"เผ่าภูมิ รมช.คลัง" เผย "ทีมไทยแลนด์ เจรจาภาษีสหรัฐ มุ่งเจรจาต้องได้ดิวที่ดีที่สุด เน้นประโยชน์ต่อประเทศเป็นสำคัญ
วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ทีมไทยแลนด์ นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง มีกำหนดการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐเย็นวันนี้ (17 ก.ค.) เพื่อเจรจาเรื่องอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีที่ไทยได้รับอยู่ที่ 36% และยังอยู่ในกระบวนการเจรจาเพิ่มเติม
ทีมไทยแลนด์มุ่งหวังผลลัพธ์การเจรจาที่ดีที่สุด ซึ่งเราต้องชั่งน้ำหนักโดยมองใน 2 มิติ คือ ผลกระทบที่ผู้ส่งออกจะได้รับ และมุมผู้ผลิตในประเทศทั้งภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกร ที่จะได้รับผลกระทบหากไทยเปิดเสรีให้สหรัฐ
"ไม่ใช่แค่มองว่าอัตราภาษีไทยจะได้เท่าไหร่ แต่ต้องมองมิติของผู้ได้รับผลกระทบในประเทศด้วย มันไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ข้อเสนอที่เรายื่นไปเพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรสหรัฐ อาจต้องแลกมากับการเปิดตลาด ย่อมมีผู้เดือดร้อน ทีมเจรจาจึงต้องชั่งน้ำหนัก"
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า โจทย์ของการเจรจาที่สำคัญที่สุดคือการยื่นข้อเสนอที่มีความสมดุล ผู้ที่ชนะในการเจรจาไม่ใช่ผู้ที่ได้อัตราภาษีที่ต่ำที่สุด โดยยังต้องปกป้องสินค้ายุทธศาสตร์ไทย แม้ว่าภาคการส่งออกจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า แต่รัฐบาลต้องดูแลทั้งประเทศ ผู้ผลิตในประเทศมีจำนวนมากทั้งไทยสามารถยื่นข้อเสนอแบบเวียดนามที่เปิด Total Access ให้กับสหรัฐได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ส่งออกไทยได้รับอัตราภาษีที่ต่ำลง แต่จะเป็นข้อเสนอที่คุ้มค่าหรือไม่ ก็ต้องกลับมาชั่งน้ำหนักว่าผู้ประกอบการในประเทศจะเป็นอย่างไร
ส่วนไทยจะเสนอลดภาษีนำเข้า 0% หลายหมื่นรายการให้สหรัฐหรือไม่ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการ เพราะต้องมีส่วนที่กันเอาไว้สำหรับผู้ผลิตสินค้าในประเทศ หรือ สินค้ายุทธศาสตร์ของประเทศ
"มีความเป็นไปได้ที่เราจะไม่เปิดทั้งหมด 100% เหมือนที่เวียดนามและอินโดทำ เพราะเราก็ต้องปกป้องผู้ผลิตในประเทศด้วย ถ้าเราเปิดอะไรที่มากเกินสมควรก็จะทำให้มีสินค้าเข้ามาแข่งและกระทบกับผู้ผลิตสินค้าในประเทศ"
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า เวลาพูดถึงเวียดนามคนมักพูดถึงอัตราภาษีที่ 20% แต่ความจริงเวียดนามได้อัตราภาษี 2 ระดับ คือ 20% และ 40% โดยใช้เกณฑ์สัดส่วนสินค้าที่มีส่วนประกอบในประเทศหรือภูมิภาค (Regional Value Content: RVC) เป็นตัวแบ่ง โดยหากสินค้ามีสัดส่วน RVC สูงก็จะได้อัตราภาษีที่ 20% และ หากสินค้ามี RVC ต่ำก็จะได้อัตราภาษีที่ 40%
"ตอนนี้เวียดนามโดนอัตราภาษี 40% มากกว่า 20% เพราะเวียดนามเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการผลิตในประเทศไม่สูง มีการนำเข้ามาเพิ่มมูลค่าในประเทศก่อนส่งออกไปมากกว่า ดังนั้นหากเทียบกับไทยที่ผลิตในประเทศและภูมิภาคสูง ซึ่งหากขีดเส้นที่อัตราเท่ากันไทยจะได้เปรียบกว่า ดังนั้นก็อยู่ที่การเจรจา"