สัปดาห์วิจารณ์/W7009(คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก) ความทรงจำใต้เบื้องพระยุคลบาท (4) วาทินี ห้วยแสน [email protected] สำหรับสัปดาห์นี้ความทรงจำใต้เบื้องพระยุคลบาท ใน คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก จะพาทุกคนไปสัมผัสกับสถานที่ต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงผูกพันมานานนับสิบๆ ปี เมื่อครั้งประทับอยู่ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ความผูกพันในสวิสเซอร์แลนด์ จากพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงผูกพันกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้นมีอยู่หลายช่วงหลายตอน ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อครั้งอดีตก่อนที่พระองค์จะประสูติกาลนั้น สมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เสด็จประพาส และทรงงานเมื่อปี พ.ศ.2463 ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยได้ประทับอยู่ที่โรงแรมโบลิวาจ เมืองโลซาน ริมทะเลสาบเลมอง อีกทั้งภายหลังทั้งสองพระองค์ยังทรงเลือกโรงแรมแห่งนี้เป็นสถานที่ฮันนีมูน สถานที่ซึ่งมีความรักของทั้งสองพระองค์อยู่อย่างเต็มเปี่ยม ด้านหน้าโรงแรมโบลิวาจ ซึ่งอาจจะด้วยความสำคัญดังกล่าว และความผูกพันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงประทับอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นระยะเวลาอันยาวนานถึง 17 ปี จึงทำให้พระองค์ทรงผูกพันกับทะเลสาบเลมองแห่งนี้เป็นอย่างมาก ทั้งทรงหัดเล่นเรือใบ ทรงพระราชดำเนินพักผ่อนอิริยาบถในสวนสาธารณะที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง และทรงร่วมเรือกรรเชียง เพื่อทรงตกปลาในทะเลสาบอันกว้างใหญ่แห่งนี้พร้อมกันทั้งครอบครัว ดังนั้นแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม แต่ความรู้สึกของชาวไทยทุกคนยามที่นึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ผ่านทางพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ ก็ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะความซาบซึ้งที่คนไทยทุกหมู่เหล่ามอบให้กับพระองค์ล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่เปรียบไม่ได้นั้นเอง ตามหาจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าพระบรมฉายาลักษ์ณ์เก่าๆ หลายต่อหลายภาพที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์จะคุ้นชินต่อสายตาคนไทยเป็นอย่างดี แต่ที่น่าแปลกคงจะเป็นบรรยากาศรอบๆ ทะเลสาบเลมอง ที่เมืองโลซานในยามนี้ที่คณะเดินทางตามรอยเบื้องพระยุคลบาทซึ่งมีโอกาสได้ยลโฉม กลับไม่แตกต่างไปจากเดิมแม้น้อย แม้เวลาจะผ่านไปนานนับสิบๆ ปีแล้วก็ตาม ริมทะเลสาบเลมอง จากบริเวณด้านหน้าของโรงแรมโบลิวาจ เรื่อยมาตามถนนที่ตัดขนานไปกับริมทะเลสาบในเวลานี้ยังเงียบสงบ มีไม้ดอกปลูกประดับไว้อย่างสวยงาม ทั้งหงส์ขาว และเป็ดลอยคอว่ายเล่นอยู่ในน้ำอย่างสบายใจ ขณะที่บริเวณโดยรอบริมทะเลสาบเมื่อมองทอดยาวไปไกลก็จะเห็นทิวเขาอยู่เบื้องหลังทะเลสาบซึ่งห่างออกไปถูกปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปี โดยมีคนแล่นเรือใบรับแสงแดดบ้างประปราย เพราะอากาศเริ่มหนาว จึงทำให้มีคนเล่นในทะเลสาบค่อนข้างบางตา อย่างไรก็ตามยังมีอีกสถานที่หนึ่ง ที่ประชาชนคนไทยคุ้นตาเป็นอย่างมาก นั้นก็คือสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้บริเวณโรงแรมโบลิวาจ และพิพิธภัณฑ์โอลิมปิค สถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงทรงพระเยาว์ในสวนแห่งนี้ ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่พระองค์จะทรงผูกพันกับลิงสามตัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสวนสาธารณะดังกล่าว จนถูกนำมาเปรียบเปรยไว้ในพระราชดำรัสของพระองค์ที่ทรงประทานให้กับคนไทยในโอกาสต่างๆ ไว้อย่างน่าฟังว่า ลิงสามตัวที่ปิดหู ปิดตา ปิดปากในสวนนั้นเปรียบได้กับการละเว้นจากการฟัง การดู การพูดในสิ่งที่ไม่ดีนั้นเอง อีกทั้งจากการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นเวลาหลายๆ วันในเมืองโลซาน ทำให้เหล่าคณะรับรู้ถึงเส้นทางภายในเมืองแห่งนี้มากขึ้น ด้วยแต่ละวันจะเดินด้วยเท้าเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร เพื่อตามหาจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่อยู่ไม่ห่างไกลกันมากนัก และสามารถเดินทะลุจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งได้อย่างสะดวกสบาย ทะเลสาบเลมอง รวมไปถึงสถานที่สำคัญที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตัดสินพระทัยย้ายสถานที่ประทับจากแฟรตเลขที่ 16 ถนนทิสโซต์ มาประทับอยู่ที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา บ้านเลขที่ 51 Chamblandes dessusv ณ เมืองปุยยี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 เพื่อให้สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 8 ซึ่งในยามนั้นรัฐบาลไทยได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล(พระนามเดิม) เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสละราชสมบัติ กลายเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เหล่าคณะเดินทางตามรอยเบื้องพระยลบาทในครั้งนี้จดจำไม่มีวันลืม แม้ว่าในปัจจุบันนี้พระตำหนักวิลล่าวัฒนาจะถูกรื้อทิ้งไปแล้วและถูกสร้างเป็นอพาร์ตเม้นท์ สูง 4 ชั้น มีอยู่ด้วยกัน 13 ห้องขึ้นมาแทนที่ โดยรอบๆ อาคารได้ถูกตกแต่งอย่างสวยงาม มีโรงจอดรถ สภาพแวดล้อมของชุมชนส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังเดี่ยวดั้งเดิม คล้ายๆ กับบ้านพักตากอากาศริมทะเล ด้านข้างพระตำหนักวิลล่า ซึ่งอาคารหลังใหม่ดังกล่าวนี้ ด้านหน้าจะติดถนน ส่วนบริเวณซอยด้านหลังนั้นจะเป็นเนินเขาสู่ที่ราบทะเลสาบเลมอง ณ สถานที่แห่งนี้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงประทับอยู่เป็นเวลานับสิบๆ ปี แต่สภาพปัจจุบันกลับไม่ปรากฏร่องรอยของครอบครัวราชวงศ์ไทยทรงเคยประทับอยู่แต่อย่างใด เบ้าหลอมพระราชาของคนทั้งโลก ทว่าถ้าย้อนไปดูเมื่อครั้งอดีตนั้นพระตำหนักดังกล่าวมีความสำคัญต่อองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงใช้ชีวิตช่วงทรงพระเยาว์ จนเจริญพระชันษากว่าสิบปีภายในพระตำหนักแห่งนี้ ทั้งการเริ่มต้นศึกษาในโรงเรียนใหม่ที่พระบรมราชชนนีได้ทรงเลือกให้ใกล้ๆ พระตำหนัก หรือแม้แต่ทรงมีความรักก็ใช้พระตำหนักนี้รองรับพระคู่หมั้นในเวลานั้น และอื่นๆ อีกมากมาย พระตำหนักวิลล่า ในครั้งนั้นพระบรมราชชนนีได้จัดส่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 8 ไปศึกษาที่โรงเรียน Ecole Nouvelle de la Suisse Romonde,Cally-sur Lausanne ซึ่งห่างจากที่ตำหนักวิลล่าวัฒนาเพียงเดินเท้าประมาณ 10 นาทีเท่านั้น โดยโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนประถมเล็กๆ มีเฉพาะนักเรียนชาย ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1906 ซึ่งในปี 2006 นี้มีอายุครบ 100 ปีพอดี เป็นโรงเรียนนานาชาติที่มีศิษย์เก่าซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ของเมืองไทยเราด้วยเช่นกัน ในวันที่คณะของเราไปเยี่ยมชมโรงเรียนแห่งนี้แม้ว่าจะไม่ได้เข้าชมด้านใน เนื่องจากโรงเรียนปิดทำการ แต่ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ซึมซับกับบรรยากาศภายนอกอาคารเรียน ซึ่งยังคงสภาพเดิมๆ และยังเปิดการเรียนการสอนมาโดยตลอด โดยอาคารหลังใหญ่ที่เห็นอยู่เบื้องหน้าจะเป็นอาคารเรียนหลังแรกที่ในหลวงทั้งสองพระองค์ของเมืองไทยทรงศึกษา ซึ่งตัวอาคารมีลักษณะเป็นปีกกว้างรูปทรงสวยงามทำให้คณะเดินทางนึกย้อนถึงวันที่ในหลวงของเราทรงประทับอยู่ห้องใต้หลังคาสมัยเป็นนักเรียนประจำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ชื่นชอบเป็นอย่างมาก ขณะที่อีกหลังหนึ่งขนาดย่อมลงมาอยู่เยื้องๆ กันนั้นได้ถูกจัดเป็นหอพักนักเรียน ส่วนบริเวณโดยรอบจะมีมีทั้งที่จอดรถ สนามบาสเกตบอล และสวนผัก โดยเฉพาะทางเข้าของโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่อยู่อาศัย ถนนจึงค่อนข้างซับซ้อน และค้นหากันยากนิดหนึ่งถ้าไม่คุ้นเคยกับสถานที่ดังกล่าวเพียงพอ โรงเรียน Ecole Nouvelle de สำหรับคำว่า Nouvelle เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ใหม่ ซึ่งตรงกับการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนี้ที่นำระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ในยุคนั้นมาใช้ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงศึกษาสายศิลป์ เรียนภาษาละติน และภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาเยอรมันนั้นเป็นภาษาบังคับที่จะต้องพูดเป็นทุกคน อีกทั้งยังมีวิชาพิเศษ เช่นทำสวน และช่างไม้อีกด้วย ดังนั้นอาจจะด้วยมุมมองอันกว้างไกลของพระบรมราชชนนี ที่ทรงเลือกสถานที่ศึกษา และสถานที่ประทับดังกล่าวนี้เอง จึงน่าจะกลายเป็นเบ้าหลอมให้องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย และเป็นพระราชาของคนทั้งโลก ที่ทุกคนให้ความเคารพ และเทิดทูนอยู่เหนือเกล้าอย่างไม่มีสิ่งใดมาเสมอเหมือน สำหรับสัปดาห์หน้าความทรงจำใต้เบื้องพระยุคลบาท ใน คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก จะพาทุกคนไปสัมผัสกับสถานที่ท่องเที่ยวง ที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิต การพักผ่อนแบบเรียบง่าย และประหยัด เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงติดตามพระบรมราชชนนีไปยังภูเขาหลายๆ แห่งใน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ช่วงอากาศดีๆ ซึ่งจะเป็นที่ใดบ้างนั้น รอติดตามกันได้