“สมคิด” ผนึกกำลัง “หมอประเวศ” ตั้งคณะทำงานสานพลังประชารัฐเพื่อสังคม พัฒนาเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ มอบคลังศึกษาแนวทางออกพันธบัตรนำเงินไปใช้เพื่อสังคม ด้าน สสส.เสนอ 5 โมเดล ให้ภาคเอกชนร่วมดูแลสังคม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม “ประชารัฐเพื่อสังคม” โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และภาคีเครือข่ายประชารัฐ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “ภาคีธุรกิจ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย” พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) รวมทั้งตัวแทนบริษัทเอกชนในเครือข่ายประชารัฐ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องวิมานสุริยา โรงแรมดุสิตธานี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า นโยบายประชารัฐตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเป็นไปได้ดีมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นไปในด้านเศรษฐกิจ ตนจึงได้หารือร่วมกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี อยากให้มีการเริ่มต้นนโยบายประชารัฐด้านสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งมีหลายเรื่องที่ภาคเอกชน สามารถเข้ามาร่วมผลักดันไปได้ เช่น การผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ในขณะที่ภาคเอกชนมีกำลัง มีเครื่องมือ จึงอยากให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยภาครัฐจะร่วมมาตรการทางภาษีสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้เพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนี้ได้มอบหมายให้ที่ประชุมมีการตั้งกลไกเพื่อขับเคลื่อนประชารัฐเพื่อสังคม โดยเตรียมที่จะจัดตั้งคณะทำงานสานพลังประชารัฐเพื่อสังคมประกอบไปด้วยฝ่ายรัฐมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหัวหน้า และปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการร่วม ส่วนภาคเอกชนได้มอบให้นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ขณะที่ภาคประชาสังคมมอบให้ส.ช.ตั้งกรรมการขึ้นมาหารือร่วมกัน รวมทั้งให้มีตัวแทนของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มาร่วมเป็นกรรมการเพื่อสนับสนุนแนวทางการระดมทุนด้วย โดยให้แต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าเมื่อทำงานตามกลไกนี้ในอีก 1ปีข้างหน้ารัฐบาลต่อไปจะเข้ามาใช้กลไกนี้ทำงานเพื่อสังคมต่อได้ทันที
“การดูแลสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีเครื่องมือดูแลผ่านหลายมาตรการและร่วมกันหลายฝ่าย กระทรวงการคลังจะทยอยออกมาตรการดูแลสังคมผู้สูงอายุ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในเร็วๆนี้ เช่น การให้การจ้างงานผู้สูงอายุ การตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อให้ผู้มีอาชีพอิสระ สมัครเป็นสมาชิกสะสมเงินออมระยะยาวในกองทุน กบช. เพื่อรับเงินบำนาญใช้ในยามเกษียณ การจัดทำที่อยู่อาศัยของการเคหะเพื่อรองรับผู้สูงอายุ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่าประชารัฐถือเป็นแนวทางใหม่ในสังคมที่สามารถรวมเอาพลังที่มีความหลากหลายจากภาคส่วนต่างๆในสังคมมาใช้ในการพัฒนาสังคมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้านทั้ง 8,000 ตำบลและ 80,000 หมู่บ้าน โดยมีสองเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและทำควบคู่กันได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุและการพัฒนาคุณภาพเยาวชน ซึ่งต้องมีกลไกที่ควรพัฒนาคือผลักดันให้เกิดคณะกรรมการอิสระขึ้นมาขับเคลื่อนในประเด็นเหล่านี้ โดยรวมเอากลไกของทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำนอกจากเรื่องผู้สูงอายุ ยังมีเรื่องของการสร้างคุณภาพเด็กและเยาวชน เพราะตอนนี้ห่วงว่า เด็กที่เกิดมาใหม่ปีละ 700,000 - 800,000 คน จะอยู่ในสภาพอย่างไร นั่นเพราะที่ผ่านมา 30 ปี ระบบการศึกษาของไทยจะเน้นท่องจำมาโดยตลอด ไม่ได้สร้างให้มีความรู้ด้านการจัดการเพื่อให้เด็กเอาตัวรอดอยู่ได้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า ประชารัฐเป็นกระบวนการทำงานแบบสานพลังระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่น ในช่วง 1 ปี ของการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมไทย มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือและร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ดังนั้น ประชารัฐเพื่อสังคม จึงเป็นการขยายบทบาทความร่วมมือการพัฒนาจากประเด็นเศรษฐกิจสู่ประเด็นการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลกลุ่มประชากรเป้าหมายที่เปราะบางซึ่งรัฐเข้าถึงยาก และประเด็นทางสังคมที่สำคัญซึ่งรัฐมีข้อจำกัดในการดูแลเชิงคุณภาพ ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. ได้เสนอแนวคิดในการดำเนินงานประชารัฐภาคสังคม โดยนำประเด็นที่มีผล กระทบทางสังคมให้ภาคธุรกิจเข้ามาร่วมต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาทางสังคม ได้แก่ 1.การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย 2.การจ้างงานคนพิการ 3. การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 4.การลดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และ 5.การสร้างเครือข่ายเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนกิจกรรม ร่วมบริหารจัดพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง อาทิ ในส่วนของการจ้างงานคนพิการ ภาคธุรกิจสามารถเข้ามาสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณประโยชน์ใกล้บ้านในอัตรา 1 ต่อ 100 ตาม ม.33 หรือส่งเสริมอาชีพคนพิการตาม ม. 35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการ 1.9 ล้านคน ลงทะเบียน 1.56 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการไม่มีงานทำ 46% หรือ 352,859 ล้านคน หากภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนจ้างงานผู้พิการได้ตามเป้าอย่างน้อย 10,000 คน จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ถึง 1 พันล้านบาท
“ปัจจุบันผู้สูงอายุ 34% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน หรือ 2,572 บาทต่อคนต่อเดือน และปัจจุบัน 1 ใน 10 ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ทำให้ในอนาคตรัฐจะต้องจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลและการดูแลเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจหรือระบบบริการเพื่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้ หรือในประเด็นการป้องกันอุบัติเหตุภาคเอกชน สามารถกำหนดมาตรการความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรม สถานประกอบการและโรงงาน อาทิ มาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% มาตรการเมาไม่ขับ มาตรการคาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น โดยภาคประชาสังคมจะเป็นจุดจัดการในพื้นที่ เชื่อมโยงและประสานเครือข่ายในระดับชุมชน ติดตามการปฏิบัติงาน และเตรียมความพร้อมให้ในกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้พิการ ครอบครัว และชุมชน ซึ่งเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ สสส.เตรียมดินไว้แล้ว หากมีความร่วมมือจากภาคเอกชน ไปร่วมกันลงแรงเพาะปลูกต่อในพื้นที่นั้น เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็จะงอกงามได้เร็วขึ้น และเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาประเทศ” ดร.สุปรีดา กล่าว
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ในส่วน 5 ประเด็นที่ นำเสนอมีความเป็นไปได้สูง ในการที่ภาคธุรกิจจะเข้ามาเป็นกลไกร่วมพัฒนาชุมขน สร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ ในส่วนกลุ่มมิตรผลได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายทำงานกับ สสส. โดยเฉพาะประเด็นการจ้างงานผู้พิการมาแล้วหลายปี และเชื่อว่าหากสร้างกลไกสนับสนุนให้องค์กรเอกชนที่เข้มแข็งได้รับรู้วิธีการก็จะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผล ได้ร่วมกับ สสส.จ้างงานผู้พิการในพื้นที่ 77 คน ผลออกมาดีมาก โดยผู้พิการสามารถเข้าไปทำงานใน อบต.และ อบจ.ก็จะช่วยได้มาก และสร้างงานให้เอกชนได้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีบทบาท ด้านการศึกษาให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้ ซึ่งแต่ละปีบริษัทเอกชนที่อยู่ในคณะทำงานสานพลังประชารัฐ มีพนักงานที่เข้า-ออกจากงานปีละประมาณ 50,000-60,000 คน หากดึงเด็กนักเรียนจากมัธยม หรืออาชีวะเข้ามาทำงานจะช่วยพัฒนาคุณภาพของเด็กได้มากขึ้นด้วย