วันที่ 9 ก.ค.68 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 3 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2568 โดยมีนายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย เสนอข้อหารือกับประธานสภา กทม. กรณีข้อสงสัยว่าการตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ของสภา กทม.ที่ผ่านมา ชอบธรรมตามกฎหมาย พ.ร.บ.กรุงเทพฯ 2528 มาตรา 38 หรือไม่ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2566 มีการประชุม 11 ครั้ง เบี้ยประชุม 128,500 บาท ปี 2567 มีการประชุม 24 ครั้ง เบี้ยประชุม 271,000 บาท ปี 2568 ถึงวันที่ 9 มิ.ย.68 มีการประชุม 14 ครั้ง เบี้ยประชุม 147,000 บาท รวมประชุมไปแล้ว 49 ครั้ง ตามรายงาน จ่ายเบี้ยประชุมทั้งหมด 546,500 บาท

โดย พ.ร.บ.กรุงเทพฯ มาตรา 38 กำหนดให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการสามัญและคณะกรรมการวิสามัญ ไม่จำกัดจำนวน แต่ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการอย่างอื่นได้ นอกจากนี้ มาตรา 43,44 กำหนดให้กรรมการสามัญ กรรมการวิสามัญ และอนุกรรมการที่สภา กทม.ตั้งขึ้น สามารถเบิกค่าเบี้ยประชุมได้

ส่วนการตั้งคณะกรรมการอื่น ๆ เช่น กรรมการประสานงานร่วม และคณะกรรมการวิสามัญร่วม (คณะกรรมการที่สภาร่วมกันแต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง) อาศัยมาตราใดของ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ 2528 ในการเบิกเบี้ยประชุม ซึ่งเรื่องดังกล่าวสร้างความเห็นไม่ตรงกันระหว่าง ส.ก.มานาน จึงเสนอให้ประธานสภา กทม. ส่งหนังสือสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตีความ ดังนี้

1.การตั้งกรรมการวิสามัญร่วมและประสานงานร่วม สามารถทำได้ แต่เป็นไปตาม พ.ร.บ.กทม. มาตรา 38 และ 43,44 หรือไม่ ถ้าไม่เป็นตามข้อกำหนดใด สามารถเบิกเบี้ยประชุมได้อย่างไร 2.กรรมการดังกล่าวเป็นกรรมการในหมวดหรือประเภทใดในข้อกฎหมาย มีอำนาจในการตั้งกรรมการนอกเหนือจากมาตรา 38 ตาม พ.ร.บ.กรุงเทพฯ 2528 หรือไม่

"การตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ โดยอ้างว่าตั้งตามสภาผู้แทนราษฎรนั้น ขอเรียนว่ากรุงเทพมหานครมี พ.ร.บ.ของตัวเอง นอกจากกรรมการสามัญ กรรมการวิสามัญ และอนุกรรมการ ตามมาตรา 43,44 ไม่มีข้อกำหนดใดบอกว่าให้คณะกรรมการอื่น ๆ เบิกเบี้ยประชุมได้ การยื่นให้กฤษฎีกาตีความเพื่อความชัดเจนและความสง่างามของสภา กทม. เนื่องจากสภา กทม.เป็นผู้ออกกฏหมายและบังคับใช้ หากทำผิดกฎหมายเสียเองใครจะมาเชื่อถือ" นายนภาพล กล่าว

นายสุรจิตต์ กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ ส.ก. มองกันต่างมุม เพื่อเป็นการยุติและเกิดความชัดเจน และเป็นบรรทัดฐานแนวทางในการปฏิบัติต่อไป ตนเห็นสมควรว่า ควรให้กฤษฎีกาตีความ หากผลออกมาอย่างไร ส.ก. ทุกท่านต้องรับทราบและปฏิบัติตาม เนื่องจากเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ การมองต่างมุมเป็นสิ่งที่ดี ไม่เสียหาย แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ไม่สามารถตัดสินได้ จึงขออนุญาตยื่นให้กฤษฎีกาตีความ และจะดำเนินการต่อไป