ยิ่งใหญ่ทั่วไทย! กรมการศาสนาจัดใหญ่ขบวนแห่เทียนพรรษา 10 พระอารามหลวง นำชาวพุทธสืบสานพระพุทธศาสนา สัมผัสวิถีวัฒนธรรมในมิติทางศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา 2568

9 ก.ค. 68 กรมการศาสนา(ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีปล่อยขบวนรถแห่เทียนพรรษา งานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช 2568 โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงาน องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วม ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยในส่วนกลาง ร่วมกับคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภายในกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายทางศาสนา และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีปล่อยขบวนรถแห่เทียนพรรษา งานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช 2568 ในวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2568 ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย ริ้วขบวนรถแห่เทียนพรรษา พิธีปล่อยขบวนรถแห่เทียนพรรษาของหน่วยงานภายในกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานเครือข่าย เพื่อนำไปถวายพระอารามหลวงในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 10 วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดปทุมวนาราม วัดประยุรวงศาวาส วัดสระเกศ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดอรุณราชวราราม วัดเทวราชกุญชร และยังมีจังหวัดที่เปิดโอกาสให้มีการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นกรณีพิเศษ ในช่วงเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา จำนวน 4 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น เปิดให้สักการะหลวงพ่อพระลับ ในวาระโอกาสครบรอบ ๕๐๐ ปี ณ วัดธาตุ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดนครศรีธรรมราช สักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระมหาธาตุ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดยโสธร สักการะพระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ ณ วัดมหาธาตุ อำเภอเมืองยโสธร และจังหวัดอ่างทอง สักการะและห่มผ้าองค์พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล ณ วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง

ในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด ได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา และหน่วยงานต่างๆ บูรณาการการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีของงามของไทย รวมทั้งเปิดพื้นที่จัดเทศกาลประเพณีเพื่ออนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ด้วยการจำหน่ายสินค้าและบริการทางด้านศรัทธา ความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณี สร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้มีการจัดการแสดงทางวัฒนธรรมทั้ง 4 ภาค และพิธีทำบุญทางศาสนาในแต่ละวัดอีกด้วย  โดยจัดกิจกรรม “ปักหมุดเที่ยวงานบุญทั่วไทย 10 จังหวัด กับ 10 งานประเพณี” เปิดสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด ได้แก่ 1. จังหวัดนครพนม ชมขบวนแห่เทียนพรรษา ณ วัดพระธาตุพนม ที่มีทั้งขบวนแห่เทียน และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม 2. จังหวัดนครราชสีมา มีการจัดงานใหญ่กลางเมือง ชมขบวนแห่เทียนพรรษา ขบวนบุปผชาติ และแสงสีเสียง ณ ลานอนุสาวรีท้าวสุรนารี 3. จังหวัดบุรีรัมย์ จัดกิจกรรมประโคนชัยแห่เทียนยิ่งใหญ่ พร้อมการโชว์วัฒนธรรมท้องถิ่น 4. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเพณีแห่เทียนทางน้ำ ณ คลองลาดชะโด ชมวิถีชีวิตสองฝั่งคลอง 5. จังหวัดพะเยา มีกิจกรรมเวียนเทียนกลางน้ำที่กว๊านพะเยา งานบุญล้านนากับบรรยากาศยามเย็น 6. จังหวัดสระบุรี ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา ณ วัดพระพุทธบาท ชมขบวนพยุหยาตรา และพิธีล้างเท้าพระ 7. จังหวัดสิงห์บุรีประเพณียายดอกไม้ หรือ ตักบาตรดอกไม้ ณ วัดจินดามณี พร้อมเวียนเทียนพระบรมธาตุเจดีย์บ้านแป้ง 8. จังหวัดสุพรรณบุรี การแห่เทียน 10 อำเภอ ณ วัดป่าเลไลยก์ ห่มผ้าหลวงพ่อโต พร้อมกิจกรรมช้อปของดี OTOP ของจังหวัด 9. จังหวัดสุรินทร์ การจัดมหกรรมแห่เทียนพรรษา และตักบาตรบนหลังช้าง งานเดียวในโลก ณ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์ และ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ราชธานีแห่งเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ โดยมีขบวนแห่เทียน "ศรีศิลป์ ถิ่นไทยดี" อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันสืบสานพระพุทธศาสนาและรักษาประเพณีไทย ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับจังหวัดระนอง จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาสานสัมพันธ์อาเซียน เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา จังหวัดระนอง ประจำปีพุทธศักราช 2568 ในวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2568 ณ วัดวารีบรรพต และวัดปากน้ำประชารังสฤษดิ์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เพื่อเป็นการสืบสานรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณธรรม จริยธรรมอย่างยั่งยืน

โดย “เทียนพรรษา” เป็นเทียนที่พุทธศาสนิกชนจัดทำขึ้นเพื่อน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษา เพื่อใช้เป็นแสงสว่างในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่พระสงฆ์จะอยู่จำพรรษาในวัดโดยไม่ออกเดินทาง เทียนพรรษาจึงไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธา หากยังเป็นเครื่องมือแห่งปัญญาและความเพียรของทั้งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ด้วยการร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา บำเพ็ญศาสนกิจ รักษาศีล ลด ละ เลิกอบายมุข สืบทอดพระพุทธศาสนา สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย

"วันอาสาฬหบูชา" วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ คือ 1) เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการ คือ มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง และอริยสัจ 2) เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงได้พระสาวกองค์แรก คือ ท่านโกญฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก 3) เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก คือ พระอัญญาโกญฑัญญะ 4) เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก และในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่าจะพำนักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ที่เรียกว่า “จำพรรษา”

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีหล่อเทียนและถวายต้นเทียนพรรษา รวมทั้งท่องเที่ยวเรียนรู้ธรรมะ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ณ วัดใกล้บ้าน พร้อมทั้งร่วม ตั้งจิตน้อมใจเป็นกุศล สร้างบุญ ลด ละ เลิก อบายมุขตลอดพรรษา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เสริมสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว ในช่วงเทศกาลแห่งบุญ รวมทั้งสืบสานพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่สืบไป