"กอบศักดิ์" แนะทางรอด เลือกทางสายกลางลดภาษีทรัมป์ เหลือ 25% เลี่ยงวิกฤตส่งออก-ลงทุน

วันที่ 17 ก.ค.68 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกอบศักดิ์ ภูตระกูล ระบุว่า... 

ทางออกประเทศไทย !!!

นับจากนี้ไปเรามีเวลาเหลืออีกแค่ 2 สัปดาห์ ที่จะต่อรองกับสหรัฐ

หลายคนถามว่า ประเทศไทยควรทำอย่างไร?

เราควรต่อรองอย่างไร? ในการที่จะหาทางออกเรื่องนี้

เราต้องเริ่มจาก "โจทย์" ต้องหาให้เจอว่า โจทย์ที่แท้จริงของไทยคืออะไร เพื่อนำไปสู่ "คำตอบ" ว่าเราควรทำอะไร ซึ่งโจทย์เรื่อง Tariffs ของไทยขณะนี้

จริงๆ แล้ว ก็คือ ความเสียหายของชาติกำลังรออยู่ข้างหน้า

"เราจะเสียหายน้อยที่สุดได้อย่างไร"

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า ไม่ว่าจะเลือกทางไหน เราก็จะประสบความเสียหายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

1. ความเสียหายต่อภาคส่งออก

2. ความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจที่เราเคยปกป้องเอาไว้

3. ความเสียหายต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทย

ซึ่งความเสียหายด้านที่สามอาจจะยังไม่ชัดในเวลานี้ แต่ในช่วงต่อไป ทุกคนจะเห็นความเสียหายนี้ได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ยิ่งไทยรั้งท้ายสุดในกลุ่มประเทศหลักของอาเซียน มีอัตรา Tariffs ที่ 36%

ขณะที่ สิงคโปร์ 10%

อินโดนีเซีย 19%

เวียดนาม 20%

ฟิลิปปินส์ 20%

มาเลเซีย 25% (กำลังเจรจาเพิ่ม)

ส่วนคู่แข่งสำคัญอื่นๆ เช่น อินเดีย ซึ่งใกล้เจรจาสำเร็จ น่าจะลดลงจาก 26% ซึ่งเป็นอัตรา ณ วันที่ 2 เมษายน

ก็หมายความว่า เรามีทางเลือกไม่มาก

ทางสายแรก - ถ้าเราละล้าละลัง เราคงจบที่ 36%

ความเสียหายของเราในกรณีนี้จะอยู่กับภาคส่งออกที่ใหญ่เป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของ GDP

แต่เนื่องจากภาคส่งออกใหญ่มาก

การเยียวยาภาคการส่งออกทั้งหมด เป็นเรื่องที่ยากที่จะดูแลได้

งบประมาณที่ทุกคนพูดกันที่ 2 แสนล้านบาท อาจจะไม่พอ

โดยรัฐบาลอาจจะต้องใช้งบประมาณเยียวยาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากลูกค้าเราเปลี่ยนไปใช้ Suppliers ในประเทศคู่แข่ง

ยิ่งไปกว่านั้น Tariffs 36% จะสร้างความเสียหายต่ออนาคตของไทยอย่างหนัก

เพราะขณะนี้ ไทยกำลังต่อสู้อย่างเข้มข้น ในเกมส์ของการแย่งบริษัทยุคใหม่จากต่างประเทศ ให้เข้ามาตั้งบริษัทในไทย มาช่วยเปลี่ยนฐานการผลิตของเราให้เข้าสู่โลกยุคใหม่

ความจริงแล้วในเรื่องนี้ เราเสียเปรียบเวียดนามและอินโดนีเซียอยู่แล้ว

เพราะเวลานักลงทุนพิจารณาเลือก Location เขามักจะบอกว่า กำลังดูอยู่ที่ เวียดนาม อินโดนีเซีย โดยมีไทยติ่งท้ายเป็นอันดับที่ 3

แต่ด้วยอัตรา Tariffs 36% เทียบกับคู่แข่งที่ 19%-20% ในช่วงต่อไป บริษัทเหล่านี้คงพูดว่า อาเซียนน่าสนใจมาก เขากำลังพิจารณาเลือกระหว่างเวียดนามกับอินโดนีเซีย ถ้าจะมีประเทศที่สาม ก็คงเป็นมาเลเซีย

ไทยจะเริ่มออกจากเรดาห์ เริ่มถูกทุกคนทิ้งไว้ข้างหลัง

ไม่มีการผลิตที่จะเป็นฐานที่ดี ให้รัฐจัดเก็บรายได้

ไม่มีอนาคตที่สดใส

ความเสียหายรวมแล้ว จะมากเกินกว่าที่เราจะรับได้ !!!

หมายความว่า เราต้องดิ้นรน ไม่ตกอยู่ในทางเลือกนี้

แล้วเราเหลือทางออกอะไร

ทางออกที่เหลืออยู่ก็คือ "เข้าสู่การเจรจา"

ยิ่งคู่แข่งเจรจาสำเร็จแล้ว เราก็ยิ่งถูกกดดันให้เข้าสู่การเจรจา

ซึ่งเรื่องนี้ นอกจากไปเจรจาแบบละล้าละลัง เรายังมีอีก 2 ทาง

ทางสายที่สอง - เสนอไปแบบเวียดนามและอินโดนีเซีย

0% และ Total Access และ Non Tariff Barrier Free

ซึ่งจะมีนัยยะกับทุกภาคส่วน แต่หากคิดว่าทางนี้ เป็นการให้มากไป กระทบวงกว้างไป

ก็จะเหลือทางสายที่สาม - ทางสายกลาง

เจรจา แต่ไม่ให้หมด

เริ่มจากสูตรสำเร็จของเวียดนามและอินโดนีเซีย

ประเภท 0% และ Total Access

แล้วถามตนเองว่า อะไรที่เราให้ไม่ได้จริงๆ

เอาออกไปจากโต๊ะเจรจา รับสภาพกับการที่จะได้อัตราไม่ต่ำเท่ากับเวียดนามและอินโดนีเซีย

ยอมสูงกว่าเล็กน้อย เพื่อแลกมากับการที่เราจะสามารถดูแลบางภาคส่วน ที่เราคิดว่ายอมไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลคงต้องเลือกว่าจะมีอะไรบ้าง

โดยมีเป้าที่ชัดเจนว่า จะต้องจบให้ได้ที่เท่าไร เรื่องนี้ คิดว่าตัวเลขที่เราต้องพยายามให้ได้คือ 25%

เพราะหากอัตรา Tariffs ลดลงมาเพียงเล็กน้อยที่ 30%

ยังจะมีส่วนต่างกับคู่แข่ง 10-11%

คงยากที่เราจะแข่งขันได้ ทั้งในเรื่องส่งออกและการดึงดูดการลงทุน

แต่ถ้าจบได้ที่ 25%

จะเหลือส่วนต่างประมาณ 5%-6% ให้เอกชนปรับตัว

ภาคส่งออกโดยรวมก็จะยังไปได้ ความจำเป็นที่จะต้องเยียวยาภาคส่งออกก็จะน้อยลงมาก

ส่วนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็ยังจะไปได้เช่นกัน

บริษัทที่กำลังเลือกในการลงทุน ก็จะยังไม่มองข้ามไทย

โดยมีรัฐช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ทดแทนส่วนต่าง 5-6% ดังกล่าว ตั้งแต่พลังงาน กฏระเบียบ ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ให้โดยรวมแล้ว ไทยยังน่าสนใจ

ในทางเลือกนี้

ประเทศก็จะยังมีความเสียหาย

แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น จะบริหารจัดการได้

โดยความเสียหายต่อภาคส่งออกและอนาคตระยะยาวของไทยจะมีบ้าง แต่ไม่มากเกินไป

ทั้งสองจะยังเป็นฐาน ให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ และนำรายได้มาเยียวยาภาคเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดให้สินค้าสหรัฐเข้ามาแข่งขันครั้งนี้

ส่วนเงินเยียวยาที่เตรียมไว้ 2 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอ และเมื่อกระบวนการปรับเปลี่ยนได้ดำเนินไป ความต้องการเยียวยาก็จะค่อยๆ ลดลง

ทางสายกลางนี้ น่าจะเป็น ทางเลือกที่เราเสียหายน้อยที่สุดในระยะยาว

ส่วนเรื่องฐานทัพที่หลายคนพูดถึงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

ถ้ามองจากกรอบนี้

ถ้ายอม ก็จะกระทบกับการดึงดูดการลงทุน

สร้างความเสียหายกับอนาคตของไทย

เพราะเอกชนคงไม่อยากมาอยู่ในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงที่จะขัดแย้ง เป็นเป้าหมายทางการทหาร

ซึ่งเป็นความเสียหายที่ยิ่งใหญ่

ได้ระยะสั้น แต่เสียหายระยะยาว

คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

ขอเป็นกำลังใจให้กับทีมเจรจาครับ

#มุมมองดรกอบ #Trump #ReciprocalTariffs #Thailand #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #ข่าววันนี้ #เจรจาสหรัฐ #เศรษฐกิจไทย #ส่งออกไทย #ลงทุนต่างชาติ #TrumpTariff #ThailandEconomy