สำหรับจุดหมายปลายทางยอดนิยมของประเทศไทยอย่าง"ภูเก็ต"ที่เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ล่าสุดที่เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานนี้ ล้วนเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง  และมีคำถามมากมายภายในงาน "PHIST" (Phuket Hotels for Islands Sustaining Tourism) (ฟิสท์) งานประชุมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับภาคการท่องเที่ยวและการบริการ ในการจุดประกายการสนทนาและขับเคลื่อนวาระสีเขียว โดยมีผู้นำด้านการท่องเที่ยวได้มารวมตัวเพื่อเรียกร้องให้มีแผนแม่บทการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเร่งด่วนในหมู่เกาะที่งดงามของประเทศไทย


ด้วยการพัฒนาที่มากมายและรวดเร็วเกินไป รวมถึงการท่องเที่ยวที่มากเกินไปนั้นกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ดังที่เห็นได้จากการประท้วงต่อต้านการท่องเที่ยวในสเปนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยเตรียมพร้อมสำหรับผู้มาเยือนจากต่างชาติ 80 ล้านคนภายในปี 2027 ซึ่งหมายถึงความท้าทายกำลังเผชิญหน้าเข้ามา การขาดแผนการประสานงานที่ผสานรวมโซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาจส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อจุดหมายปลายทางของประเทศไทยในอนาคต

ดังนั้นทางบริษัท ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส (C9 Hotelworks) ที่ปรึกษาด้านการบริการระดับเอเชีย จึงได้ยกตัวอย่างปัญหาชุมชนในภูเก็ตอย่างริมชายหาดบางเทาที่ครั้งหนึ่งเคยเงียบสงบ ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยมากกว่า 10,000 ยูนิต ซึ่งมากกว่าอุปทานที่มีอยู่เป็นสองเท่า รายงานดังกล่าวยังอ้างถึงแนวชายฝั่งที่ครั้งหนึ่งเคยห่างไกลแห่งนี้ว่าเป็น "เขตเมืองใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น"

เช่นเดียวกับข้อมูลจาก STR (เอสทีอาร์) ผู้นำระดับโลกด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดการบริการเผยว่า เกาะภูเก็ตกำลังประสบกับการเติบโตของนักท่องเที่ยว โดยคาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในภูเก็ตสูงขึ้น 30% ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 - มกราคม 2568 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว ในขณะเดียวกัน Greenview (กรีนวิว) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมในสิงคโปร์ได้เตือนว่า ภูเก็ตเผชิญกับความเสี่ยงสูงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น น้ำท่วม และขาดแคลนน้ำใช้ ภัยคุกคามเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจริง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เกิดอุทกภัยและดินถล่มร้ายแรงที่พัดถล่มพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกะตะและกะรน

โดย นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส และผู้ร่วมก่อตั้ง PHIST กล่าวว่า หลังจากคำเตือนหลายปีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปีนี้ยังได้เห็นผลกระทบร้ายแรงของมัน น้ำท่วมครั้งล่าสุดในภูเก็ตที่อาจหลีกเลี่ยงได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพดีกว่านี้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการประสานงานในการวางแผนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นอันดับแรก

สำหรับการประสานงานด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสามารถช่วยให้จุดหมายปลายทางต่าง ๆ รวมถึง “ภูเก็ต” สามารถบรรเทาผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ทางภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบายต้องรวมองค์ประกอบต่าง ๆ อาทิ การออกแบบที่ยั่งยืน การขนส่งด้วยไฟฟ้า และการรวมการปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้ในแผนพัฒนา ส่วนบริษัทภาคเอกชนจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชั่นระยะยาว ในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากลูกค้าได้ไปพร้อม ๆ กัน

ซึ่งคำตอบต่างๆ ดังกล่าวภายในงานประชุม PHIST ประจำปี 2567 ในปีนี้ ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการกว่า 20 รายการ และการพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจที่ออกแบบมาเพื่อจุดประกายการอภิปราย โดยมีผู้แทนมากกว่า 1,000 คนเข้าร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญและความท้าทายล่าสุดของแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ตลอดจนค้นพบโซลูชั่นที่เป็นไปได้ และนวัตกรรมสีเขียวที่ทันสมัย

ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมนำเสนอประเด็นต่างๆ ดังกล่าวประกอบไปด้วย เป็ง ซัม โช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Pan Pacific Hotels Group ซึ่งนำพาบริษัทได้รับการรับรองจาก Global Sustainable Tourism Council (GSTC) ทุกแห่งในสิงคโปร์ เจสเปอร์ ปาล์มควิสต์ ผู้อำนวยการอาวุโส – เอเชียแปซิฟิกของ STR ซึ่งเปิดเผยแนวโน้มขาขึ้นล่าสุดสำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมของภูเก็ตและการคาดการณ์สำหรับอนาคต และ จีรวรรณ ศรีเพ็ชรดานนท์ หรือ บลู ผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการของ Intrinsics

อีกทั้งในงาน PHIST 2024 นี้ได้มุ่งเน้นประเด็นคุณภาพและความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ด้วยการผลักดันของรัฐบาลไทยที่นำพา ประเทศให้เป็น "ครัวของโลก" (Kitchen of the World) เนื่องจากมีผลผลิตสดใหม่จำนวนมาก ซึ่ง  เจน แม็คดูกัลล์ ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมโรงแรมภูเก็ต ยังกล่าวถึงรายละเอียดของโครงการ Green Planet School Farm ที่เป็นโครงการสำคัญในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ผลิตอินทรีย์รุ่นต่อไปในโรงเรียนไทยในท้องถิ่นของภูเก็ตโดยรอบ