“กรมการแพทย์แผนไทยฯ” ติดอาวุธทางวิชาการจัดเวิร์คช็อป “คุ้มครอง–ส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและแพทย์พื้นบ้าน หวังยกระดับภูมิปัญญาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 วันที่ 13 มิ.ย.2568 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานเปิด “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ประจำปี 2568” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มิ.ย.2568 โดยกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย มี ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้านไทย ผู้แทนนายทะเบียนจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานกว่า 160 คน

ดร.นันทศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การดำเนินงานคุ้มครองฯ เพื่อการเรียนรู้ สถานการณ์ ทิศทาง แนวโน้มของงานคุ้มครองและส่งเสริม ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร และเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านการคุ้มครองฯ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งการอนุรักษ์ คุ้มครองภูมิปัญญา ตำรับตำราการแพทย์แผนไทย ถือเป็นต้นทางที่สำคัญของการแพทย์แผนไทยในการต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบต่อไป เรามีจุดแข็งเกี่ยวกับภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหลายประการ เช่น เรามีตำรับตำรายาแผนไทยทั่วทุกภูมิภาค มีประกาศคุ้มครองตำรับยาแผนไทยของชาติไปแล้ว 39 ฉบับ ตำรา 902 รายการ แผ่นศิลา 536 แผ่น ตำรับยา 61,479 ตำรับ ประชาชนให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มุ่งเน้นด้านจิตใจ วัฒนธรรม การเป็นอยู่ที่ดี แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีความจำเป็นต้องยกระดับภูมิปัญญาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการวิจัย พัฒนานวัตกรรม พัฒนาวิชาการ สร้างมาตรฐานบริการแผนไทยการแพทย์ทางเลือก นวดไทย และสมุนไพร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน

​“การมาร่วมประชุมใน 2 วันนี้เป็นโอกาสดี ที่จะได้มา Update และทบทวนความรู้ใหม่ๆ ให้รู้เท่าทันต่อสถานการณ์  เหมือนมาติดอาวุธทางวิชาการเพิ่มขึ้น เป็นการมาชาร์ตพลังงานบวก เพื่อการต่อยอดพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

ดร.นันทศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ประจำปี 2568 สอดคล้องกับนโยบายอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และการขับเคลื่อนงานตามบทบาทภารกิจของนายทะเบียนจังหวัด ด้านการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สนับสนุนให้สำนักงานนายทะเบียนจังหวัด มีการนำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และสมุนไพร มาพัฒนา ศึกษาวิจัย สู่การใช้ประโยชน์ ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ตลอดจนบูรณาการร่วมกับสถานบริการสาธารณสุข และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ  พัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนทักษะ ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย