กลุ่มผลิตเมล็ดข้าวอินทรีย์ตีนภู (ศูนย์ข้าวชุมชนข้าวอินทรีย์ตำบลหนองห้าง) อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มาตรฐาน Organic Thailand, GI, EU, USDA-NOP ต่อยอดผลผลิตจากแปลงใหญ่นาอินทรีย์ “ตีนภู” แปรรูปอีกหลายผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าข้าวอินทรีย์ภูไท 3 เท่าตัว
ที่ห้องประชุมศูนย์ข้าวชุมชนข้าวอินทรีย์ตำบลหนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายมานพ สนธิรักษ์ นายก อบต.หนองห้าง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มผลิตเมล็ดข้าวอินทรีย์ตีนภู (ศูนย์ข้าวชุมชนข้าวอินทรีย์ตำบลหนองห้าง) โดยมีนายเฉลิมโรจน์ ชัยสิทธิพัฒนา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ นางสาวกรียา สุไชยแสง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนข้าวอินทรีย์ตำบลหนองห้าง พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการและสมาชิกแปลงใหญ่ ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นางสาวกรียา สุไชยแสง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนข้าวอินทรีย์ตำบลหนองห้าง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการและสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนข้าวอินทรีย์ตำบลหนองห้างในครั้งนี้ เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งในส่วนของการขอมติจากที่ประชุม ในการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่หมดวาระ และการเปลี่ยนชื่อกลุ่มฯ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มด้วย ทั้งนี้ จากการขอมติที่ประชุมเห็นชอบเปลี่ยนชื่อกลุ่มจากเดิม กลุ่มแปลงใหญ่ “ศูนย์ข้าวชุมชนข้าวอินทรีย์ตำบลหนองห้าง” เปลี่ยนเป็น “กลุ่มผลิตเมล็ดข้าวอินทรีย์ตีนภู”
นางสาวกรียากล่าวอีกว่า กลุ่มผลิตเมล็ดข้าวอินทรีย์ตีนภู เป็นกลุ่มแปลงใหญ่ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ เริ่มตั้งกลุ่มในปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่าย 1,620 ราย พื้นที่ 15,500 ไร่ ผลผลิตประมาณ 7,750 ตัน ที่ผ่านมาได้รับรางวัลมาตรฐานแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ Organic Thailand, GI, EU, USDA-NOP นอกจากนี้ ในปี 2564 ยังได้รับรางวัล 4 รางวัลคือ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวดีเด่นแห่งชาติ, วิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด, แปลงใหญ่ดีเด่นระดับจังหวัด และรางวัลเชิดชูเกียรติสถาบันเกษตรดีเด่น
“ก่อนจัดตั้งกลุ่มเป็นการทำนาแบบดั้งเดิม อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ต่างคนต่างทำ ทำพอได้ข้าวรับประทานในครัวเรือน ปีใดฝนดี ได้ผลผลิตข้าวเปลือกมากก็แบ่งขาย พอมีรายได้เข้าครัวเรือน หากปีใดฝนทิ้งช่วง ได้ผลผลิตน้อย ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคารับซื้อผลผลิตตกต่ำ สภาพความเป็นอยู่เคยเป็นอย่างไรก็อย่างนั้น อาชีพทำนาไม่มีหลักประกันแน่นอน พอศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวฯ มาให้องค์ความรู้การรวมกลุ่มแปลงใหญ่จึงได้เกิดการรวมตัว เพื่อหาแนวทางแก้ไขและพัฒนาอาชีพทำนา ให้มีรายได้ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยอาศัยวิถีชุมชนและภูมิปัญญาของชาวภูไทเรา ที่สืบทอดจากจากรุ่นสู่รุ่น คือความรัก สมัครสมาน ทำอะไรทำจริง มีเป้าหมาย และใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนอย่างรู้คุณค่า สมาชิกมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการผลิต นี่คือจุดเด่นของชุมชนและกลุ่มเรา จึงเกิดการรวมตัวตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ฯขึ้นดังกล่าว ภายใต้วิสัยทัศน์ เกษตรอินทรีย์วิถีถิ่น อยู่กินแบ่งปัน สร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญา ร่วมกันพัฒนาสู่ความยั่งยืน” นางสาวกรียากล่าว
นางสาวกรียากล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่เรานั้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของสมาชิก, พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยได้มาตรฐาน รักษาระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม, ลดต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาด เพื่อรวบรวมผลผลิตสู่การแปรรูปและจำหน่าย และเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าวครบวงจรของกรมการข้าว ตามนโยบายช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสู่สมาชิกเกษตรกร ทั้งนี้ ในส่วนกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า เน้นเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก พิถีพิถันทุกขั้นตอนการผลิต โดยเฉพาะการคัดพันธุ์ นำผลผลิตมาตรวจสอบคุณภาพ ก่อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูป
“ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเรา ประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์ข้าว ข้าวเหนียวเขาวง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวดำ ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวเมล็ดฝ้าย ขณะที่ในส่วนของการต่อยอด โดยการแปรรูปเพื่อทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภคนั้น ประกอบด้วยข้าวกล้องงอก ข้าวต้มข้าวกล้องงอก โจ๊กข้าวกล้องงอก ข้าวผงชงดื่ม ชาข้าว ขนมพื้นถิ่น เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าจากเดิมถึง 3 เท่าตัว นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และเพื่อสุขภาพอีกหลายรายการ ทั้งนี้ เพื่อผลักดันเป็นของดีประจำชุมชน สู่มาตรฐานสินค้าและการส่งออก และทางเลือกของผู้บริโภค ในยุคการแข่งขันทางตลาดสูง”
นางสาวกรียากล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ทางกรมการข้าว มีโครงการสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สมาชิกกลุ่มเราต่างตื่นตัว สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมาก เชื่อว่าต่อไปนี้จะส่งผลให้การบริหารจัดการทุกขั้นตอนของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงการแปรรูป การตลาด มีประสิทธิภาพและศักยภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะทำให้อาชีพทำนามีหลักประกันที่มั่นคง ที่สำคัญสมาชิกกลุ่มมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ขอขอบคุณกรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ที่ได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ให้การสนับสนุน ส่งเสริม เติมเต็มองค์ความรู้ให้กับกลุ่มในทุกๆด้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มเรามีความเข้มแข็ง มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเมล็ดพันธุ์ และผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ของกลุ่มผลิตเมล็ดข้าวอินทรีย์ตีนภู มีมาตรฐาน สามารถส่งจำหน่ายและยืนหนึ่งในตลาดข้าวระดับโลกในอนาคต