ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
คนเราเกิดมาไม่สามารถมีได้ทุกอย่าง แต่ถ้าฝันเอาก็อาจได้ทุกอย่าง แม้จะไม่เป็นจริง
ครอบครัวของอมิตตาเคยร่ำรวยมาก พ่อทำงานเป็นผู้บริหารบริษัทไฟแนนซ์และแม่ทำงานเป็นผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ตอนที่อมิตตาเกิดใน พ.ศ. 2532 ธุรกิจทั้งสองนี้บูมมาก พวกไฟแนนซ์ก็กู้ง่ายได้เยอะ และพวกบ้านกับที่ดินก็ซื้อง่ายขายคล่อง สมกับคำพังเพยที่ว่า “อยากรวยให้เป็นนายหน้า อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน” เพราะทั้งพ่อและแม่ของอมิตตาฟันกำไรจากค่านายหน้าอย่างเดียวจากธุรกิจที่คนทั้งสองทำคนละหลายล้านบาทต่อปี รวมถึงได้สะสมบ้านและที่ดินกับทองคำและเงินดอลลาร์ไว้จำนวนหนึ่ง เรียกได้ว่าอมิตตานั้นเกิดมาบนกองเงินกองทองโดยแท้
พอถึงช่วงปี 2536 - 2537 การกู้ไฟแนนซ์เริ่มจุกจิก กู้ยากมากขึ้น การซื้อขายบ้านและที่ดินก็ลำบาก กำลังซื้อหด และคนที่ซื้อไปแล้วก็เริ่มค้างชำระ ลูกค้าหลายคนต้องทิ้งเพราะผ่อนต่อไม่ไหว บางคนก็ถูกยึดทรัพย์คืนธนาคาร ทั้ง ๆ ที่ธนาคารก็ไม่อยากรับคืนเพราะเป็นภาระหนี้เสีย มีข่าวว่าเจ้าของไฟแนนซ์บางแห่งขอเลิกกิจการ ที่สุดรัฐบาลก็ต้องเข้ามาช่วย ด้วยการทุ่มเงินมหาศาลอัดฉีดเข้าไปในระบบ แต่ก็เอาไม่อยู่ถึงขั้นต้องปิดกิจการไฟแนนซ์ต่าง ๆ ถึง 56 แห่ง และก็เหมือนเวรซ้ำกรรมซัด “วิบัติเป็น” เพราะมีการโจมตีค่าเงินบาทจากนอกประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทตกต่ำ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2540 รัฐบาลสมัยนั้นก็ประกาศลดค่าเงินบาท ใครที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศมามาก หรือซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ก็เจ๊งกันระเนระนาด ลุกลามไปจนถึงประเทศอื่น ๆ ทั่วเอเชีย เรียกกันว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เพราะมันเริ่มต้นจากประเทศไทย ที่มีอาหารอร่อยคือ “ต้มยำกุ้ง” โด่งดังไปในนานาชาติ
ตอนนั้นอมิตตาอายุเพียง 8 ขวบ พ่อขายรถหรูกว่าสิบคันที่สะสมไว้กับบ้านและที่ดินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อประวิงเจ้าหนี้ แล้วฉวยโอกาสตอนที่รัฐบาลประกาศปิดไฟแนนซ์ “ชักดาบ” ไปอีกส่วนหนึ่ง ก็ยังเอาตัวไม่รอด ที่สุดก็ต้องหนีไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็ต้องใช้เงินจ่ายไปจำนวนไม่น้อย ยังดีที่แม่ของเธอรู้จัก “เก็บออม” ไม่ได้เอาเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ไปฝากธนาคารไว้ทั้งหมด รวมทั้งที่เหมือนจะเป็น “นกรู้” ที่หย่ากับพ่อไว้ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก ทำให้ทรัพย์สินของแม่กับพ่อไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันในทางกฎหมาย แม่จึงพอมีเงินที่จะ “ประทังชีวิต” และเลี้ยงดูครอบครัวมาได้หลายปี เริ่มต้นก็เอาชื่อญาติของแม่มาใส่เป็นเจ้าของบ้านที่แม่ซื้อไว้ ให้ดูเหมือนว่าแม่ไม่ใช่เจ้าของบ้านหลังนั้น แล้วแม่ก็ไปขออยู่อาศัยเพื่อให้เจ้าหนี้เห็นใจไม่มารบกวน (ความจริงแม่ได้จ่ายค่าเช่าเล็ก ๆ น้อยแก่ญาติคนนั้น) จากนั้นธุรกิจทั้งหลายที่เป็นชื่อแม่ก็ทำทีว่าชำระบัญชีและล้มละลายทั้งหมด แต่ไม่ได้ชำระทรัพย์สินและเคลียร์หนี้ให้กับใคร คือยังมีเงินทองของกิจการเหล่านั้นเหลืออยู่พอสมควร แบบที่เรียกว่า “ล้มบนฟูก” สุดท้ายคือเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเสียใหม่ เพื่อไม่ให้ข้อมูลทางทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนธุรกิจไปเชื่อมโยงกันได้ แม้แต่ชื่อของลูกสาวและลูกชาย คืออมิตตาและน้องชายก็เปลี่ยนไปด้วย รวมถึงนามสกุลที่ของอมิตตาและน้องชายก็เปลี่ยนให้ต่างกัน
แม่เป็นผู้หญิงที่ “แกร่งกล้า” เอามาก ๆ แม่ไม่ใช่คนที่จะโกหกใคร ๆ ได้เก่ง แต่ก็กล้าที่จะรับหน้ากับเจ้าหนี้ได้อย่างทรหด เจ้าหนี้ของพ่อจำนวนมากจะมาเอาเรื่องแม่ แม่ก็ต่อสู้อย่างอนาถา(ภาษากฎหมายคือต่อสู้ด้วยตัวเองตามลำพังไม่มีทนาย)อ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อมีการฟ้องร้องอะไรมา แม่ก็ให้เอาหลักฐานต่าง ๆ มาดูได้เลยว่าแม่ไม่ได้เกี่ยวข้องและรับรู้อะไรด้วย ซึ่งเจ้าหนี้ก็ทำอะไรแม่ไม่ได้ นานเข้าเจ้าหนี้ก็เบื่อและเลิกติดตามไปเอง บางคนก็หลงกลแม่ที่บีบน้ำตาและมีลูกสองคนอยู่ในอ้อมกอด ทำให้ใจอ่อนเลิกราไปเลยก็มี แต่ที่ถือเป็นสุดยอดของแม่คือบ้านที่แม่ทำทีว่าอาศัยญาติอยู่นั้นมีสองหลังและอยู่คนละที่กัน เวลาที่เจ้าหนี้มาก็จะให้ไปหาที่บ้านหลังเล็กในซอยโทรม ๆ แต่ลับหลังแม่ก็พาลูก ๆ มาอยู่ในหลังที่ใหญ่กว่าในบ้านจัดสรร แบบว่าต้องแกล้งจนและซอมซ่ออยู่หลายปี จนถึงปี 2547 รัฐบาลก็ตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมาซื้อหนี้เสียของไฟแนนซ์เน่า ๆ ทั้งหลาย ทำให้เจ้าหนี้ของไฟแนนซ์เลิกรังควานลูกหนี้ เพราะเปลี่ยนไปเรียกร้องเอาจากรัฐบาลที่เข้ามาดำเนินนโยบาย “ชำระล้าง” หนี้สินทั้งหลายในตอนนั้น แม่ก็ “โล่งอก” ไปได้เยอะ และมีเวลาไปทำธุรกิจนายหน้าอย่างที่แม่ถนัดตามเดิม ก็ทำให้พอมีรายได้มากขึ้นและก็ชีวิตที่เป็นปกติได้ตามเดิม
พอทุกอย่างเป็นปกติในอีก 2 - 3 ปีต่อมา แม่ก็ให้คนไปสืบตามหาพ่อ จึงทราบว่าพ่อได้ป่วยหนักและเสียชีวิตไปได้ไม่นาน แม่ให้เอากระดูกมาทำบุญที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นอมิตตาเพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จำได้ว่าเป็นงานที่เศร้ามาก เพราะได้เห็นแม่ที่เธอเห็นว่าเข้มแข็งสุด ๆ มาเป็นสิบ ๆ ปี นั่งร้องไห้อยู่เป็นวัน ๆ และไม่ค่อยพูดจากับใครต่อจากนั้น ต่างจากก่อนหน้าที่จะรู้ว่าพ่อตาย แม่จะพูดไม่หยุด ทั้งต่อสู้กับเจ้าหนี้ คุยธุรกิจ และสั่งสอนอบรมลูกทั้งสอง หรือถ้าว่างก็จะบ่นอะไรต่อมิอะไรไม่เคยหยุด จนอมิตตายังเคยนึกไปว่า อยากหาแม่ที่พูดน้อยกว่านี้ แต่พอแม่ไม่พูดก็ทำให้เธอรู้ว่า หัวใจของคนที่รักกันมากและต่อสู้มาด้วยกันนั้น มีอิทธิพลต่อชีวิตของกันและกันเพียงไร
ความเงียบของแม่ทำให้บรรยากาศในบ้านเปลี่ยนไป แม้จะได้กลับมาอยู่บ้านหลังใหญ่ดังเดิม แต่ก็ขาดชีวิตชีวา แต่นั่นก็ทำให้อมิตตาต้องเข้มแข็งขึ้น ต้องแสดงบทบาทผู้นำขึ้นมาแทนแม่ โดยเฉพาะการดูแลน้องชายที่กำลังเป็นวัยรุ่นเต็มตัว ทำให้บ้านวุ่นวายระดับหนึ่ง เนื่องจากน้องชายชอบเอาเพื่อน ๆ มา “เล่น” ที่บ้านบ่อย ๆ ทั้งเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ทั้งซ้อมดนตรี เสียงอึกทึกไปทั้งบ้าน บางทีก็เตะบอลจนสนามหญ้าและสวนเล็ก ๆ ข้างบ้านเละเทะ บางทีก็มีของในบ้านหาย เธอต้องเอาของมีค่าต่าง ๆ เก็บให้มิดชิด แม่เธอไปอยู่เรือนหลังเล็กข้างหลังบ้าน มีแม่บ้านดูแลอยู่ด้วยใกล้ ๆ เพราะแม่มีอาการเหมือนจะเป็นโรคซึมเศร้า จึงต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้บ้านหลังใหญ่มีเธอกับน้องชายเท่านั้นอยู่อาศัย ซึ่งต่อมาก็เกิดเหตุร้าย เพราะน้องชายใช้เป็นที่มา “อั๊พยา” กับเพื่อนๆ ที่เธอก็กังวลว่าอาจจะนำความเดือดร้อนมาถึงเธอและแม่ในสักวัน
ความจริงชีวิตของเธอกับน้องชายก็เกิดจากการ “แต่งปั้น” ของแม่โดยแท้ แม่คงจะรักลูกมากมายมหาศาล ไม่เคยที่จะให้ลูกผิดหวัง อยากได้อะไรต้องได้ แม้แต่ในเวลาที่ตกทุกข์ได้ยาก คอยต่อสู้หลบหลีกกับเจ้าหนี้อยู่ทุกวันเกือบสิบปี แม่ก็ไม่เคยแสดงอาการอะไรให้ลูกได้เห็นว่าแม่กำลังมีทุกข์ ยิ่งน้องชายนั้นยังเป็นเด็กมากและเอาแต่ใจมาก แม่ก็พยายามหาสิ่งของต่าง ๆ มาปรนเปรอ แม้แต่รถรับส่งไปโรงเรียน แม่ก็เจียดเงินหารถเก๋งเช่าเป็นรายเทอมมารับส่งลูกทั้งสองทุกวัน รวมถึงอาหารการกินก็ไม่เคยอดอยากปากแห้ง และแม่ต้องพาไปกินตามห้างอยู่เป็นประจำ ข้าวของเครื่องใช้ก็มีแต่ของดี ๆ ไม่ให้น้อยหน้าใคร ๆ แบบที่วัยรุ่นเรียกกันว่า “ของมันต้องมี” ซึ่งนั่นก็คือการสร้าง “โลกแห่งความฝัน” จนที่สุดลูกทั้งสองก็หลุดออกมาสู่โลกของความจริงไม่ได้
เธอไม่เคยโทษแม่ ทั้งยังขอบคุณแม่อยู่เสมอ ว่าทำให้ชีวิตเธอ “มีสุขล้นเหลือ” มากกว่าทุก ๆ คนอยู่ทุกวัน