ประชารัฐเคลื่อนภูเขา "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงที่มาของ “โครงการประชารัฐ” ว่า โครงการประชารัฐ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมมือกัน ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและต่อสังคม ในชีวิตการทำงานตั้งแต่เป็นอาจารย์ เป็นที่ปรึกษาธุรกิจ และมาสู่การเมือง ผมมีนิสัยอย่างหนึ่งคือชอบคิดคำศัพท์ใหม่ๆ เพราะการคิดคำศัพท์ใหม่ๆ จะเป็นจุดศูนย์รวมของความคิดที่ทุกคนเข้าใจกันแล้ว จะได้เดินหน้าต่อไปได้ การที่จะมานั่งอธิบายยาวๆ นั้นต่างคนต่างไม่เข้าใจ สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศได้มีโอกาสเขียนหนังสือขึ้นมา 2 เล่ม ได้คิดคำศัพท์ขึ้นมา 2 คำ คำแรกคือคำว่า The New Competition เพราะได้แรงดลบันดาลใจจากเรื่องความสำเร็จของญี่ปุ่น ที่เขาสามารถพัฒนาประเทศของเขาจนก้าวไกล เรียกคำๆ นี้ว่า The New Competition และเขียนเป็นหนังสือออกมาร่วมกับอาจารย์ของผม (เขียนร่วมกับ Philip Kotler และ Liam Fahey) ตอนที่กลับมาในเมืองไทย เริ่มรู้สึกว่ามันมีบางอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์ ผมเขียนจดหมายไปหาอาจารย์ว่า มีความคิดที่จะเขียนหนังสือเล่มใหม่ขึ้นมา แล้วก็บินไปหาอาจารย์ ระหว่างที่บินไปผมคิดคำศัพท์ขึ้นมาคำหนึ่ง Marketing of Nations เพราะมองว่าประเทศไทยไม่ใช่แค่ผลิต จะต้องมีการวางแผน จะต้องมีการเดินตามเส้นทางยุทธศาสตร์ จึงคิดคำคำนี้ออกมาพอไปถึงที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) ก็พอดีเริ่มมีโครงร่างออกมาแต่ละบท และกลายเป็นหนังสือชื่อ The Marketing of Nations: A strategic approach to building national wealth (เขียนร่วมกับ Philip Kotler และสุวิทย์ เมษินทรีย์) ในช่วงของการเป็นอาจารย์ เริ่มเขียนคำว่ายุทธวิธีการแข่งขัน เพราะมองออกไปแล้วประเทศไทยจะต้องแข่งขัน พอเข้าไปอยู่ในการเมือง ก็เห็นคำว่าคิดใหม่ทำใหม่ พอมาถึงการเมืองในขณะนั้นก่อนจะเข้ามาเราเห็นชาวต่างจังหวัดลำบาก สินค้าเขาขายลำบาก เราก็เอาคำพูด wording มาผสมกัน เปลี่ยนชื่อสินค้าชุมชนเป็น OTOP คำสั้นๆ เหล่านี้ พอคนเราเข้าใจความหมายซึ่งกันและกันจะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วมาก พอมาถึงการเมืองปัจจุบัน ก็เริ่มมาทีละตัวๆ ทุกตัวจะมีความหมายของมันเอง ตั้งแต่เรื่องที่บอกว่าเราจะต้องมีประเทศไทย 4.0 เพราะเราต้องการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง เราคิดคำว่า Thailand Startup รณรงค์ว่าจะต้องมีการเกิดอะไรบางอย่าง ตั้งแต่ระดับมวลชนของประเทศเป็น Entrepreneur’s Economy หรือสังคมผู้ประกอบการ บอกว่าสังคมผู้ประกอบการ คนก็ไม่เข้าใจ บอก Thailand Startup เดี๋ยวมันก็ Startup กันเต็มประเทศ พอเห็นว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนผ่าน เราก็คิดคำว่า Digital Thailand ก็เกิดขึ้นมา ทั้งหมดนี้คือ การใช้คำพูดที่ติดปาก เพื่อสื่อความให้ทุกคนเข้าใจ แต่ไม่เคยมีคำไหนเลยที่จะดีใจมาก ที่บังเอิญคิดขึ้นมาได้ว่าจะต้องใช้คำคำนี้ และไม่ได้คิดว่าจะมีผลกระทบถึงขนาดนี้ คือคำว่า "ประชารัฐ" ซึ่งไม่ใช่แนวคิดใหม่เลย แต่เป็นสิ่งที่เราต้องการมาตลอดว่า การทำงานต้องทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน งานถึงจะเดินได้ทุกอย่างถ้าคุณจะเคลื่อนภูเขา ผมเห็นภาคเอกชนเขาทำมาหลาย 10 ปีแล้ว เขาเคลื่อนไม่ไป เพราะว่ามันมีข้อจำกัดอยู่ เราเห็นรัฐเขยื้อนหลายๆ อย่างแต่ไม่ค่อยออก เพราะเป็นการเขยื้อนในระดับสถาบันในระดับของนโยบาย ภาคเอกชนผมก็เห็นเขาขยับเขยื้อนเฉพาะภายในบริษัทของเขา อย่างเก่งผ่านมาสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม แต่ว่ามันขาดพลังร่วมที่แท้จริง ฉะนั้น ณ จุดนี้ คำว่า “ประชารัฐ” ก็เกิด แต่คิดไม่ถึงว่าจะส่งผลกระเทือนรุนแรงขนาดนี้ ขณะนี้เรียนได้เลยว่าหยุดไม่อยู่ แล้ว มันไปในหลายๆ วงการ ทั้งทางการและไม่เป็นทางการ ผมดีใจมากที่บริษัทที่มีชื่อเสียงต่างๆ ได้เข้ามาร่วมในเรื่องของประชารัฐ แล้วเข้ามาในประชารัฐในสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเลยทีเดียว คือเรื่อง Sustainable Development คือทำอย่างไรที่จะให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เคยบอกหลายครั้งแล้วว่า ประเทศไทยไม่ได้เดินโดยจีดีพี ต้องคิดสิ่งไกลๆ ว่าทำอย่างไรให้ยืนยันอยู่อย่างนี้ให้จงได้ เป็นสิ่งที่น่ายินดีอยู่แล้วว่าสหประชาชาติ ยึดเอาสิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายใหญ่ เพราะอะไร เพราะเขาได้บทเรียนว่าที่ผ่านมาทั้งหมด องค์กรทางเศรษฐกิจทั้งหลายไม่ว่าไทย และต่างประเทศ ต่างผิดพลาดกันหมด ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทุกคนขับเคลื่อนไปสู่เรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยิ่งญี่ปุ่นเจริญก็เลยเป็นโมเดลตัวอย่างว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องขับเคลื่อนให้เหมือนญี่ปุ่น เราได้ยินคำว่า Little Dragon คำว่า Tiger ไทยเราก็เป็น Tiger ตัวหนึ่งในยุคนั้นเหมือนกัน ประเทศก็เกิดขึ้นมา โมเดลเหมือนกัน จนกระทั่งเกิดเป็นนโยบาย Exporter Economy แล้วก็มาจีน เกิดพลังยิ่งใหญ่ ทั้งจีนและอินเดีย ตามมา แต่ยิ่งสิ่งเหล่านี้พัฒนาไปเท่าไหร่ เราก็เห็นจุดอ่อนของเราแล้ว สหประชาชาติเริ่มเห็นแล้ว ธนาคารโลกเห็นชัดเจนเลย ก็เริ่มเปลี่ยนนโยบายว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้นไม่ใช่ บางครั้งมันก่อให้เกิดปัญหาที่ยิ่งใหญ่ตามมา ความยากจน ความไม่เท่าเทียม เป็นไปได้อย่างไรที่บางประเทศคนเรามีชีวิตความเป็นอยู่ได้ด้วยเงินเพียงวันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่มันก็เกิดขึ้นจริง ในขณะเดียวกัน คนเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าหายนะที่ยิ่งใหญ่นั้นมาโดยธรรมชาติ น้ำท่วมตรงนี้ แล้งตรงนั้น เกิดอะไรหลายอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนก็เริ่มเกิดความหวั่นกลัวขึ้นมาว่า ถ้าเรายังทำแบบนั้นโดยที่เน้นเติบโตอย่างเดียว ในที่สุดแล้วสังคมก็อยู่ไม่ได้ คนเราถ้ามีคนรวยมากก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามีคนรวยนิดเดียวแล้วคนจนมหาศาล มันง่ายมากเลยที่สังคมหนึ่งจะเกิดกลียุคขึ้นมา แล้วถ้าเราใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ ไม่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ วันหนึ่งข้างหน้าก็เหมือนคุณกำลังเอาของลูกหลานของคุณมาใช้ก่อนจนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือสำหรับเขา แนวคิดตรงนี้ก็เกิดเป็นเป้าหมายใหญ่ของสหประชาชาติว่า ต้องการเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นใน 3 มิติใหญ่ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แล้วมันจะกลายเป็นเป้าประสงค์ที่จะขับเคลื่อนให้ทุกคนเดินตามจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ในหลวงท่านใช้เวลาทั้งชีวิตทำสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ท่านรู้ว่าการพัฒนาประเทศ 40-50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เราพัฒนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในชนบทมันห่างไกลความเจริญมาก ท่านก็เดินตามเส้นทางนี้ไปพัฒนาชนบท ไปดูแลแหล่งน้ำ ให้คนปลูกป่า รักษาทรัพยากร เผยแพร่แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ให้คนรู้ว่าการที่จะอยู่พอเพียงอย่างไร ไม่ใช่พอเพียงเฉพาะตนเอง ต้องเกื้อกูลกันเป็น Community สังคมจึงจะแน่นหนาเป็นปึกแผ่น ฉะนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจว่า ขณะนี้แนวความคิดอ่านเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นไปในทิศทางร่วมกับเรื่องของ Sustainable Development ของสหประชาชาติ บทบาทของรัฐบาลเท่าที่ทำมาทั้งหมด เน้น 3 มิติ ในส่วนเศรษฐกิจที่ผมรับผิดชอบอยู่ หลายโครงการถูกขับเคลื่อนออกมาจากความคิดอ่านที่สะสมกันมา จากตัวอย่างที่ไปดูมา เราก็รู้ว่าสิ่งแรกคือ ทำอย่างไรที่จะเพิ่มรายได้ ทำอย่างไรจะต้องลดรายจ่าย แนวความคิดใหม่ๆ ออกมา เช่น การเติบโตจากภายใน การลดความเหลื่อมล้ำ การต้องไปช่วยเกษตรกรสร้างมูลค่าสินค้าขึ้นมา เพื่อให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ในขณะเดียวกัน เราก็รู้ว่าการเติบโตของเราไปไม่ได้แน่ๆ ถ้าเรายังเป็น Exporter Economy อย่างเดียว สินค้าอุตสาหกรรม เราก็แข่งขันกับเขาไม่ได้ ฉะนั้น การตั้งเป้าการเสริมเรื่องความสามารถการแข่งขันของประเทศก็เริ่มขับเคลื่อนออกมา การตั้งเป้าในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น การเน้นความสำคัญของนวัตกรรม การจูงใจให้มีการลงทุนในดิจิทัล ความพยายามสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ให้ลงทุนในประเทศ ให้เอกชนพยายามลงทุนปรับปรุงความสามารถของตนเองขึ้นมา ประเทศไทยไม่ได้เดินอยู่แค่นี้ ก็ต้องมีเรื่องของธรรมาภิบาลที่ดี หรือ Good Governance หลายอย่างที่รัฐบาลทำไปข้างนอกไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก ผมไปคุยในงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กระทรวงการคลังออกมากี่เรื่องแล้ว พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง, ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment, กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเรื่องการประมูล, เรื่องโครงการ CoST เรื่องของสัญญาคุณธรรม หรือ Integrity Pact ทยอยออกมาโดยลำดับ สิ่งเหล่านี้เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส โครงการใหญ่ของรัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูล ต้องให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ ในขณะเดียวกัน ในซีกของสังคม ท่านนายกรัฐมนตรีก็พยายามขับเคลื่อนว่าทำอย่างไรจะรักษาทรัพยากร ทั้งบนบก ในน้ำ บนอากาศ เราจะเห็นขณะนี้ว่าหลายประเทศมีทรัพยากรเยอะ แต่แทนที่จะดีกลับกลายเป็นไม่ดี เพราะทำให้ไม่รู้จักการรักษาและไม่รู้จักการใช้อย่างมีผลิตภาพสูงสุด ประเทศที่มีน้ำมันมากๆ มีเท่าไรขายมันเท่านั้น ไม่เคยคิดพัฒนาผลิตภาพในการทำอย่างอื่นเลย ฉะนั้น เรื่องสภาพสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่การรักษา แต่ต้องเน้นการใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางด้านสังคมเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นมิติที่อยากจะทำสังคมมากกว่าเศรษฐกิจ แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไรจะได้ย้ายไปทำเรื่องสังคม เพราะสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ผมอยากทำเรื่องบ้านก็พยายามทำทางอ้อมออกมา อยากทำบ้านให้คนจนทั่วประเทศ เราใช้วิธีว่าให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้พัฒนาสังคม และให้หน่วยงานอื่นๆ ทำบ้านคนจนออกมา อยากจะให้ดูแลคนแก่ เพราะว่าคนเราเวลาชราลงแล้ว ที่ญี่ปุ่นเคยไปสำรวจคนแก่ที่อยู่ในบ้านพักคนชรา ปรากฏว่าสิ่งที่ค้นพบน่าตกใจมาก คนเหล่านี้อายุเยอะมากเลย อยู่ในบ้านพักคนชราที่ดูแลกันอย่างดีนะ แต่เขาไม่อยากมีชีวิตอยู่ เพราะเขาไม่มีสังคม ชีวิตของเขาไม่มีความหมาย ผมคุยกับกระทรวงแรงงานให้ขยายเวลาเกษียณ ให้พยายามจ้างงานคนแก่มาทำงาน เราจะให้สิ่งจูงใจทางภาษี สิ่งเหล่านี้เราอยากจะให้มีในอนาคตข้างหน้า เด็กที่เกิดขึ้นมาก่อนที่จะเข้าโรงเรียนเป็นวัยที่จำเป็น เราก็อยากดูแลเขาในสิ่งเหล่านี้ ด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลไม่ต้องมาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ในเมืองใหญ่ คุณต้องมีระบบเคลื่อนที่ไปหาเขา เพราะว่านี่เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแห่งโอกาส การสร้างการเข้าถึงสิ่งที่จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของเขา เราเป็นประเทศจนไม่ใช่ประเทศรวย เราต้องพยายามทำสิ่งที่เราพอจะทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องสังคม ผมคิดว่าเราลืมไป อยากให้พวกเราให้ความสำคัญกับมัน คุณพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ไม่ใช่มาพูดทีละชิ้นๆ มันสำเร็จล้มเหลวอยู่ที่คนทั้งนั้น อยู่ที่ค่านิยมของคน ดังนั้น การระดมความคิดอ่านใดๆ คุณต้องคิดว่าบ้านเมืองจะเจริญหรือไม่ สังคมจะดีขึ้นหรือไม่ คนที่ออกไปข้างนอกจะดูแลสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จะทำความดีให้กับสังคมหรือไม่ แล้วเริ่มต้นมาจากไหน เริ่มต้นมาจากการสร้างตัวตนของเด็กในโรงเรียนหรือไม่ มาจากการที่ครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่หรือไม่ ทำไมเราจะต้องทำให้สิ่งที่ดีๆ ของเราย่อยสลายไปตามตะวันตกซึ่งมีการพัฒนาที่ผิดพลาดมาโดยตลอด เขาทำอย่างนั้นไปทางซ้ายเราก็ไปทางซ้ายตามเขาไม่ลืมหูลืมตา ดูสิ ในสังคมตะวันตกบางประเทศ พ่อแม่คิดว่าการเลี้ยงลูกเป็นภาระ ลูกโตขึ้นมาการเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นภาระ ทุกคนต่างแยกกันไป เด็กเกิดมาไม่มีคนเลี้ยงดู เกิดมาเป็นภาระของสังคมทั้งนั้น ดังนั้น การจะบรรลุ 3 มิติ สิ่งสำคัญไม่ใช่หันไปมองรัฐบาล เป็นไปไม่ได้เลย หรือหันไปภาคเอกชนก็ไม่ได้อีก ภาคเอกชนอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันจะต้องรวมกัน 3 ฝ่ายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Civil Society หรือประชาสังคมของทุกประเทศ มันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก แต่เราไม่เคยเน้นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ ถ้า Civil Society แข็งแรงก็คือ "ประชารัฐ" นี่แหละ ทำเลยไม่ต้องมารอราชการ สิ่งที่จับต้องได้มีมหาศาล เราต้องคิดในสิ่งใหม่ๆ มันจะมีพลัง และอย่าทำคนเดียว มีอะไรให้รัฐบาลช่วยบอกมา แบบนี้จึงจะเดินไปข้างหน้า พลังยิ่งใหญ่ก็จะเกิดขึ้น อะไรที่คิดว่ายากก็จะทำได้ ที่มา:คอลัมน์ เรื่องจากปก |สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 2