ยังคงเป็นวิกฤติยืดเยื้อต่อไปอีกนานแสนนาน ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ของหลายฝ่าย สำหรับ วิกฤติโรฮีนจาในรัฐยะไข่ประเทศเมียนมา ที่ปะทุเดือดละเลงเลือดรอบล่าสุดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เมื่อปรากฏว่า เกิดการไล่ล่าฆ่าล้างชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ขึ้น จากกองกำลังติดอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นทหารในเครื่องแบบ หรือทหารแปลงรูป ก็ตาม ออกปฏิบัติการโจมตีอย่างไรปรานี บนพื้นฐานแห่งความเกลียดชัง ทางเชื้อชาติ และศาสนา ควบคู่ไปกับ “ปม” ขัดแย้งอย่างรุนแรงที่มีมาอย่างยาวนานในหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ตามการเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิต โดย “องค์การแพทย์ไร้พรมแดน” หรือ “แอมแอ็สเอฟ” องค์กรการกุศลระดับนานาชาติ ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เดินทางเข้าไปช่วยเหลือทางมนุษยธรรมด้านการแพทย์ในบริเวณตะเข็บพรมแดนเมียนมา-บังกลาเทศ ระบุว่า เฉพาะเพียงเดือนสิงหาคมเดือนเดียว ทันทีไฟสงครามปะทุ ก็มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 6,700 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชนอย่างน้อย 720 ราย ส่วน ถึง ชั่วโมงนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจะทะยานเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าไหร่ ยังไม่มีรายงานเป็นตัวเลขที่แน่ชัด นอกจากผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากที่ทับถมลงบนแผ่นดินในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมาแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงยังส่งผลทำให้เกิดกระแสคลื่นอพยพของชาวโรฮีนจา หลบหนีภัยข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศจำนวนมหาศาล โดยมีตัวเลขกลมๆ ก็มากกว่า 660,000 ราย แล้ว ไม่นับที่หลบหนีไปยังประเทศที่สามอื่นๆ อีกจำนวนมิใช่น้อย ท่ามกลางเปลวไฟของวิกฤติข้างต้น ถนนทุกสายของบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในโลกตะวันตก และองค์การระหว่างประเทศ ต่างก็มุ่งตรง พุ่งเป้าโจมตีไปที่ “แม่ซู” คือ “ออง ซาน ซูจี” กันแบบถ้วนหน้า เผลอถูกถล่มมากเสียยิ่งกว่า “ตั๊ดมะดอว์” คือ กองทัพเมียนมา ที่เป็นผู้ลงมือไล่ล่าเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่เองด้วยซ้ำ ด้วยอาการที่ต้องบอกว่า “รักมาก ผิดหวังมาก” ทำนองนั้น จากการที่ผู้คนทั่วโลก ต่างคาดหวังกันสูงว่า นางซูจี ผู้ถูกยกย่องให้เป็น “วีรสตรีแห่งประชาธิปไตยของเมียนมา” บ้าง “เนลสัน แมนเดลาแห่งเมียนมา” บ้าง เป็นต้น จะจัดการแก้ไขวิกฤตินี้ในประเทศของตนเองกันอย่างไร? หรือมิเช่นนั้น อย่างน้อย ปริปากเอ่ยบอกพูดอะไรบ้างเกี่ยวกับวิกฤติปัญหานี้บ้างก็ยังดี ทว่า ดูท่าทีนางซูจีกลัวดอกพิกุลจะร่วง คือ ไม่เอ่ยปากในอันที่จะเป็น “คุณ” ต่อการแก้ไขวิกฤติปัญหาแม้แต่น้อย ในขณะที่นางซูจี ณ เวลานี้ ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” ซึ่งในช่วงที่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก็ได้คุยนักคุยหนาว่า เธอนี่แหละ คนคุมประธานาธิบดี คือใหญ่กว่า “ประธานาธิบดี” เสียอีก หากประชาชาวเมียนมาเลือกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี จนได้ที่นั่ง ส.ส.จำนวนมาก สามารถจัดตั้งรัฐบาลเองได้ อย่างไรก็ตาม พอเผชิญหน้ากับวิกฤติปัญหาเข้าจริงๆ นางซูจี ก็กลับเมินเฉย ไม่ได้ทำอะไรในอันที่จะคลี่คลายวิกฤติปัญหา สมดังปากว่ากันเข้าให้เสียนี่! เมินเฉยไม่เมินเฉยเปล่า แถมยังหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “โรฮีนจา” เรียกขานชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นอีกต่างหาก โดยเรียกว่า เป็นชาว “เบงกาลี” แทน ถึงขนาดที่ผู้ใกล้ชิดส่วนหนึ่ง อย่าง “อาร์คบิชอป เดสมอนต์ ตูตู” ผู้นำทางศาสนาคริสต์คาทอลิก ในเมียนมา ซึ่งสนิทชิดเชื้อเรียกพี่เรียกน้องกับนางซูจี ได้กระตุ้นเตือนถึงน้องสาว คือ นางซูจีว่า การนิ่งเงียบต่อความน่ากลัวที่วันใดได้ถูกเปิดเผยออกมานั้น จะเป็นบทเรียนราคาแพงที่น้องสาวซูจีจำต้องจ่าย ดังนั้น จึงสมควรที่เข้าไปแทรกแซงต่อสถานการณ์ของวิกฤติโรฮีนจานี้ได้แล้ว ทว่า ผู้นับเป็นน้องสาวของอาร์คบิชอปเดสมอน ตูตู รายนี้ คือ ซูจี ก็ยังคงออกอาการนิ่งเงียบ และก็ต้องบอกว่า นำเอาสำนวนไทยที่ว่า “ทำอะไรไม่ผิดเลย ก็คือการไม่ทำอะไรเลย” ไปใช้ไม่ได้ เพราะเมื่อตนนั่งอยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าที่แก้ไขจัดการ อย่างไรก็เสียก็ต้องเข้าไปจัดการ ล่าสุด ทาง “นายเซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน” ข้าหลวงใญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชอาร์ซี ก็ออกอาการสุดทนกับการนิ่งเฉยของนางซูจีต่อวิกฤติโรฮีนจา ถึงขนาดเอ่ยปากว่า อาจจะทำให้นางซูจีต้องเผชิญหน้ากับการดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเลยทีเดียว ในฐานะที่เธอดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรกับการเป็นผู้นำประเทศเมียนมาโดยพฤตินัย นอกจากนางซูจีแล้ว ก็ยังอยากจะลากเอาบรรดาผู้นำกองทัพเมียนมา เช่น พล.อ.อาวุโส “มิน อ่อง หล่าย” มาถูกดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกับนางซูจีด้วย ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง “ผบ.สส.” แห่งกองทัพเมียนมา พร้อมระบุด้วยว่า หากในอนาคตวันหนึ่งวันใด ศาลจะมีคำวินิจฉัยว่า วิกฤตโรฮีนจาที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา ณ เวลานี้ เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อมนุษยชาติ อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ไม่ง่ายเช่นกันที่จะลากคอคนกลุ่มนี้ให้มารับการดำเนินคดีข้างต้นใน “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” หรือ “ไอซีซี” ซึ่งเป็นสถาบันตุลาการ สถิตย์ไว้ซึ่งความยุติธรรม ที่ทำหน้าที่ดังกล่าว เนื่องจากเมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิกของไอซีซี ทว่า ถ้าต้องการจะดำเนินคดีกับคนเหล่านี้จริง ก็อาจสามารใช้ช่องทางผ่าน “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นเอสซี” ให้มีมติเห็นชอบแล้วส่งเรื่องต่อไปยังไอซีซีให้วินิจฉัย แต่นักวิเคราะห์ก็เห็นว่า สุดท้ายและท้ายสุด คนกลุ่มนี้ ก็พร้อมที่จะดื้อแพ่งไม่สนใจในกระบวนการเหล่านี้กันอยู่ดี จึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดการ ใช้มาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศลักษณะนี้ ให้ทางเหล่าผู้นำเมียนมาแดนหม่องกลัวเกรง