เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ( มทร.อีสาน) จ.นครราชสีมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน นครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งวิทยาลัยระบบรางผลิตบุคลากร รองรับเมกกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ว่า สภา มทร. ได้มอบหมายให้ มทร.อีสาน ดำเนินการจัดตั้งวิชาระบบรางพร้อมประสานวิทยาลัยระบบราง หลิวโจว มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีชื่อเสียงการผลิตบุคลากรและพัฒนาทางด้านระบบรางในทวีปเอเชีย การันตีผลงานรัฐบาลจีน ให้ดำเนินโครงการ “ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ” หรือ “ วันเบลท์วันโรด ” ซึ่งเป็นการพัฒนา และร่วมมือทางเศรษฐกิจในเส้นทางสายไหมทั้งทางบก และทางทะเลที่ครอบคลุมตอนเหนือของจีน เส้นทางผ่านเอเชียกลางไปยังยุโรป ส่วนตอนใต้ของจีนเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลางถึงทวีปแอฟริกา “ เมื่อรัฐบาลจีน และรัฐบาลไทยร่วมลงนามความร่วมมือการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย และเชื่อมต่อเส้นทางสายใต้ เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีนในอนาคต จึงต้องมีบุคลากรด้านระบบรางรองรับการดำเนินโครงการ ในอัตรา 2,500 คนต่อปี เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในยุค 4.0 และยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ ทั้งการศึกษาและการค้า โดยรัฐบาลจีน สนับสนุนเงินทุนในการก่อตั้งวิทยาลัย Thailand-China Railway College of RMUTI ซึ่งมีการทำพิธีเปิดป้ายวิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ สมาคมการค้าไทย - กวางสี กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรด้านระบบขนส่งทางรางเพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านระบบราง ” อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2561 มทร.อีสาน นครราชสีมา จะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระบบราง ระดับ ปวส. และในปี พ.ศ 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาลัยเขตจังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น ได้เตรียมเปิดหลักสูตรวิทยาเครื่องกลและโยธา โดยผนวกวิชาเอกระบบรางเบื้องต้น เพื่อสร้างกลุ่มนักศึกษาระบบรางให้เติบโตทั้งด้านประมาณและคุณภาพมากขึ้น จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในด้านพัฒนาขีดความสามารถด้านระบบคมนาคม โลจิสติกส์ ได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพสูงสุด