พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวภายหลังร่วมในเวทีของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ เบโด้ ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายชาวจังหวัดน่าน ว่า ในฐานะที่เคยรับราชการทหาร ได้น้อมนำแนวทางพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใส่เกล้าฯ เสมอมาว่า “ทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของแผ่นดิน” ดังนั้น “ทุกข์ของประชาชน ก็เป็นทุกข์ของทหารด้วย” “ก่อนการลงพื้นที่ได้ศึกษาปัญหาของชาวบ้านมาตลอด พบว่ามีปัญหา 4 กลุ่ม และใช้ 4 แนวทางในการแก้ไข คือ กลุ่ม 1 เป็นประเด็นที่สามารถทำได้ทันที กลุ่ม 2 เป็นประเด็นที่พอดำเนินการได้ แต่อาจต้องแก้ไขระเบียบหรือจัดให้มีมาตรการต่างๆ ซึ่งต้องมีการกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงาน กลุ่ม 3 เป็นประเด็นที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินยาว ต้องแก้ไขกฎหมาย กลุ่ม 4 เป็นประเด็นที่ทำไม่ได้ แต่ถ้าหากเป็นประเด็นที่ดีมาก อาจเสนอให้มีการพิจารณาใช้ มาตรา 44 ตามความเหมาะสม เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ แต่เริ่มนำร่องให้ดูที่จังหวัดน่าน” ทุกนโยบายรัฐบาลมีทั้งด้านบวกและลบ คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชน ชาวบ้าน การรับฟังความต้องการของประชาชนหรือชาวบ้านโดยตรงว่าต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่อยากได้ และสามารถทำได้ทันทีก็จะได้รีบดำเนินการ เบื้องต้นมอบแนวทางแก้ไขปัญหาที่ทำได้ทันทีว่าจะใช้แนวทางและมีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว คือการใช้อำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้ ในส่วนที่เหลือก็ต้องออกแบบการอนุญาตให้สามารถเข้าไปทำกินในรูปแบบอื่นๆต่อไป ส่วนพื้นที่ในอุทยาน ฯ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับเพิ่มอำนาจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผลจากการพบปะพี่น้องเมืองน่าน พบข้อมูลที่แม้จะมาจากต่างที่ ต่างอำเภอ แต่ก็พอจะประมวลได้ 17 ประเด็น คือ 1. ขยายผลแนวทางการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล 2. ส่งเสริมกิจกรรมป่าครอบครัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ3. จัดให้มีการแบ่งเขตป่าหรือพื้นที่ของภาครัฐให้ชัดเจน 4. จัดให้มีการสื่อสาร ถ่ายทอดคำสั่งจากภาครัฐลงสู่ภาคประชาชนอย่างทั่วถึงและชัดเจน 5. มีระบบการตอบแทนผู้ที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำในรูปแบบต่างๆ เช่น การลดค่าไฟฟ้า 6. มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ประชาชน 7. ยอมรับข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่ท้องถิ่นกำหนดขึ้นเพื่อเป็นกติกาการดูแลรักษาป่าและให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดของกฎหมายของภาครัฐ 8. ขยายผลกิจกรรม “สวมหมวกให้ภูเขา สวมรองเท้าให้ตีนดอย” 9. ปลดล็อกให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณในกิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ของภาครัฐได้ 10.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าไม้เศรษฐกิจ เช่น ไผ่ 11. เพิ่มการขึ้นทะเบียนป่าชุมชน 12. หามาตรการผ่อนปรนหรือแก้ปัญหาหนี้สินของราษฎร ที่ทำกินในพื้นที่ทับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้สินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 13. จัดทำโครงการแปลงต้นไม้เป็นทุนหรือให้สามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน 14. จัดการเอกสารสิทธิที่ดิน 15. สามารถเก็บเกี่ยวและจำหน่ายผลผลิตที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ของรัฐได้โดยไม่ถูกจับกุม ดำเนินคดี16. สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศได้ง่ายขึ้น และจัดให้มีข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้องและครบถ้วน 17. จัดให้มีการฝึกฝนทักษะเป็นผู้ประกอบการให้ประชาชน พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่พื้นที่ทำกินมีจำกัด ขอให้แนวคิดไว้ว่าการกระจายสิทธิทำกินควรดำเนินการในลักษณะการจัดการเป็นกลุ่มหรือชุมชน ไม่ใช่รายปัจเจก และหากชุมชนใดพร้อมก่อน ก็สามารถดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการออกแบบ และวางแผนร่วมกันถึงรูปแบบกิจกรรมการใช้พื้นที่ป่าเพื่อการยังชีพและสร้างรายได้พร้อมไปกับการยังคงให้ป่าทำหน้าที่ป่าต้นน้ำได้ นั่นคือ การยึดหลักการว่า “รัฐได้ป่า ประชาชนได้ที่ทำกิน”