สัปดาห์วิจารณ์/W7011(คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก) ความทรงจำใต้เบื้องพระยุคลบาท (จบ) วาทินี ห้วยแสน [email protected] สำหรับสัปดาห์นี้ความทรงจำใต้เบื้องพระยุคลบาท ใน คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก มาถึงตอนสุดท้าย ณ เมืองเบิร์น ศูนย์กลางของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สถานที่ซึ่งมีสถาปัตยกรรมอันเป็นเลิศ รวมถึงเป็นแหล่งรวมชาวเมือง ที่มีหลากหลายสีผิว แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเรียบง่าย และสงบสุข สถาปัตยกรรมเป็นเลิศ จากเมืองโลซานน์ในช่วงบ่ายเดินทางต่อไปยัง เมืองเบิร์น เมืองหลวงของสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ๆ เป็นการเดินทางแบบสบายๆ ชิล ชิล เพราะใช้เวลาไม่นานมาก และบางคนเพลิดเพลินกับความงามของทิวทัศน์สองข้างทางที่สวยงาม ก็ยิ่งทำให้ระยะทางย่นย่อ จนไม่ได้งีบหลับแม้แต่วินาทีเดียว ขณะที่บางช่วงของเส้นทางแม้จะผ่านแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก แต่ด้วยสถาปัตยกรรมทางแถบยุโรปของเขาเป็นเลิศ จึงทำให้หลายๆ คนตื่นเต้นกับสะพานข้ามแม่น้ำที่ถูกก่อสร้างขึ้นมาอย่างลงตัวอยู่ตลอดเวลา จนเมื่อเห็นป้ายทะเบียนรถที่ขึ้นต้นด้วย BE แล้วตามด้วยตัวเลข วิ่งขวักไขว่ไปมาถึงได้รู้ว่า เข้าเขตเมืองเบิร์นเป็นที่เรียบร้อย สะพานข้ามแม่น้ำเมืองเบิร์น อาจจะด้วยราคาน้ำมันของที่นี่อยู่ที่ลิตรละประมาณ 60-70 บาทที่ปั๊มเชลล์ ณ เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงตามราคาน้ำมันโลก ถึงกระนั้นรถขนาดเล็กฝั่งยุโรป ดูจะเป็นที่นิยมมากกว่ารถใหญ่ ส่วนรถญี่ปุ่นนั้นเห็นอยู่บางตา ดังนั้นในช่วงที่เดินอยู่ในเมืองเบิร์น จึงอดไม่ได้ที่จะแอบย่องๆ ไปถ่ายรูปคู่กับรถยุโรปดีไซน์เก๋ๆ สไตล์ล้ำสมัยในแบบที่ยังไม่มีในเมืองไทยเอาไว้คนละหลายๆ รูป ทิวทัศน์นอกเมืองเบิร์น	 สำหรับ เมืองเบิร์น แห่งนี้ มีสถานะเดียวกับกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่สวยแบบเมืองเก่า สไตล์สวิสเซอร์แลนด์ มีแม่น้ำผ่านเขตเมือง อากาศชุ่มฉ่ำ แต่น่าเสียดายว่า วันที่ไปถึง น่าจะเป็นวันหยุดราชการของชาวสวิส จึงทำให้ร้านรวงต่าง ๆ ในเมืองนี้ปิดร้านกันแทบเกลี้ยงเมือง รวมไปถึง โคอ๊อป ซุปเปอร์มาร์เก็ตสำหรับผู้มีรายได้พอประมาณ ซึ่งอยู่ติดกับโรงแรม งานนี้เลยเดินชมเมืองกันแบบกร่อย เพราะอดเดินช๊อปปิ้งนั้นเอง เมืองโบราณเก่าแก่ อีกทั้ง เบิร์น ยังถูกยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลก เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ประมาณ 800 ปี ดังนั้นสิ่งที่ไม่ควรพลาดของการมาถึงที่นี่ ก็คือ การเดินช๊อปปิ้งตามร้านค้าในตึกเก่าแก่กว่า 150 ร้านในเขตเมืองเก่า ซึ่งแทบทุกร้านจะอยู่ในแนวอาคารเดียวกันมีเพียงหลังคาที่คลุมยาวทะลุถึงกันตลอดทางเดินยาวรอบ ๆ ประมาณ 6 กิโลเมตร ก่อนจะเดินไปฟังเสียงนาฬิกาตีบอกเวลาที่หอนาฬิกาเก่าแก่ประจำเมือง เป็นโบส์ถที่สูงที่สุดในสวิสเซอร์แลนด์ ตึกเก่าในเมืองเบิร์น ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าแปลกนัก ถ้าเมืองนี้จะมีผู้นิยมถ่ายภาพตึกเก่าๆ มากที่สุดอีกเมืองหนึ่งของโลก แต่ที่แปลกน่าจะเป็นชาวเมืองที่นี้ซึ่งมีหลายสีผิว ทั้งพวกตะวันออกกลาง และพวกผิวดำ ที่มีไมตรีจิต สังเกตได้จากช่วงที่หลายๆ คนยืนถ่ายรูปกับแบล็คกราวพื้นหลังของเมืองเบิร์นอันสวยงาม จู่ ๆ ก็มีฝรั่งผิวดำเข้ามาขอถ่ายด้วย และทุกคนรู้ในทันที ว่า คนๆ นี้ไม่ใช่ชาวสวิสแท้ๆ อย่างแน่นอน เพราะคนที่นี่เขาจะไม่กล้ารบกวนเวลาส่วนตัวของคนอื่น แม้แต่รอยยิ้มก็ยังเห็นน้อยมาก อาคารที่ทำการเมืองเบิร์น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นด้วยค่านิยมของชาวสวิสที่ชอบอยู่อย่างสงบ ใช้จ่ายอย่างประหยัดมัธยัสถ์ ใช้ชีวิตในแบบที่สร้างผล กระทบให้กับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ไม่รบกวนผู้อื่น รักษาสภาพแวดล้อมให้สวยงาม ทั้งสร้างหัตถกรรมภายในครัวเรือน และนิสัยประจำชาติที่เลื่องลือที่สุด นั้นก็คือ ทำงานแบบถวายชีวิต เรียกได้ว่า มีความซื่อสัตย์ในหน้าที่การงาน มีความอดทนสูง จึงทำให้ชาวสวิสแท้ๆ มีบุคลิกดังที่กล่าวมาข้างต้น จนมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เจ้าชายน้อยองค์เล็กๆ ขณะที่ช่วงค่ำคืนในวันเดียวกันทุกคนมีโอกาสพบเจอกับ ประดาป พิบูลสงคราม เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในเวลานั้น ซึ่งสถานทูตจตั้งอยู่ที่เมืองเบิร์น ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ในสวิสเซอร์แลนด์มีคนไทยประมาณ 15,000 คน และมีครอบครัวชาวสวิสมากมายที่รับเด็กกำพร้าชาวไทยมาเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมกันนี้ยังมีคนสวิสมากกว่า 140,000 คนจากประชากรทั่วประเทศ 7 ล้านคนเคยไปเที่ยวเมืองไทย และกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของ 140,000 คนได้ใช้เวลาในช่วงพักผ่อนไปเที่ยวเมืองไทยเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังเป็นที่น่ายินดีอีกว่า ไม่เคยมีชาวสวิสคนไหนพูดถึงคนไทยในทางที่ไม่ดีเลย ทั้งนี้เนื่องจากว่า พวกเขารู้จักเมืองไทยเป็นอย่างดีจากเหตุการณ์สึนามิ โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นชาวสวิสได้ประจักษ์ถึงความมีน้ำใจจากคนไทยทั้งประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ชาวสวิสส่วนใหญ่อยากรู้จักประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ทั้งนี้ท่านทูตไทยเมื่อปี 2549 ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ในโอกาสการเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในฐานะที่พระองค์ท่านเคยประทับอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ได้กลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้ชาวสวิสรู้จักเมืองไทยมากขึ้น โดยรัฐบาลไทย และชาวไทยได้ร่วมกันสร้างศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ ที่เมืองโลซานน์ จิตรกรรมฝาผนังที่วัดไทยในสวิสเซอร์แลนด์ ทำแสตมป์โฟลเดอร์ที่ระลึกความสัมพันธ์ระหว่างเมืองไทย กับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และได้ร่วมกับร้านอาหารไทยที่มีประมาณ 70 แห่งเปิดขายอาหารเมนูที่พระองค์ทรงโปรด รวมทั้งกิจกรรมย่อยๆ อีกมากมาย ทว่าในช่วงสนทนา สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตื่นเต้น และมีความสุขเป็นอย่างมาก เมื่อท่านทูต นำภาพสำเนาบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯสมัยเยาว์วัยที่เชื่อกันว่าไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ซึ่งมีอยู่หลายภาพ แต่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้เพียงบางภาพนำมาให้ทุกคนได้ชื่นชม โดยพระบรมฉายาลักษณ์ชุดดังกล่าว เป็นของคนในตระกูล Stoffel ถ่ายไว้เมื่อ 72 ปีก่อน ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จไปทรงสกีที่ภูเขาอโรซ่า ใน รัฐกรีซองส์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ บนยอดเขาอโรซ่า รัฐกรีซองส์ วันนั้นระหว่างที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปทรงสกี ช่างประจวบเหมาะเหลือเกิน ว่า เป็นวันที่คนในตระกูล Stoffel ได้ไปเล่นสกี ณ ที่แห่งนั้นเช่นกัน ซึ่งพวกเขารู้ในทันที ว่า ทั้งสองพระองค์มิได้เป็นเพียงเจ้าชายองค์เล็กๆ ที่ทรงพระเยาว์อยู่เท่านั้น หากแต่เป็น "The King of Siam หรือพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย ดังนั้นพวกเขาจึงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ไว้หลายม้วน โดยในวันนั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ฉลองพระองค์หมายเลข 6 และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ฉลองพระองค์หมายเลข 3 เมื่อผู้ถ่ายภาพรู้ว่าเขาถ่ายภาพ The King of Siam ไว้ก็เลยถ่ายรูปเก็บไว้ทั้งครอบครัว มีฟิล์มเป็นม้วนๆ ซึ่งเจ้าชายองค์เล็กๆที่เขาได้ถ่ายภาพไว้นั้น เวลาต่อมากลายเป็นพระราชาที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน ก่อนที่ครอบครัวนี้ได้เดินทางมาเมืองไทย เพื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายฟิล์มต้นฉบับทั้งหมด โดยที่ลูกหลานของเขาเองเก็บไว้แต่เพียงสำเนาเท่านั้น ดังนั้นจากอดีต จนถึงปัจจุบัน ในความทรงจำของชาวสวิสเซอร์แลนด์ ที่มีต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระองค์ไม่เพียงแต่เป็นพระราชาที่ยิ่งใหญ่บนผืนแผ่นดินไทยเท่านั้น แต่สำหรับชาวสวิสเซอร์แลนด์เองแล้วนั้น พระองค์ก็มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน