ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ภายหลังสงคราม 12 วัน ระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล ต่างฝ่ายก็เร่งฟื้นฟูบูรณะความเสียหายที่ได้รับจากการทำสงครามกัน

นอกจากนี้ก็ได้มีการปรับปรุงและเสริมสมรรถนะในการป้องกันตนเองไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศ การป้องกันการก่อการร้าย การปรับปรุงงานด้านการข่าว และระบบตรวจสอบต่างๆ ที่สำคัญก็คือปรับปรุงระบบโจมตีและเพิ่มขีดความสามารถไม่ว่าจะเป็นระบบขีปนาวุธ โดรน และแม้แต่อากาศยาน ดังเช่น ที่อิหร่านสั่งซื้อฝูงบิน J10c จากจีน 40 เครื่อง SU35 และ SU57 อีก จำนวนหนึ่งจากรัสเซีย ส่วนอิสราเอลก็จัดซื้อขีปนาวุธจากเยอรมนีและพันธมิตรอื่นๆ

ที่น่าสนใจก็คือ การใช้มาตรการทางการทูตในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจในการมีพันธมิตรคอยสนับสนุนในยามที่เกิดสงคราม

ดังที่อิสราเอลได้ใช้แผนกระชับความสัมพันธ์แบบเดินหมากล้อม คือการกระชับมิตรและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับอาเซอร์ไบจาน ซึ่งมีความผูกพันกันมาก่อน ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิหร่าน และด้านอื่นๆดังต่อไปนี้

ด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์

อาเซอร์ไบจานมีที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของอิหร่าน ฉะนั้นการมีประเทศนี้เป็นพันธมิตรคือการปิดล้อมอิหร่านทางด้านเหนือ อิสราเอลจึงผูกความสัมพันธ์ด้านการทหารกับอาเซอร์ไบจานมานานหลายปีแล้ว

อิสราเอลเป็นผู้ส่งออกอาวุธทันสมัยให้กับอาเซอร์ไบจาน ถึง 70% ของการนำเข้าอาวุธทั้งหมด และช่วยให้อาเซอร์ไบจานเอาชนะอาร์เมเนีย ในสงครามนากอร์โน-คาราบัค ปี ค.ศ.2020 และ 2023

อนึ่งมีคนเชื้อสายอาเซอร์ไบจานอยู่ในอิหร่านไม่น้อยกว่า 16% หรือประมาณเกือบ 20 ล้านคน ซึ่งอาจถูกปลุกปั่นให้ก่อความไม่สงบได้ หรืออย่างน้อยมีบางส่วนอาจถูกใช้ในการจารกรรมร่วมกับมอดสาด หน่วยจารกรรมของอิสราเอล

ทั้งนี้ในช่วงสงคราม 12 วัน มีการพบเห็นโดรนของอิสราเอล บินมาจากอาเซอร์ไบจาน ซึ่งอาจเป็นโดรนหาข่าว ชี้เป้า หรือแม้แต่โดรนโจมตี และอิสราเอลยังเป็นเจ้าภาพให้ซีเรียจับมือกับอาเซอร์ไบจาน

ตุรเคียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะมีบทบาทในการทำสงครามครั้งต่อไประหว่างอิหร่าน-อิสราเอล แม้ว่าอังการา จะคัดค้านความพยายามของอิหร่านที่จะพัฒนาด้านนิวเคลียร์ แต่ตุรเคียก็ยังคงรักษาท่าทีในการประนีประนอมกับอิหร่าน แต่ประธานาธิบดีเออโดกัน ก็กล่าวประณามการโจมตีอิหร่านโดยอิสราเอล ว่าเป็นการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

อนี่งตุรเคียก็ยังมีผลประโยชน์จากการค้าขายน้ำมัน ชิ้นส่วนโดรน วัตถุดิบในการทำสงครามให้อิสราเอล ในขณะที่โจมตีด้วยการประณามอิสราเอลในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กาซา

นอกจากนี้ตุรเคีย ซึ่งเป็นตั

วหลักในการสนับสนุนให้โจมตีล้มล้างอัลอาซาดได้ และกลายเป็นผู้นำในซีเรียกขณะนี้ จึงต้องการมีบทบาทและอิทธิพลในซีเรีย แต่ก็ถูกอิสราเอลเข้ามาแบ่งบทบาทด้วยการส่งทหารเข้ามายึดครองบางส่วนของซีเรีย เช่น จากที่ราบสูงโกลาน ถึง ภูเขาฮามอน ซานเมืองดามัสกัส และอิสราเอลยังเข้าแทรกแซง การปะทะกันระหว่างชาวดรุยซ์กับกลุ่มติดอาวุธเบดุอินในเมืองสุเวดา ด้วยการทิ้งระเบิดช่วยดรุยซ์ โดยไม่สนใจบทบาทของรัฐบาลซีเรีย ที่พยายามจะสงบศึกของ 2 ชนเผ่านี้

แม้ตุรเคียจะไม่มีดินแดนติดกับอิหร่านโดยตรง แต่ทั้ง 2 ประเทศมีอาณาเขตติดต่อกับเขตปกครองตนเอง นัคซีวานของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งมีความสำคัญในการควบคุมการค้าในภูมิภาคและเป็นจุดที่อิหร่านและตุรเคียสามารถมีอิทธิพลต่อกันได้

นอกจากนี้ตุรเคียยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางด้านชาติพันธุ์และภาษา ทำให้ตุรเคียสนับสนุนอาร์เซอร์ไบจานในสงครามนากอโน-คาราบัค

ที่ทำให้สับสนคือตุรเคียเป็นสมาชิกนาโตแต่ก็เป็นสมาชิกบริกส์ในขณะเดียวกัน

ด้วยท่าทีเหล่านี้ของตุรเคียทำให้เกิดความซับซ้อนอย่างมากต่อบทบาทของตุรเคีย หากเกิดสงครามอิหร่าน-อิสราเอลในอนาคต

ทางด้านอิหร่านก็ได้พยายามดำเนินนโยบายทางการทูตกับกลุ่มประเทศอาหรับในภูมิภาคและตุรเคีย แต่ก็ไม่อาจมั่นใจว่าประเทศเหล่านั้นจะวางตนเป็นกลางในความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทว่าพันธมิตรของอิหร่านทางตะวันออกเฉียงใต้คือปากีสถาน ก็พอเป็นหลักประกันได้ว่าอิหร่านจะมีผู้สนับสนุนหากเกิดสงครามกับอิสราเอลอีก

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าอินเดียนั้นสนับสนุนอิสราเอลและมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายประการ

อย่างไรก็ตามบทบาทของมหาอำนาจในเวทีโลก รวมทั้งการสนับสนุนทางกำลังอาวุธและการทหารก็มีบทบาทสำคัญที่ต้องพิจารณา

ทั้งนี้เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯและพันธมิตรนาโตจะเข้าข้างอิสราเอลและจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ในขณะที่รัสเซียและจีนมีความจำเป็นในแง่ยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ จึงทำให้ทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจนี้มีเงื่อนไขที่จะต้องปกป้องอิหร่านให้ยืนหยัดอยู่ได้ เพราะถ้ารัฐบาลอิหร่านมีอันล้มลง เส้นทางการทะลุละลวงของตะวันตกเข้าไปในดินแดนเอเชียกลาง และดินแดนใกล้เคียงจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของทั้งรัสเซีย และจีนอย่างยิ่ง

อนี่งรัสเซียมีชายแดนติดอาเซอร์ไบจานซึ่งอาจใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันอาเซอร์ไบจานได้

นอกจากนี้อิหร่านยังมีพันธมิตรอย่างน้อยก็ 1 ประเทศในตะวันออกกลางนั่นคือ อิรัก ซึ่งมีหัวอกเดียวกัน นั่นคือถูกรุกรานจากตะวันตกและการทุบทำลายจากสหรัฐฯ

อนึ่งอิรักแม้จะไม่อาจยืนหยัดช่วยอิหร่านด้านกำลังทหารโดยตรง แต่ก็มีกองกำลังติดอาวุธอยู่จำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะปฏิบัติการช่วยอิหร่านในภูมิภาค

ท้ายที่สุดอิหร่านยังมีกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า Non-Government Actor ในเยเมน คือ ฮูตี และในเลบานอน คือ ฮิซบุลเลาะฮ์ ซึ่งก็มีขีดความสามารถ ที่จะโจมตีก่อกวนอิสราเอล ได้ในจังหวะที่เหมาะสม ที่ลืมไม่ได้คือ ความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ แม้จะอยู่ไกลไปหน่อย แต่ก็มีอาวุธนิวเคลียร์

การเดินเกมส์หมากล้อมของทั้ง 2 ฝ่าย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะชี้ชะตาในการทำสงครามระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล ในครั้งต่อไป ซึ่งคงอีกไม่นาน แต่ผลของสงครามในครั้งต่อไป นี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือเอเชียตะวันตกอย่างเป็นนัยสำคัญและปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซาก็คงได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

สุดท้ายมั่นใจได้ว่าอิสราเอลจะเป็นผู้เริ่มสงครามก่อนตามนิสัยประจำชาติ แม้จะยังมีช่องทางการทูตในการเจรจาปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน-สหรัฐฯอยู่ก็ตาม