สวธ.ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของ “ศูนย์การเรียนรู้หมอลำกลอน ครูจินตนา เย็นสวัสดิ์” และ “ศูนย์การเรียนรู้นาฏกรรมโขน นาฏศิลป์ไทย” 2 แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงในจังหวัดขอนแก่นที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีชีวิต สืบสานมรดกศิลป์ไทยสู่คนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์

เมื่อเร็วๆ นี้ นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) พร้อมด้วยนายรัตน์ดนัย สิงห์คำ นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต (หมอลำกลอนพื้นบ้าน) ณ ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย สาขาศิลปกรรม ด้านหมอลำกลอน ครูจินตนา เย็นสวัสดิ์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างทักษะนาฏกรรมโขน เรียนรู้ก่อนดู “โขน” เพื่อสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จัดโดยศูนย์การเรียนรู้นาฏกรรมโขน นาฏศิลป์ไทย จังหวัดขอนแก่น ณ โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น โดยมีจ่าเอกนาวี แสงฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมด้วยคณะบุคลากรจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่นให้การต้อนรับและพาชมอย่างใกล้ชิด

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต (หมอลำกลอนพื้นบ้าน) จัดโดยศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย สาขาศิลปกรรม ด้านหมอลำกลอน ครูจินตนา เย็นสวัสดิ์ จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงหมอลำกลอนให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับการจากการฝึกอบรม (training) ไปประยุกต์ใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป อีกทั้งโครงการนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือ (cooperation) ระหว่างศูนย์การเรียนรู้และสถาบันการศึกษา ก่อให้เกิดการส่งเสริมและมีส่วนร่วมในการเติมเต็มความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม อันเป็นการพัฒนาทั้งทุนทางสังคม (social capital) ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) และทรัพยากรมนุษย์ (human resources) อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 6 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย สาขาศิลปกรรม ด้านหมอลำกลอน ครูจินตนา เย็นสวัสดิ์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ (1) การเสวนา เรื่อง “ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต (หมอลำพื้นบ้าน)” (2) ความรู้เบื้องต้นในการฝึกการขับร้องหมอลำกลอน (3) การถ่ายทอดองค์ความรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ประเภทท่าฟ้อนประกอบการแสดงหมอลำกลอน และ (4) จัดทำสื่อวีดิทัศน์การแสดงของผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อเผยแพร่สื่อออนไลน์

สำหรับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างทักษะนาฏกรรมโขน เรียนรู้ก่อนดู “โขน” เพื่อสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จัดโดยศูนย์การเรียนรู้นาฏกรรมโขน นาฏศิลป์ไทย จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจโขนอย่างลึกซึ้ง (profoundly) ก่อนเข้าชมการแสดงโขน อีกทั้งเสริมสร้างทักษะด้านนาฏศิลป์ไทย (โขน) แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์และสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทย และเป็นวิถีหนึ่งที่จะสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) แก่เครือข่ายผู้สืบทอดนาฏกรรมโขนต่อไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 6 กรกฎาคม 2568 ณ โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ (1) การทำความรู้จักกับ “โขน” ทั้งประวัติความเป็นมา และวิธีการแสดง (2) การฝึกปฏิบัติทักษะท่ารำอย่างง่าย (3) การฝึกปฏิบัติทักษะท่ารำขั้นสูง (4) การฝึกซ้อมท่ารำให้เข้ากับดนตรี และ (5) การแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อเสนอแนะ (feedback) ของการฝึกปฏิบัติต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในอนาคตอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป