ถกภาษีทรัมป์คืนนี้ "เผ่าภูมิ" ยันไทยเจรจายึดหลักสมดุล ไม่เหมาลดภาษี 0% ชี้ผู้ชนะไม่ได้แปลว่าได้ภาษีต่ำสุด

วันที่ 17 ก.ค.68 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในช่วงค่ำวันนี้ (17 ก.ค.68) ทีมไทยแลนด์ นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีกำหนดเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ เตรียมบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 36% ทีมไทยแลนด์ มีการชั่งน้ำหนักผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยจากการเจรจาภาษี โดยยึดหลักความสมดุล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลคนไทยทั้งประเทศ อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการเจรจา ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะไม่ได้ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ให้กับสหรัฐฯ แบบ 100% เหมือนที่หลายประเทศได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากรัฐบาลต้องมองภาพใน 2 มิติคือ ไม่ได้มองแค่ภาพของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่งออกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศด้วย

ทั้งนี้ แม้ภาคการส่งออกจะมีผลสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าในส่วนอื่น แต่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลผลกระทบทั้งสองฝั่ง คงดูแลเฉพาะภาคส่งออกอย่างเดียวไม่ได้ การดำเนินงานจึงต้องพิจารณาแนวทางที่จะต้องได้ผลที่เหมาะสมและสมดุลมากที่สุด พร้อมมองว่า ผู้ที่ชนะ ไม่ใช่ผู้ที่ได้อัตราภาษีต่ำที่สุด แต่เป็นผู้ที่สามารถรักษาสมดุลได้มากที่สุดมากกว่า

"ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ สิ่งที่เราจะไปลดภาษีลงนั้น ต้องแลกมาด้วยสิ่งที่เราจะต้องเปิดมากขึ้น นั่นหมายถึงจะมีผู้เดือดร้อนมากขึ้น ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการสร้างความสมดุล ต้องชั่งน้ำหนักทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งผู้ส่งออก และฝั่งประชาชนในประเทศ ต้องพิจารณาผลกระทบทุกภาคส่วนให้ครบ โดยเรื่องการลดภาษีให้ 0% นี้ยังอยู่ในกระบวนการ เราจะต้องมีส่วนที่กันไว้สำหรับประชาชนในประเทศ ผู้ที่ผลิตสินค้าในประเทศ ถ้าหากเราเปิดอะไรที่มากเกินสมควร ก็จะทำให้มีสินค้าเข้ามาแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น ก็อาจจะต้องมีบางส่วนที่เราสามารถกันไว้สำหรับสินค้ายุทธศาสตร์ของประเทศ" รมช.คลัง กล่าว

นายเผ่าภูมิ ยังชี้แจงข้อเท็จจริงของผลการเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐ กับเวียดนามว่า มีภาษี 2 อัตรา คือ 20% และ 40% ซึ่งในส่วนนี้มีหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าในประเทศ (Regional Value Content : RVC) ที่จะเป็นตัววัดสัดส่วนมูลค่าที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในประเทศให้สอดคล้องกับเกณฑ์ใหม่ของสหรัฐฯ ดังนั้นหากสินค้าชนิดนั้นมี local content สูงก็จะได้ภาษี 20% แต่ถ้ามากเกินเส้นแบ่งของ RVC สินค้านั้นก็จะโดนภาษี 40% เกณฑ์ RVC นี้แต่ละประเทศจะถูกกำหนดแตกต่างกันออกไป ไม่เท่ากัน

"ถามว่าไทยจะทำแบบเวียดนามได้ไหม คำตอบคือทำได้ เราสามารถยื่นข้อเสนอเป็น total asset ได้เลย และเชื่อว่าหากเรายื่นแบบนั้นเราจะได้ rate ภาษีที่ต่ำกว่าเวียดนามแน่นอน แต่ถามว่าคุ้มไหม ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกัน และหากไปดูข้อเท็จจริง เราจะพบว่าเวียดนามโดนภาษี 40% เยอะกว่า 20% เพราะเวียดนามเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการผลิตในประเทศไม่สูง มีการนำเข้ามา และมาเพิ่มมูลค่าในประเทศเพื่อส่งออก ดังนั้น RVC ของเวียดนามจึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะโดน 40% สูงกว่า 20% เทียบกับไทยที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่โตมานาน มีสัดส่วนการผลิตในประเทศและผลิตในภูมิภาคสูง เพราะฉะนั้นหากใช้เกณฑ์เดียวกัน rate เดียวกัน แปลว่าไทยได้เปรียบมากกว่า ดังนั้นเวลาจะพูดถึงเวียดนามว่าได้ภาษี 20% อย่างเดียวไม่แฟร์ เพราะเขามี 2 rate" รมช.คลังกล่าว

#เจรจาภาษี #เศรษฐกิจไทย #ส่งออกไทย #RVC #ทีมไทยแลนด์ #ภาษีนำเข้า #ThaiUSDeal #เวียดนาม #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #ข่าววันนี้ #ภาษีทรัมป์