ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม เชิญผู้แทนทุกส่วนพื้นที่ถกทางออก ลดความขัดแย่งในพื้นที่ ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานคณะมนตรีปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน เปิดเผยถึงปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และในพื้นที่ เป็นผลมาจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ปัญหาโครงสร้างของกระทรวง ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีจุด่อน คือ ไม่มีการมีส่วนร่วมตั้งแต่ก่อนออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ทำให้คนทำงานในพื้นที่เกิดความเครียด เพราะคำสั่งไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีเจ้านายหลายคน จนเกิดปัญหาต่าง ๆ และความขัดแย้งตามมามากมาย
ที่สำคัญขณะนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจการเรียนการสอนของนักเรียน แต่จะสนใจความอยู่รอดของตัวเอง ตำแหน่งของตัวเองเป็นหลัก
"การที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ บอกว่าได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปแก้ปัญหา ส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่าคงไม่สามารถแก้ได้ เพราะนักกฎหมายก็มาจากส่วนกลางไม่ใช่คนทำงานในพื้นที่ จึงไม่รู้ปัญหาอยู่ดี เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ต้องฟังเสียงคนทำงาน ต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ที่ให้ทุกฝ่ายมาร่วมเสนอรูปแบบ ซึ่งจะทำให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนขึ้น ดังนั้น ผมขอเสนอให้เชิญผู้แทนจากทุกส่วนที่อยู่ในพื้นที่ มาพูดคุยเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา เพราะหากทำลำพังโดยส่วนกลางแล้วสั่งการออกไปเหมือนที่ผ่านมา ก็คงแก้ปัญหาไม่ได้ และอาจจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นได้" ดร.รุ่ง กล่าว