อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความเข้มแข็งขึ้น ดังนั้น ภาคเอกชนจึงได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการจัดตั้ง “คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ” (Public–Private Collaborative Committee) ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกให้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงาน 3 ประการ ได้แก่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2.การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ3.การพัฒนาคุณภาพคน ทั้งนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานไว้ 4 ประเด็น คือ 1) ธรรมาภิบาล 2) นวัตกรรมและผลิตภาพ 3) การยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ และ 4) การมีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง พร้อมกันนี้ ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ รวม 12 คณะ โดยในแต่ละคณะจะมีรัฐมนตรีและ CEO ของภาคเอกชน ร่วมเป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนและแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และสามารถตัดสินใจดำเนินการได้ทันทีภายในคณะทำงาน ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่ 3 ธันวาคม 2558) คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และคณะทำงานทั้ง 12 คณะ ได้มีการประชุมและสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้มีการรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ โดยงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าวจะมาจากภาคเอกชนเป็นหลัก ในขณะที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนด้วยการออกมาตรการทางด้านภาษี ให้แก่เอกชนที่มาร่วมในโครงการฯ คณะทำงานทั้ง 12 คณะ ได้ร่วมกันกำหนดแผนงาน/โครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม 49 กิจกรรม จัดแบ่งแผนงาน/โครงการได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ภาคเอกชนดำเนินงานโดยใช้งบประมาณภาคเอกชน จำนวน 9 แผนงาน/โครงการ 2.ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบและภาครัฐสนับสนุน จำนวน 9 แผนงาน/โครงการ 3.ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมดำเนินการ จำนวน 9 แผนงาน/โครงการ 4.อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด จำนวน 26 แผนงาน/โครงการ ทั้งนี้ แผนงาน/โครงการที่ภาคเอกชนดำเนินงาน ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และระดับชุมชน (OTOP) โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากประสบการณ์ของผู้ประกอบการรายใหญ่สู่รายเล็ก (พี่ช่วยน้อง) เช่น ด้านการผลิตเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้านการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น ภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” สำหรับการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) จำกัด อยู่ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) เป็นโครงการดำเนินงานในระดับภูมิภาค 76 จังหวัด โดยมี บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอยู่ในส่วนกลางคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ถือเป็นการดำเนินงานในรูปแบบ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ซึ่งมีหลักการสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1) มีเป้าหมายหลักเพื่อการพัฒนาสังคม ไม่ใช่กำไรสูงสุด 2) เป็นรูปแบบธุรกิจที่รายได้หลักมาจากการให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจชุมชน ไม่ใช่เงินจากภาครัฐหรือเงินบริจาค 3) กำไรต้องนำไปใช้ขยายผล ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว 4) บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และ 5) จดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัท โดยจะเป็นการให้คำปรึกษากับชุมชนในผลิตภัณฑ์และบริการ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเกษตร กลุ่มแปรรูป (SME/OTOP) และกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน โดยผ่านกระบวนการขับเคลื่อน 5 ฟันเฟืองหลัก ได้แก่ 1) การเข้าถึงปัจจัยการผลิต ทั้งด้านทรัพยากรและโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน 2) การสร้างองค์ความรู้ จากในชุมชนและส่งเสริมความรู้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อยอด 3) การตลาด พัฒนาแบบบูรณาการตั้งแต่การวิเคราะห์ตลาดไปจนถึงช่องทางการขายใหม่ๆ 4) การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน ช่วยสร้างแบรนด์และหาช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่นและสื่อระดับประเทศ 5) การบริหารจัดการ ทั้งด้านต้นทุน บัญชี และการบริหารความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนกิจกรรมของโครงการสานพลังประชารัฐนั้น เงินลงทุนถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ การที่ภาครัฐบาลออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้วิสาหกิจชุมชน ถือเป็นการประสานความร่วมมืออันดีภายใต้ประชารัฐ เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทำให้สามารถนำไปต่อยอดการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองได้ แต่ควรส่งเสริมความรู้ด้านวินัยทางการเงินควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการใช้เงินผิดประเภท และให้มีการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ขอยกตัวอย่าง โครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ คณะทำงานพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ (ประมาณ 12 ล้านคน) โดยมุ่งเน้นพัฒนาภาคเกษตรทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ด้วยการใช้ความสามารถในด้านเทคนิคการผลิต การบริหารจัดการ และด้านการตลาด มาส่งเสริมและช่วยพัฒนาคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมการทำสินค้าเกษตรสร้างรายได้เร็ว (Cash Crop) เพื่อเป็นรายได้เสริม ปัจจุบันมีการทำแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ที่ภาคเอกชนเข้าไปดำเนินการ 43 แปลง ครอบคลุม 30 จังหวัด และกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพิ่มเติมอีก 31 แปลง นอกจากนั้น ยังกำลังดำเนินการเพื่อปรับแก้ พ.ร.บ.สหกรณ์ให้เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับเกษตรกรต่อไป ดังนั้น การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ จะเป็น Key Driver ที่ทำให้ประเทศไทย หลุดพ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ และตอบโจทย์ประชาคมโลก เรื่องของการทำการเกษตรแบบยั่งยืน และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานของ คณะทำงานปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ ก็มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร โดยมีการทบทวนกฎหมาย ยกเลิก หรือปรับแก้กฎหมายที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งลดความยุ่งยากซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะยกเลิกกฎหมาย 5,000 ฉบับ และ ยกอันดับ Ease of Doing Business ให้อยู่ในระดับ Top 20 ทั้งนี้ในระยะเร่งด่วนจะมุ่งเน้นไปยัง 5 ประเด็น ได้แก่ ศุลกากร อาหารและยา คนเข้าเมือง EIA/EHIA และผังเมือง ซึ่งโครงการใดที่ได้มีการหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและได้ข้อสรุปตรงกันแล้ว จะได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป