วันที่ 16 มิ.ย.68 นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...
ความผิดทางจริยธรรม จะบอกว่าไม่รู้ หรือบกพร่องโดยสุจริต ไม่ได้
ความผิดทางจริยธรรม เมื่อทำผิดจะอ้างว่าไม่รู้ หรือบอกว่า เป็นความบกพร่องโดยสุจริต ไม่ได้ จริยธรรมอยู่ในจิตใจของมนุษย์
กฎหมาย เพียงนำมากำกับเท่านั้น สมมุติ นักศึกษาแพทย์ เซ็นชื่อปลอม ในการทำหัตถการ ที่กำหนดเป็นการบังคับว่าต้องทำ จึงจะผ่านการเรียนในวิชานั้น เมื่อจับได้ ว่าเป็นลายเซ็นปลอม การตัดสิน ถือว่ามีความผิดทางจริยธรรม ไม่ซื่อสัตย์ การลงโทษ เป็นการปรับตกในวิชานั้น ไม่มีภาคฤดูร้อน จะต้องเสียเวลาเรียน 1 ปี
ผู้ปกครองไม่ยอม ถามว่ามีกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ข้อไหนของมหาวิทยาลัย ในการบอกว่า การทำแบบนี้ต้องลงโทษให้ตกในวิชานั้น จะยื่นฟ้องศาลปกครอง การกระทำแบบนี้ ถามว่าเหมาะสมหรือไม่
ทำนองเดียวกัน นักการเมือง เสียบบัตรแทนกัน การตัดสินความผิดต้อง รอกฎหมายถึงจะลงโทษได้ ทั้งที่ความจริงเป็นความผิดทางจริยธรรม ประเทศที่เจริญแล้ว ผู้กระทำผิดควรลาออก ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี การทำผิดทางด้านงานจริยธรรมวิจัย เมื่อจับได้ผู้รับผิดชอบถึงกับฆ่าตัวตายก็มีแล้ว แต่ของเราต้องรอตัดสินด้วยกฎหมาย
การปลูกฝังทางด้านจริยธรรม ผมเองจะได้มีโอกาสไปบรรยาย ใช้เวลาค่อนข้างยาว ถึง 3 ชั่วโมง ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo 2025) ระหว่างวันที่ 16 ถึง 20 มิถุนายน 2568 ณโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และ Bangkok convention Center เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ในวันที่ 17 มิถุนายน 2568 ผมได้มีโอกาสบรรยายเรื่อง “จริยธรรมการเขียนงานวิจัย” ตั้งแต่เวลา 9:00 น เป็นต้นไป
ขอเรียนเชิญผู้สนใจ เข้าร่วมรับฟัง และอภิปราย ได้ในวันดังกล่าว จะมีการแสดงตัวอย่างและการแสดงตัวอย่างไม่มีเจตนาที่จะก้าวล่วงถึงบุคคลที่ 3 เป็นเพียงนำยกตัวอย่างให้เข้าใจเท่านั้น