ผลสัมมนาไทยแลนด์ 4.0 เวทีสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย สรุปสารกำจัดศัตรูพืชเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเกษตรไทย ระบุตัวสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ใช่ผู้ร้าย แต่ผู้ร้ายคือการใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาเรื่อง สารกำจัดศัตรูพืช : ตัวช่วยหรืออุปสรรคของไทยแลนด์ 4.0 ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีข้อสรุปว่า สารกำจัดศัตรูพืชยังมีความจำเป็นต่อการเพาะปลูก และเป็นวิวัฒนาการของสังคมตั้งแต่ 1.0 ไล่เรียงขึ้นจนถึง 3.0 และด้วยความมุ่งหวังให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นรายได้สูง การเกษตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิตจึงต้องพัฒนาไปสู่การเกษตร 4.0 เพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เช่นเดียวกัน ข้อสรุปที่สำคัญคือสารกำจัดศัตรูพืชไม่ใช่ผู้ร้าย แต่การใช้ไม่ถูกต้องต่างหากคือผู้ร้ายที่ต้องหาทางขจัดให้ได้ นายเปรม ณ สงขลา จากกลุ่มเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สารเคมีกำจัดศัตรูพืชถูกมองในแง่ลบ และถูกองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอนำข้อมูลไปขยายผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อภาคเกษตรที่มีประชากรร่วม 20 ล้านคน กลายเป็นการขัดแข้งขัดขาต่อสู้กันเอง โดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย ขณะเดียวกัน เกษตรกรไทยเองก็มีปัญหา ไม่เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ที่มุ่งแสวงหาความรู้และคำตอบใหม่ๆ ในการผลิตเพื่อคุณภาพและการแข่งขัน เทียบกับไต้หวันที่เคยมีประชากรเกษตร 23 ล้านคน ขณะนี้เหลือประมาณ 8 แสนคน กลายเป็นสังคมเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการผลิต มีรายได้สูงฐานะดี ปัจจุบัน รูปแบบการผลิตสินค้าเกษตรสมัยใหม่เริ่มชัดเจนขึ้น เป็นปลูกโดยใช้มุ้ง ตาข่าย โรงเรือน และใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย รวมทั้งบางส่วนในภาคเหนือของประเทศไทย “สารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังไงก็จำเป็นต้องใช้ ถ้าเลิกใช้คนก็ไม่พอกิน ยิ่งอีก 3-4 ปี คนงานเขมรกลับประเทศ เราจะเป็นง่อยเลย เราก้าวพ้นการปฏิวัติเขียวด้วยการปรับปรุงพันธุ์ การชลประทาน และการเขตกรรม วันนี้จะหวนกลับไปเป็นแบบดั้งเดิมเก่าๆ ไม่พออีกแล้ว ยังจะต้องพัฒนาไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลแทนระบบอนาล็อก สามารถตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตได้ทั้งหมด” นายเปรมกล่าวอีกว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแทนการขัดขาต่อสู้กันเอง และเสนอให้สำนักงานกองทุนเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ซึ่งรับจัดสรรเงินทุนจากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ เข้ามีบทบาทในการให้ความรู้เรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้เกษตรกร เพื่อผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น ดร.วีระวุฒิ กตัญญูกุล อดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตรหลายสมัยที่ผันตัวเองไปเป็นเกษตรกรกล่าวว่า สารกำจัดศัตรูพืชเป็นเครื่องมือสำคัญของเกษตรกร ถ้าปลูกในพื้นที่เล็กๆ เป็นสวนครัวหลังบ้านสามารถใช้มือจับบี้แมลงศัตรูพืชได้ แต่เมื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลายเป็นสิ่งจำเป็นทันที แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งประเทศไทยสามารถลดการใช้ได้ทันทีไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณที่ใช้อยู่ปีละ 90,000 ตัน มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท หากถ่ายทอดข้อมูลให้เกษตรกรมีความรู้เพียงพอ ดร.วีระวุฒิ กล่าวเปรียบเทียบว่า ถ้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ดีคงไม่ขายดีกันทั่วโลก การห้ามใช้ (Ban) ก็พูดไม่ครบ พูดแต่มีจำนวนกี่ประเทศที่ห้าม แต่ไม่พูดถึงจำนวนประเทศที่ใช้อยู่ ซึ่งก็มีทั้งประเทศพัฒนาแล้วรวมอยู่ด้วย และละเลยความจริงว่า ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี โรคและแมลงรวมทั้งวัชพืชก็เกิดได้ทั้งปีเช่นกัน ดังนั้นสารเคมีกำจัดศัตรุพืชจึงเป็นเครื่องมือของเกษตรกรในการดูแลผลผลิตไม่ให้เสียหาย “เรื่องยกเลิกหรือห้ามใช้ ผู้ประกอบการค้าสารเคมีไม่เดือดร้อนหรอก แต่คนที่เดือดร้อนมากที่สุดคือเกษตรกรต่างหากที่ไม่มีอะไรมาใช้ทดแทนในการกำจัดศัตรูพืช” สอดรับกับ ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้สารกำจัดศัตรูพืชไม่ถูกต้อง สิ้นเปลือง ทำให้เกิดปัญหาการใช้สารเกินความจำเป็น การควบคุมร้านขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ยังมีความหละหลวม เพราะคนที่มาอบรมกับคนขายประจำร้านเป็นคนละคนกัน “สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็เหมือนยารักษาโรค ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็เป็นอันตราย เช่นเดียวกับมีด ถ้ารู้จักใช้ก็เกิดประโยชน์ ถ้าใช้ไม่เป็นก็เกิดโทษ ถูกคมมีดบาดมือได้ เหมือนความกังวลว่าเด็กเล็กจะได้รับอันตรายจากมีดบาด เลยไม่ให้ใช้มีด แต่หากเราสอนให้ใช้มีดด้วยความระมัดระวัง มีดอาจบาดมือบ้างในตอนแรก แต่ในที่สุดจะใช้มีดได้อย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับความห่วงใยของคนบางกลุ่มที่ไม่ทำการเกษตร กลัวว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอันตรายต่อเกษตรกร เลยหาทางยกเลิกการใช้” ดร.จรรยา กล่าวว่า มีคนในสังคมไทยไม่น้อย ยังแยกไม่ออกระหว่างผักอินทรีย์กับผักปลอดสารพิษ ถ้าเป็นผักอินทรีย์ กระบวนการผลิตไม่ใช้สารเคมีทุกขั้นตอนเลย ในขณะผักปลอดสารนั้นใช้สารเคมีเกษตรตามมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ทำให้มีค่าสารเคมีตกค้าง (MRLs) ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ “ถ้าไทยแลนด์ 4.0 ต้องใช้นวัตกรรม สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ได้มาแต่ละตัว ถือเป็นนวัตกรรม เพราะได้มาจากผลงานวิจัยไม่ต่ำกว่า 10 ปี ใช้ทีมนักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคน จนทราบว่าสารออกฤทธิ์คืออะไร มีกลไกเข้าทำลายศัตรูพืชอย่างไร มีค่าความเป็นพิษต่อสัตว์ทดลองเท่าไหร่ หรือตกค้างในดิน น้ำ และพืช มากน้อยเท่าใด มีประสิทธิภาพดีในควบคุมศัตรูพืช ถ้าไม่ใช้แล้วจะใช้อะไรแทน เป็นคำตอบสำหรับไทยแลนด์ 4.0 ที่มีนิยามชัดว่า ทำน้อย แต่ได้มาก ปัญหาหลักของสารกำจัดศัตรูพืชคือใช้อย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม” ส่วนการเข้าถึงข้อมูลความรู้เรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้น หน่วยงานเกี่ยวข้องมีหลักสูตรอบรมเกษตรกร แต่เกษตรกรที่มาอบรมก็เป็นคนกลุ่มหน้าเดิมๆ พืชที่ปลูกก็ไม่ตรงกับหัวข้ออบรม จึงไม่แปลกว่าเกษตรกรตัวจริงเข้าไม่ถึงความรู้เหล่านี้ การใช้สารเคมีจึงไม่ถูกต้องเหมาะสมและไม่ปลอดภัย นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกภาคส่วนมีความหวังดีทั้งสิ้น เอ็นจีโอก็หวังดีอยากให้สังคมตื่นตัว แต่อาจจะเกินเลยจนเป็นตื่นตระหนก ผู้ประกอบการก็ต้องการให้เกษตรกรมีเครื่องมือกำจัดศัตรูพืช ผู้ส่งออกหวังดีว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจการส่งออกดีขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐที่ออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อความปลอดภัย แต่ความหวังดีนี้จำเป็นต้องร่วมมือกัน ผลักดันให้ภาคเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของไทยแลนด์ 4.0