สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระกริ่ง นิยมทำเป็นรูป "พระไภษัชคุรุ" ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในคติพุทธมหายานที่เผยแผ่ใน จีน ทิเบต ญี่ปุ่น เวียดนาม ตอนใต้ของสยามประเทศ และเขมรสมัยเมืองพระนครขึ้นไป ปรากฏความในพระสูตร "พระพุทธไภษัชคุรุไวฑูรย์ประภาราชามูลปณิธานสูตร" กล่าวถึงการอุบัติของพระองค์ทางทิศตะวันออก โดยทรงตั้งพระราชปณิธานเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกไว้ว่า เมื่อใดที่พระองค์บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ให้ปวงสัตว์โลกทั้งหลาย มีร่างกายงดงามสมบูรณ์เหมือนพระองค์, ให้พ้นจากอบาย, ให้พ้นความยากจน, ให้พ้นจากมิจฉาทิฐิ, ให้พ้นจากศีลวิบัติ, ให้พ้นจากความเขลา, ให้พ้นจากความเจ็บป่วย, ให้อิสตรีที่เบื่อหน่ายเพศของตนกลับเพศเป็นบุรุษได้, ให้พ้นจากบ่วงแห่งมาร, ให้พ้นจากอาญาแผ่นดิน พ้นจากการถูกข่มเหงดูหมิ่นเหยียดหยาม, ให้พ้นจากความหิวกระหาย และให้มีพัสตราภรณ์อันงดงามประดับกาย ส่วน พระชัยวัฒน์ เป็นพระพุทธปฏิมาขนาดเล็ก แต่เดิมนิยมทำเป็นพระพุทธรูปบูชาที่เรียกกันว่า "พระชัยหลังช้าง" ไว้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างในการสงครามหรือเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อชัยชนะและความเป็นสิริมงคลวัฒนาสถาพร ต่อมาค่อยย่อส่วนเป็นพระเครื่องขนาดเล็กคู่กับพระกริ่งเพื่ออาราธนาติดตัวเดิมเขียนว่า "พระไชย" ต่อมาค่อยเปลี่ยนเป็น "พระชัย" ภายหลัง สำหรับการบูชานั้น สืบทอดตามคติมหายานคือ การบรรจุเม็ดกริ่งในองค์พระเพื่อเขย่าให้มีเสียงดังกังวานเพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งปรากฏความนิยมในสยามประเทศทั้ง “พระกริ่งนอก” ซึ่งทำจากนอกประเทศ และ “พระกริ่งใน” ซึ่งสร้างขึ้นในประเทศ
พระกริ่งและพระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตร ปี พ.ศ. 2530 วัดตรีทศเทพวรวิหาร เป็นพุทธปฏิมาที่สร้างขึ้นตามคติที่สืบทอดมาแต่โบราณ ในรูปพระไภษัชคุรุพุทธเจ้าคราวบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย เหนือฐานผ้าทิพย์ บนบัลลังก์บัวเล็บช้างคว่ำและหงาย ด้านหน้าเป็นบัวคว่ำ 7 กลีบ บัวหงาย 7 กลีบ ด้านหลังเป็นบัวคว่ำ 2 กลีบ บัวหงาย 2 กลีบ รวมเป็น 9 พระหัตถ์ซ้ายทรงครอบน้ำมนต์หรือวชิระ สร้างขึ้นจากรูปแบบของพระกริ่งวัดตรีทศเทพ ปี พ.ศ. 2492 ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ประทานให้จัดสร้างในคราวผูกพันธสีมาวัดตรีทศเทพ และได้ช่างขึ้นหุ่นเทียนฝีมือเยี่ยมเรียกกันว่า "ช่างมะลิ" ปรับตกแต่งให้มีพุทธเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้ง องค์พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ โดยองค์พระกริ่งมีขนาดฐานกว้างประมาณ 1.9 ซม. สูง 3.3 ซม. ส่วนองค์พระชัยวัฒน์ฐานกว้างประมาณ 1 ซม. สูง 1.8 ซม. เมื่อเสร็จพระราชพิธีเททองได้ทำการตกแต่งในวัดตรีทศเทพจนสำเร็จ มิได้ให้ช่างนำกลับไปตกแต่งแต่อย่างใด
การจัดสร้างในครั้งนั้น สร้างขึ้นอย่างละ 999 องค์ โดยพระเทพวัชรธรรมาภรณ์ (สุรพงส์ ฐานวรเถร) เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเททองหล่อองค์พระประธานพระพุทธนวราชบพิตร และพระกริ่ง พระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตร และทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี ณ วัดตรีทศเทพวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในวันพุธที่ 19 สิงหาคม 2530 เวลา 17.29 น. โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จในการพิธีด้วย
การที่พระกริ่งและพระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตร นำรูปแบบมาจากพระกริ่งที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ได้ประทานให้จัดสร้างคราวผูกพันธสีมาวัดตรีทศเทพ ก็เนื่องด้วย องค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงวัดตรีทศเทพมาโดยตลอด เนื่องจากทรงสืบสายราชสกุลนพวงศ์ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ (พระองค์เจ้านภวงศ์) หนึ่งในผู้สร้างวัด และองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติอีกประการหนึ่ง นอกจากนี้ พระเทพวัชรธรรมาภรณ์ (สุรพงส์ ฐานวรเถร) เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพนั้น ได้บรรพชาและอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งพระเทพวัชรธรรมาภรณ์ได้เป็นพระอุปัฏฐากใกล้ชิดในสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ตลอดมาจนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ สิ้นพระชนม์ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เมื่อมีดำริจะจัดสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ จึงมีการนำต้นแบบจากพระกริ่งที่องค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ประทานมาปรับแต่ง แล้วนำตำรับการสร้างพระกริ่งสายวัดบวรนิเวศวิหารที่ขึ้นชื่อลือเลื่องมาเป็นหลักในการจัดสร้าง
วัตถุมงคลที่นำมาใช้ในการจัดสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ ในครั้งนั้น พระเทพวัชรธรรมาภรณ์ในฐานะที่ได้ศึกษาและปฏิบัติในสำนักวัดบวรฯ มาโดยตลอด ได้นำแผ่นทอง เงิน นาก ตลอดจนโลหะมงคลต่างๆ เข้าพิธีปลุกเสก และขอให้พระเกจิคณาจารย์ต่างๆ ได้ลงอักขระเลขยันต์หลายวาระ เนื่องจากท่านได้รับนิมนต์นั่งปรกอธิษฐานจิตอยู่เป็นนิจ นอกจากนี้ วัตถุมงคลหลักที่นำมาจัดสร้างยังประกอบไปด้วย โลหะมงคลที่เหลือจากการเททองหล่อองค์พระประธานพระพุทธนวราชบพิตร, ช่อชนวนและโลหะที่เหลือจากการสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ วัดบวรนิเวศวิหาร, ช่อชนวนและโลหะที่เหลือจากการสร้างพระกริ่งปวเรศ ปี พ.ศ.2530, ช่อชนวนและโลหะที่เหลือจากการสร้างพระกริ่ง ภปร. 50 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2527, โลหะมงคลอื่นๆ ที่ พระเทพวัชรธรรมาภรณ์ได้รับพระราชทาน ได้รับการประทาน และได้เสาะแสวงหา
พระกริ่งและพระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตร ปี พ.ศ.2530 จัดเป็นพระกริ่งที่มีพุทธลักษณะงดงามสมบูรณ์ตามตำรับโบราณเป็นที่ยิ่ง เนื้อของพระกริ่งและพระชัยวัฒน์จะเป็นเนื้อเดียวกันและมีเนื้อเดียว ตำราโบราณเรียก เนื้อทองลำอู่ ซึ่งหมายถึงโลหะผสมที่ใส่ทองคำลงไปด้วยแต่กระแสจะออกเป็นสองชนิด ชนิดแรกเป็นกระแสสีเหลือง ชนิดที่สองเป็นกระแสสีแดง สำหรับพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นี้กระแสของเนื้อองค์พระจะเป็นกระแสชนิดที่สองคือ ออกไปทางสีแดง เมื่อเสร็จพิธีเททองทางวัดได้ให้ช่างตกแต่งองค์พระให้แล้วเสร็จในวัด และบรรจุเม็ดกริ่งตามวิธีโบราณ คือ ใส่เม็ดกริ่งแล้วจึงนำโลหะปิดก้นเสร็จแล้วจึงตัดส่วนเกินออก ส่วนพระชัยวัฒน์ไม่ปรากฏการบรรจุเม็ดกริ่ง จากนั้นทำการตอกโค้ดซึ่งทำเป็นรูป “ตัวอุ” มีลักษณะเป็นเลข “๙” ของไทย โดยพระกริ่งจะตอกโค้ดบริเวณด้านหลังใกล้กับกลีบบัว ส่วนพระชัยวัฒน์จะตอกใต้ฐาน ซึ่งโค้ดดังกล่าวจะเป็นการตอกจากภายนอกไม่ใช่การหล่อโค้ดพร้อมองค์พระ
ในคราวจัดสร้าง ปี พ.ศ.2530 ทางวัดได้ให้บริจาคบูชาจำนวนหนึ่ง และต่อมาคณะกรรมการวัดโดยบัญชาของพระเดชพระคุณพระพรหมมุนีให้สำรวจตรวจนับพระกริ่งพระชัยวัฒน์ที่เหลือ สรุปแล้วเหลือจำนวนทั้งสิ้นอย่างละ 603 องค์ ตามที่ได้กราบเรียนท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต และได้มีบัญชาอนุมัติให้นำออกให้ประชาชนได้บริจาคบูชาเพื่อร่วมบุญในการยกช่อฟ้าพระอุโบสถหลังใหม่วัดตรีทศเทพ และบูรณะเสนาสนะตลอดจนใช้ในการพระศาสนาอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2554 โดย บรรจุในกล่องกำมะหยี่สีน้ำเงินเดิม ด้านหน้า อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภปร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฏ ด้านในจารึกอักษร “พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ นวราชบพิตร วัดตรีทศเทพวรวิหาร มหามงคลวาร เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบพระนักษัตร 5 ธันวาคม 2530” ซึ่งเป็นกล่องดั้งเดิมที่ใช้บรรจุองค์พระในคราวแรก นอกจากนี้ ทางวัดยังได้ออกใบอนุโมทนาบัตรและใบกำกับพระกริ่งและพระชัยวัฒน์พระพุทธนวราชบพิตรให้กับผู้บริจาคบูชาอีกด้วย