คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเวทีถกผลกระทบ FTA ไทย-EFTA ต่ออาชีพประมงไทย

คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ 6 องค์กรด้านการประมง ได้แก่ สมาคมสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย สมาคมปลานิลไทย ชมรมผู้ผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำไทย และแปลงใหญ่ปลานิลชลบุรี ได้จัดอภิปรายงานประชุมเสวนาภายใต้หัวข้อ “อาชีพประมงไทยได้-เสียอะไรจากการทำ FTA ไทย – สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA)” ในวันที่ 26 มิถุนายน 2568 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เวลา 9.00-12.00น. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาแนวทางแก้ไขในเชิงรุกของการเปิดการค้าเสรีของสินค้าประมงที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบันและในอนาคต 

ในเวทีเสวนาได้รับฟังสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมประมงไทยจากผู้แทนกรมประมง นายประพันธ์ โนระดี หัวหน้ากลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าระหว่างประเทศ และผลดี-ผลเสียด้านการประมงจากการทำ FTA กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) จากผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายปองวลัย พัวพันธ์ รักษาการตำแหน่ง นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ สำนักการค้าสินค้า จากนั้นได้เปิดเวทีเพื่อรับฟังมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยนายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย นายสมาน พิชิตบัญชรชัย นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย นายสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย คุณอมร เหลืองนฤมิตชัย นายกสมาคมปลานิลไทย และนายพรชัย บัวประดิษฐ์ ประธานแปลงใหญ่ปลานิล ชลบุรี ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อหาข้อเสนอแนะในการเตรียมการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณสินค้านำเข้าที่มีโอกาสเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากการลดภาษีนำเข้าจาก 5% เหลือ 0% ส่งผลต่อราคาสัตว์น้ำในประเทศ ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกษตรกรรายย่อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไป 

บทสรุปของงานเสวนา 

จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - สมาคมการเค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งมีผลให้มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าประมงจาก 5% เหลือ 0% ทันทีประมาณกว่า 100 รายการ ส่วนสินค้ากลุ่มฟิลเล่ของแซลมอน เทราต์ และคอต และกลุ่มแมคเคอเรลแช่แข็ง จะทยอยลดภาษีลงเหลือ 0% ภายใน 7 และ 15 ปี การทำความตกลงทางการค้านี้อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาสินค้าสัตว์น้ำทะลักเข้าประเทศ ส่งผลต่อกลไกการแข่งขันด้านราคาของสัตว์น้ำ ความพร้อมในการรับมือกับสินค้าประมงที่นำเข้า และอาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรมประมงไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ประกอบการแปรรูป ที่ต้องเผชิญทั้งโอกาสใหม่ในตลาดยุโรป และการแข่งขันกับผู้ผลิตที่มีความสามารถสูง และความท้าทายในการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เข้มงวด 

- ข้อเท็จจริงของ FTA ไทย – EFTA 

ประเทศในกลุ่ม EFTA มีระดับการเปิดตลาด (Bound) การค้าสินค้ามากกว่าประเทศไทยเฉลี่ยที่ร้อยละ 92.52 และได้มีการยกเว้นอากรสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมให้แก่ประเทศไทยทุกรายการทันทีที่ความตกลงมีบังคับใช้ ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการเปิดตลาด (Bound) การค้าเฉลี่ยที่ร้อยละ 85.26 โดยประเทศไทยมีระยะเวลาในการทยอยลดอากรได้สูงสุดถึง 15 ปี

กลุ่มสินค้าประมงที่ได้ประโยชน์คือ ปลากระป๋อง กุ้งหรือปูสด/แปรรูป อาหารสุนัขและแมว อาหารปลา เนื่องจากสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากกลุ่มประเทศใน EFTA ได้ที่ต้นทุนต่ำลง อย่างไรก็ตามสินค้าที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ คือ สินค้าปลาในอีกหลายชนิดที่เลี้ยงในประเทศจะขายไม่ได้เพราะมีราคาที่สูงกว่าจากต้นทุนที่มากกว่า เพราะผู้บริโภคจะเลือกซื้อสัตว์น้ำนำเข้ามีราคาถูกกว่า 

- ข้อเท็จจริงของอุตสาหกรรมประมงในการผลิตปลาของประเทศไทย

ผลผลิตสัตว์น้ำในประเทศจากการจับจากธรรมชาติและเพาะเลี้ยงในช่วงพ.ศ. 2558-2567 มีผลผลิต

สัตว์น้ำระหว่าง 2.4 ล้านตัน -2.6 ล้านตัน มีปริมาณเฉลี่ย 2.46 ล้านตันต่อปี สินค้าประมงที่ไทยส่งออกไปตลาดโลก 2 ลำดับแรก คือ ทูน่ากระป๋อง และกุ้งและผลิตภัณฑ์ สินค้าที่ไทยส่งออกไป EFTA อันดับหนึ่งคือ ทูน่ากระป๋อง สินค้าที่ไทยนำเข้าจาก EFTA อันดับหนึ่งคือ ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ในขณะที่สินค้าประมงที่ไทยนำเข้าจากตลาดโลก 2 ลำดับแรก คือ ปลาและผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบทูน่า จากการพิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบปลา และนำไปผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปและส่งออก ผู้ประกอบการไทยในประเทศจะได้ประโยชน์จากการเปิด EFTA และจะเกิดมูลค่าในการส่งออกเพิ่มขึ้น 

- ข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผลกระทบจากการทำ FTA ที่ผ่านมา

ผลกระทบจากการที่สินค้าสัตว์น้ำทะลักเข้ามาในประเทศ และเข้ามาส่วนแบ่งในตลาดภายในประเทศ ส่งผลต่อเกษตรกรรายย่อยขายสินค้าสัตว์น้ำได้น้อยลง

ภาครัฐยังขาดนโยบายปกป้องเกษตรกรที่ชัดเจน นโยบายที่ผ่านมาครอบคลุมเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศซึ่งไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะลงนามในข้อตกลง หรือร่วมกับหาแนวทางหรือมาตรฐานก่อนที่จะทำข้อตกลง ซึ่งผลกระทบที่อาจจะเกิดกับเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจำนวน 542,871 คน หากวัตถุดิบปลาได้นำเข้ามาในปริมาณมาก และเข้าสู่ตลาดปลายทางที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อมาบริโภคได้ ซึ่งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงต้นทุนการเลี้ยงสัตว์น้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่าอาหารสัตว์น้ำ เกษตรกรรายย่อยยากที่จะอยู่รอด เมื่อราคาสินค้าลดต่ำลงจากปริมาณสัตว์น้ำที่นำเข้ามากขึ้น ทั้งนี้ถึงแม้ว่าเกษตรกรจะมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับตัวของแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะรายย่อยจะปรับตัวได้ช้ากว่ารายใหญ่ 

- ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การทำข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ นั้นมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ภาครัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมงและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ควรทำความตกลงกับภาคการผลิตทั้งระดับเกษตรกรและบริษัทถึงผลประโยชน์และผลเสียที่จะเกิด พร้อมมีการวางแนวทางการเลือกสินค้าที่ควรเปิดการค้าเสรี และสินค้าใดควรเป็นสินค้าเปราะบาง หรือมีความจำเป็นต้องเปิดเสรีกับสินค้าที่ส่งผลกระทบ ควรสร้างมาตรการหรือเงือนไขเพิ่มเติมที่ทำให้เกิดผลกระทบทางลบกับกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบระดับมาก และคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึงไปยังทุกกลุ่มผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าเกษตรส่งออก โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าที่มี local content สูง เช่น กุ้ง สำหรับสินค้าที่มี local content ต่ำ เช่น ปลา ควรทบทวนการทำ FTA และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดสินค้าทุกชนิด  

ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบจากการทำ EFTA มองและพิจารณาให้รอบด้าน และควรมีกลไกการป้องกันตนเอง โดยควรถอดบทเรียนจากกรณีของออสเตรเลีย และกรณีเรื่องกากของเสียจากญี่ปุ่น 

ภาครัฐควรหาแนวทางลดต้นทุนการผลิต ทั้งในด้านพลังงาน และอาหาร โดยสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งฝั่งการผลิตระดับฟาร์ม และระดับอุตสาหกรรม 

ภาครัฐควรวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยจากรากฐานความเป็นประเทศเกษตรกรรม มีความพร้อมในการเตรียมข้อมูลของประเทศไทยและประเทศคู่สัญญาก่อนทำความตกลง และประเมินผลได้ผลเสียให้ครอบคลุมทุกมุมมองก่อนดำเนินการเจรจา 

การได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี EFTA ครั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้กระทบเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงปลาเท่านั้น แต่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาลดลงหรือเลิกกิจการไป จะส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นวัตถุดิบหนึ่ง (รำ) ในการเป็นอาหารสัตว์น้ำ ไม่สามารถขายรำได้ในราคาที่สูงเหมือนเดิม และอาจจะส่งผลให้ราคาข้าวและรำตกต่ำลงด้วย