระที่กรมฯ ได้ไปดำเนินการไว้ในพื้นที่ต่างๆว่า ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยของประชาชนมากน้อยเพียงใด ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ทำเกษตร ประมาณ 150 ล้านไร่ จำแนกเป็นพื้นที่ที่มีระบบชลประทานประมาณ 29 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกประมาณ 120 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยไม่มีน้ำเพื่อการเกษตรได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในระบบการผลิตทางการเกษตรและเป็นสิ่งจำเป็นในด้านอุปโภคและบริโภค ถึงแม้ว่าในอดีตจนถึงปัจจุบัน กรมพัฒนาที่ดินจะได้ดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นาไปแล้วบางส่วน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ดังนั้น คณะรัฐมนตรี จึงได้อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จัดทำโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน บรรเทาภาวะภัยแล้ง และเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยการขุดสระน้ำในไร่นา ซึ่งในแต่ละปีงบประมาณกรมฯ จะดำเนินโครงการขุดสระน้ำ ขนาด 1,260 ลบ.ม. จำนวน 45,000-50,000 บ่อ ขึ้นอยู่กับความพร้อมในหลายๆ ด้าน ในพื้นที่ของเกษตรกรที่มีความประสงค์จะขุดสระน้ำ และมีเอกสารสิทธิ์พร้อมการยินยอมให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการ เกษตรกรสามารถเลือกขนาดกว้าง ยาว ให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้โดยได้รับคำแนะนำจากหมอดินอาสา และช่างควบคุมงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องเป็นจุดที่อยู่ในพื้นที่ราบต่ำมีความลาดชันไม่เกิน 2% มีดินเหนียวปนอยู่ไม่น้อยกว่า 20% และไม่ใช่ดินที่เป็นทรายล้วนตลอดความลึก และไม่เป็นพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของดินเค็ม ความลึกของสระน้ำไม่น้อยกว่า 2 เมตร นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 จนถึงปัจจุบัน 2560 กรมพัฒนาที่ดิน สามารถดำเนินการก่อสร้างงาน แหล่งน้ำได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 421,774 บ่อ สามารถบรรเทาและแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนได้ ประมาณ 421,774 ครัวเรือน รวมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 843,548 ไร่ หรือ คิดเป็นปริมาตรการเก็บกักน้ำได้ 421.774 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับปี 2561 นี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการขุดบ่อน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน “บ่อจิ๋ว” จำนวน 45,000 บ่อ เกษตรกรมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่ายบ่อละ 2,500 บาท นายสุรเดช กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่เพื่อขุดสระ ดังนี้ 1.บริเวณที่จะทำการขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นา จะต้องเป็นพื้นที่ลุ่มหรือในพื้นที่เหมาะแก่การทำนา ความลาดชันของพื้นที่ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ 2.สระที่จะขุดต้องมีพื้นที่รับน้ำท่าไม่น้อยกว่า 8 เท่า ของขนาดสระ โดยให้สังเกตจากร่องน้ำหรือ สัมภาษณ์หาข้อมูลประมาณน้ำท่าในพื้นที่ประกอบการพิจารณา 3.บริเวณที่จะขุดสระจะต้องเป็นดินที่มีดินเหนียวปนอยู่ไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ตลอดความลึก 3 เมตร จากผิวดิน 4.ความลึกของสระจะต้องไม่เกิน 3 เมตร 5.สระที่ขุดจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นบริเวณพื้นที่รับน้ำของพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของดินเค็ม ทั้งนี้ให้ยกเว้นพื้นที่ที่ได้มีการจัดทำระบบป้องกันการแพร่กระจายของดินเค็มอย่างดีแล้ว 6.สระเก็บน้ำ มีความจุอย่างน้อย 1,260 ลบ.ม. ตามปริมาณงานดินขุด กรณีขุดสระในที่ลุ่ม ความ จุของสระเก็บน้ำจะมากกว่า 1,260 ลบ.ม. และ7.สระเก็บน้ำ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามรูปแบบมาตรฐาน อาจเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้าหรือรูปแบบอื่นได้ โดยได้ดำเนินโครงการฯ ที่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งขณะเดียวกันก็ได้เปิดโอกาสให้กับเกษตรกร หรือประชาชนทั่วไปในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีความต้องการแหล่งน้ำไว้ใช้ในไร่นาเพื่อการเกษตร "เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ขุดบ่อจิ๋ว กับกรมพัฒนาที่ดิน โดยกรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ ได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้านทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 0 2579 8515" นายสุรเดช กล่าว