“การพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นระบบการจัดการฐานข้อมูล สำหรับการยืนยันตัวตน เคลียริ่งธุรกรรม และบันทึกความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์”
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ขณะที่นโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศชัดเจนในการพัฒนาศักยภาพประเทศไทยไปสู่ความทันสมัย และเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้ขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง รวมถึงการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ดิจิทัลโดยตรง ทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สื่อสารดิจิทัล อุปกรณ์โทรคมนาคมดิจิทัล และการใช้ดิจิทัลรองรับการให้บริการของภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจบริการอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคสื่อสารและบันเทิง การใช้ดิจิทัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ รวมทั้งกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน โดยมี พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นแม่ทัพในขับเคลื่อน มุ่งสู่วิสัยทัศน์ ส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการทางด้านการสื่อสารแก่สังคม สำหรับการตอบสนองนโยบายของภาครัฐ ในการพัฒนาศักยภาพประเทศไทยไปสู่ความทันสมัย และเป็นไทยแลนด์ 4.0 สำนักงาน กสทช. ได้ขับเคลื่อนในหลายมิติ โดยเฉพาะการพัฒนา Internet of Thing (IOT) เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ตู้เย็น โทรทัศน์ และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยเครื่องมือต่างๆ จะสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ตในอนาคต ผู้บริโภคจะเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมสิ่งของต่างๆ ทั้งจากในบ้านและสำนักงานหรือจากที่ไหนก็ได้ เช่น การควบคุมอุณภูมิภายในบ้าน การเปิดปิดไฟ ไปจนถึงการสั่งให้เครื่องทำกาแฟ เริ่มต้มกาแฟ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องพัฒนาก่อนที่ IOT จะเป็นความจริงขึ้นมา เช่น ระบบตรวจจับต่าง ๆ (Sensors) รูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ และระบบที่ฝังตัวอยู่ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้องค์กรในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือหน่วยงานราชการสามารถนำขีดความสามารถของ Internet of Things มาช่วยในการบริหารจัดการสินทรัพย์ การคำนวณ หรือประมาณการ ปริมาณการทำงานและการพัฒนาสิ่งใหม่ โดยใช้ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกรวบรวมผ่าน Sensors Technology แล้วส่งผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มาเก็บไว้ในฐานข้อมูลกลาง ล่าสุดสำนักงาน กสทช. ได้จัดงานวันสื่อสารแห่งชาติประจำปี 2559 หรือ NET 2016 เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในรูปแบบการสัมมนาวิชาการ โดยเชิญ นายดอน แท็ปสก๊อตต์ (Mr.Don Tapscott) นักคิดระดับแนวหน้าของโลกด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมบรรยายในหัวข้อ “เศรษฐกิจดิจิทัล โอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย (Digital Economy Policy : Opportunity and Challenge for Thailand)” พร้อมทั้ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายดิจิทัลอีโคโนมีของประเทศไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด และประสบการณ์เพิ่มเติมในเรื่องนโยบายดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก เหตุผลที่สำนักงาน กสทช. เชิญนายดอนมาบรรยาย เพราะเป็นนักคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก โดยเป็นนักคิดที่ทรงอิทธิพลเป็นลำดับ 4 ของโลก จากการจัดอันดับ Thinker 50 Awards ในปี ค.ศ. 2015 และเป็นคนที่คิดคำว่า “Digital Economy” เป็นครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และได้เขียนหนังสือเรื่อง The Digital Economy เมื่อปี 2538 และเขียนเพิ่มเติมเป็นฉบับครบรอบ 20 ปี ในปี 2558 ซึ่งได้คาดการณ์รูปแบบเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่งานเขียนได้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีมาแล้ว แต่คำทำนายต่างๆ ที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของโลกซึ่งเกี่ยวพันกับไทยด้วยนั้นกลับเกิดขึ้นจริงแทบทั้งสิ้น  ดอน แท็ปสก๊อตต์ ( Don Tapscott ) นักคิดระดับแนวหน้าของโลกด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ขณะเดียวกัน นายดอน เป็นผู้นำทางความคิดชาวแคนนาคาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกด้านนวัตกรรมสื่อ และผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม ในปีนี้ นายดอน ได้เขียนหนังสือเล่มใหม่ ชื่อว่า “Blockchain Revolution : How the Technology Behind Bitcoin is Changing Money, Business, and the World” ซึ่งพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังมาแรงในโลกอนาคต และทั่วโลกกำลังตื่นตัว การพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นระบบการจัดการฐานข้อมูล สำหรับการยืนยันตัวตน เคลียริ่งธุรกรรม และบันทึกความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ เช่น สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างบิทคอยน์ ทำให้เกิดการซื้อสินค้าหรือบริการ ออนไลน์ได้โดยตรง สะดวก รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการทำธุรกรรมผ่านทางธนาคาร โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ศักยภาพของบล็อกเชนยังสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมการชำระราคา ส่งมอบหลักทรัพย์ และการชำระเงินข้ามแดนให้มีความรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน สำหรับการเตรียมความพร้อมในการ จัดงาน ITU Telecom World 2016 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ลงนามตกลงให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ITU Telecom World 2016 ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ย. 2559 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เพื่อบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกฝ่ายในการสร้างเวทีระดับโลก ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมไอซีทีรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าอุตสาหกรรมไอซีทีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ของหลายประเทศ บางประเทศใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามามีบทบาทในการประกอบธุรกิจภายในประเทศอย่างจริงจัง และใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถนำพาประเทศยกระดับขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับรูปแบบงานแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.การจัดนิทรรศการนานาชาติ 2.การประชุมวิชาการ 3.พิธีมอบรางวัล ITU Telecom World Awards ให้กับเอส เอ็มอี ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านไอซีที โดยประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมงานจะทำการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาและสามารถสร้างนวัตกรรมด้านไอซีที คาดว่าจะมีเข้าร่วมงาน 50,000 คน ในการวิจัยและพัฒนา สำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า ประชาชนชาวไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสื่อสารพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยตั้งเป้าว่าประชาชนไม่น้อยกว่า 95% ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์ส่วนบุคคล จัดให้มีบริการโทรศัพท์สาธารณะจำนวน 1 -2 เลขหมายต่อหมู่บ้านในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และไม่มีบริการ ประชาชนไม่น้อยกว่า 80 % ของทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไมน้อยกว่า 2 Mbps จัดให้มีศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตชุมชน / สถานศึกษา / รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล โดยมีความเร็วอินเตอร์เน็ตไม่น้อยกว่า 2 Mbps ในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และบริการ และจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ครัวเรือนในพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์แต่ยังขาดแคลนบริการจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ครัวเรือน เทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดการพัฒนาประเทศอีกด้วย