สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นไม้ร่วมกับผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา ประจำปี 2568 ณ สวนรวมพรรณไม้เกียรติประวัติไทย

เมื่อวันที่ 11 ก.ค.รกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม  รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  รองศาสตราจารย์ ดร.ประทีป ด้วงแค คณบดีคณะวนศาสตร์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 300 คน เฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นไม้เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา ประจำปี 2568 ร่วมกับคณะผู้บริหาร  คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ สวนรวมพรรณไม้เกียรติประวัติไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 5 ต้น ดังนี้

กล้าไม้ต้นที่ 1 ต้นรวงผึ้ง Schoutenia glomerata สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูก ร่วมกับ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ

ต้นที่ 2 ต้นพุดผา Thaigardenia collinsiae  ทรงปลูกร่วมกับรักษาการแทนอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก สถาบัน

ต้นที่ 3 ต้นไผ่ภูพาน Phuphanochloa speciosa   ทรงปลูกร่วมกับ นายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรม มก.อาวุโส สมาคมนิสิตเก่าวนศาสตร์

ต้นที่ 4 ต้นส้มแก้วสมคิด Garcinia siripatanadilokii  ทรงปลูกร่วมกับคณบดีคณะวนศาสตร์ คณาจารย์ และบุคลากรคณะวนศาสตร์

ต้นที่ 5 ต้นนนทรี Peltophorum pterocarpum ทรงปลูกร่วมกับนายกสโมสรนิสิตคณะวนศาสตร์

ทั้งนี้ กล้าไม้ต้นนนทรี ดังกล่าวเกิดจากการเพาะเมล็ด จากต้นนนทรีทรงปลูกทั้ง 9 ต้น ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงปลูกต้นนนทรี จำนวน 9 ต้น ไว้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เวลา 15.30 น. จากนั้นทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีภายในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นการส่วนพระองค์ ต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย

สำหรับสวนรวมพรรณไม้เกียรติประวัติไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ ทางฝั่งขวาของประตูงามวงศ์วาน 1 สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมพรรณไม้เพื่อการศึกษา เป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติภูมิของความเป็นไทย และเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของบุคคลและสถานที่ในประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีการดำเนินการที่ใดมาก่อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้จัดทำ โครงการสร้างสวนรวมพรรณไม้เกียรติประวัติไทย เพื่อแสดงออกซึ่งความภูมิใจในความเป็นไทย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรและทรงปลูกต้นไม้ ได้แก่ ต้นสิรินธรวัลลี และต้นกันภัยมหิดล เพื่อเปิดสวนรวมพรรณไม้เกียรติประวัติไทย (Thai Commemorative Garden) เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2540 การจัดสร้างสวนรวมพรรณไม้เกียรติประวัติไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมพรรณไม้เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นการสร้างสวนเป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติภูมิความเป็นไทย และรำลึกถึงความสำคัญของบุคคลและสถานที่ของประเทศไทย ซึ่งได้มีการจำแนกพรรณไม้เกียรติประวัติไทย เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 พรรณไม้ที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลสำคัญของไทย

กลุ่มที่ 2 พรรณไม้ที่นักพฤกษศาสตร์ไทยเป็นผู้ค้นพบ

กลุ่มที่ 3 พรรณไม้ที่ตั้งชื่อตามสถานที่ที่ค้นพบครั้งแรกในท้องที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย

กลุ่มที่ 4 พรรณไม้ถิ่นเดียว พบเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จัดอยู่ในสถานภาพพรรณไม้หายาก หรือพรรณไม้ที่สูญพันธุ์

โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตร นิทรรศการวิชาการ ด้านต่าง ๆ ภายในงาน จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่

โครงการอุทยานการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เวชศาสตร์การเกษตร ชีวนวัตกรรม 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อสร้างความกินดี อยู่ดีและความยั่งยืนให้กับภาคประชาชน สังคม และประเทศ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความมุ่งมั่นและก้าวไปสู่   S-curve ใหม่ ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยด้านการบูรณาการศาสตร์สุขภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนและสังคม คือ การจัดตั้งโครงการอุทยานการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และจัดตั้งโรงพยาบาลเกษตรศาสตร์ ขนาด 400 เตียง ที่เน้นด้านเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม เชื่อมโยงความรู้ขั้นสูงด้านการเกษตร อาหาร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ไปสู่การแพทย์เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชีย เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ รองรับ สังคมผู้สูงอายุและการเกิดโรคอุบัติใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณงบลงทุนจากภาครัฐวงเงิน 8,863.93 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 และใช้เงินรายได้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ เงินบริจาค 1,386.10 ล้านบาท ในการดำเนินการโครงการ

โครงการอุทยานการแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เกิดขึ้นในสมัยของอธิการบดีดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ โดยการประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ได้อนุมัติจัดตั้ง โครงการอุทยานการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางเขน) เพื่อรองรับการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ วิทยาศาสตร์การแพทย์ สนับสนุน การเรียน การสอนและการบริการประชาชนด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเสริมจุดเด่นของศักยภาพพื้นที่โครงการอุทยานการแพทย์ ด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ในใจกลางเมือง ตามแนวทางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ของสหประชาชาติ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ พรั่งพร้อมด้วยแหล่งการเรียนรู้นวัตกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

โครงการอุทยานการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระยะแรกเป็นการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และระยะที่สองเป็นการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์  และในขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและปฎิบัติการคณะแพทยศาสตร์ สูง 17 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 29,000 ตารางเมตร โดยการออกแบบอาคารเน้นการประหยัดพลังงานตามเกณฑ์อาคารเขียว และมีงบประมาณการก่อสร้าง 441,441,000.00 บาท และมีแผนงานก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน 2571

สำหรับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งขึ้นเพื่อการเรียนการสอน วิจัย เพื่อการผลิตแพทย์ และให้บริการทางการแพทย์ แก่ประชาชนในบริบทของเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม (Agro-Medicine and Bio-Innovation) และมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน ในการก้าวสู่ทศวรรษที่ 9 ของมหาวิทยาลัยที่จะก้าวไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาระดับสากล ประกอบกับการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก จากสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19  โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และโรคอุบัติใหม่อีกมากมาย

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มีนิสิตแพทย์รุ่นที่ 1 จำนวน 47 คน  นิสิตแพทย์รุ่นที่ 2 จำนวน 48 คน  และคณะพยาบาลศาสตร์ มีนิสิตพยาบาล รุ่นที่ 1 จำนวน 63 คน นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเกษตรศาสตร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การติดตามสถานภาพประชากรนกเงือกและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของระบบนิเวศป่าดงดิบเขาในผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย

คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญการอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในผืนป่าดงดิบเขาที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดที่เหลืออยู่ในประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง การติดตาม สถานภาพประชากรนกเงือกและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของระบบนิเวศป่าดงดิบเขาในผืนป่าตะวันตกของ ประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยที่เน้นไปที่ นกเงือกคอแดง ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าดงดิบเขา รวมถึงสถานภาพนกเงือกอีก 5 ชนิดได้แก่ นกกก นกเงือกสีน้ำตาล นกแก๊ก นกเงือกกรามช้าง และนกเงือกกรามช้างปากเรียบ และสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมที่สำคัญอีก 12 ชนิด อันได้แก่ ชะนีมือขาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ ช้างป่า สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือดาว กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า หมีควาย และหมีหมา โดยได้ทำการเดินสำรวจเพื่อศึกษาการกระจายในพื้นที่ด้วยการพบเห็นตัวโดยตรง บันทึกเสียงร้องและจดบันทึกร่องรอย รวมถึงพืชอาหารของสัตว์ป่า และปัจจัยที่มีผลต่อความอยู่รอดของสัตว์ป่า พื้นที่ศึกษาครอบคุลมป่าดิบเขาระดับสูงของผืนป่าตะวันตก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 5 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คิดเป็นพื้นที่ศึกษาทั้งหมด 2,720 ตารางกิโลเมตร โดยใช้การสุ่มเก็บ ข้อมูลเป็นตารางกริดขนาด 16 ตารางกิโลเมตร ตามขนาดพื้นที่อาศัยของนกเงือกคอแดงจากงานวิจัยในอดีต เป็น จำนวนทั้งสิ้น 170 ตารางกริด

ผลจากการสำรวจ ระยะแรก ตั้งแต่ เดือนมีนาคม จนถึง มิถุนายน 2568 เป็นระยะเวลา 4 เดือน ได้มีการ สำรวจไปแล้วจำนวน 24 ตารางกริด ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา 96 ตารางกิโลเมตร ตามแนวเทือกเขาสูงที่เป็นรอยต่อ ระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ทำการเดินสำรวจได้ทั้งหมดเป็นระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร พบข้อมูลของ นกเงือกจำนวน 4 ชนิดคือ นกเงือกคอแดง  พบมากบริเวณพื้นที่ที่เป็นหุบเขาระหว่างเทือกเขาที่มีความสูง มากกว่า 900 เมตรขึ้นไป โดยพบเห็นตัว 4 ครั้ง และได้ยินเสียงร้อง 6 ครั้ง ส่วนนกเงือกกระจายอยู่ทั่วทั้งพื้นที่ศึกษา คือ นกกก โดยมีการพบเห็นตัว 14 ครั้ง และได้ยิน เสียงร้อง 48 ครั้ง และ นกเงือกสีน้ำตาล ที่มักจะพบเห็นเป็นฝูงมากกว่า 1 ตัว โดยมีการพบเห็นตัว จำนวน 18 ครั้ง ได้ยินเสียงจำนวน 26 ครั้ง ส่วน นกแก๊ก พบได้ในบริเวณพื้นที่ราบ ริมห้วย ที่มีความสูงน้อยกว่า 1000 เมตร มีการเห็นตัว 7 ครั้ง และได้ยินเสียงร้อง 5 ครั้ง ซึ่งจุดที่พบนกเงือกทั้ง 4 ชนิด มากกว่าร้อยละ 80 จะอยู่ใน บริเวณใกล้เคียงกับแหล่งน้ำ และต้นไทรที่เป็นพืชอาหารหลัก

​​​​​​​

ทั้งนี้ยังคงพบสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นเป้าหมายทั้ง 12 ชนิด อันได้แก่ ชะนีมือขาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ ช้างป่า สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือดาว กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า หมีควาย และหมีหมา พบเห็นกระจายอยู่ตามเส้นทางสำรวจซึ่งนับเป็นว่าดัชนี้ชี้วัดว่าผืนป่าแห่งนี้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอยู่เป็นอย่างดี เมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะสามารถสร้างโมเดลทำนายปัจจัยในการอยู่รอดของนกเงือกแต่ละชนิดให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูนกเงือกคอแดง และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ ในสังคมพืชป่าดิบเขาของกลุ่มป่าตะวันตกให้มีความยั่งยืนต่อไป

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ ร่วมกับคณะผู้บริหาร  คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โอกาสนี้ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ในปี 2568 พร้อมกันนี้ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการร่วมออกร้านในงานกาชาด ประจำปี 2567 จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย

ากนั้น คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตคณะวนศาสตร์  ร่วมกันปลูกต้นไม้เพิ่มเติม จำนวน 200 ต้น ได้แก่ ต้นเหลียง และต้นแก้ว เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับบริเวณสวนรวมพรรณไม้เกียรติประวัติไทย เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นปอด เป็นแหล่งอากาศดีให้แก่นิสิต บุคลากร และ ประชาชน ให้มีสุขภาพแข็งแรงสดชื่นทุกคน