ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] พระมหากรุณาธิคุณ ในความทรงจำดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (จบ) ถึงตรงนี้ดร.สุเมธพูดถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่าทรงบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตั้งแต่บนฟ้ากระทั่งถึงน้ำใต้ดินจรดทะเล ทรงมีโครงการตามแนวพระราชดำริตั้งแต่ฝนหลวง เขื่อน อ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำใต้ดิน ตั้งแต่ภูเขาสู่ทะเล ทรงอนุรักษ์ผืนป่าและทรงเน้นการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ยั่งยืนให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดไป “หลักของการพัฒนาตามแนวพระราชดำรินั้นทรงให้ยึดหลักภูมิสังคม คือให้ยึดหลักภูมิประเทศและยึดหลักให้เกียรติคน เนื่องจากภูมิประเทศในแต่ละภาคนั้นไม่เหมือนกัน ภาคเหนืออย่างหนึ่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างหนึ่ง ภาคใต้อย่างหนึ่ง ภาคกลางอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นโครงการแต่ละโครงการที่ทำในที่แห่งหนึ่งสำเร็จไม่ได้หมายความว่าทุกแห่งต้องทำสำเร็จหมด เพราะภูมิประเทศไม่เหมือนกันและโดยเฉพาะคนไม่เหมือนกัน ในปัญหาเรื่องเดียวกันคนทางเหนือกับคนทางใต้คิดไม่เหมือนกัน จะตัดสินใจแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน คนภาคอีสานก็ตัดสินใจไม่เหมือนคนภาคกลางเสมอไป เพราะฉะนั้นพระองค์รับสั่งว่าเราต้องให้ความเคารพในความคิดที่หลากหลายของผู้คนด้วย” ดร.สุเมธพูดถึงความทรงจำต่อไปว่า จำได้ว่าเมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯไปที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีหมู่บ้านกะเหรี่ยงอยู่ตรงนั้น เขาแบ่งกลุ่มอย่างดีเลย กลุ่มหนึ่งทำนา กลุ่มหนึ่งเลี้ยงสัตว์ กลุ่มหนึ่งทำพืชสวนพืชไร่ เวลากลุ่มหนึ่งล้มเหลวอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาพยุงทันที ทรงหันมารับสั่งว่า “อย่าไปเปลี่ยนแปลงเขานะ อันนี้เป็นระบบประเพณี ภูมิปัญญาของชาวบ้าน หลักการปฏิบัติดีแล้ว อย่าไปเปลี่ยนแปลงเขา”ในกรณีภาคใต้มีรับสั่งว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”คือจะต้องเข้าใจก่อน เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจคน เข้าใจหลักปฏิบัติ เข้าใจจารีตประเพณีต่างๆ และจากเราเข้าใจเขา และจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจเราด้วย การเข้าใจนี้เป็นสองทาง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงคือต้องให้ ให้เขาเข้าใจเราด้วยไม่ว่าวิธีใดก็แล้วแต่ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาขยายความต่อด้วยว่าการเข้าถึงเหมือนกันเราต้องเข้าถึงเขาที่สุด กระบวนการทำงานของข้าราชการจะให้บริการประชาชนนั้นก็ต้องเข้าถึงเขาและที่สำคัญที่สุดคือเขาอยากเข้าถึงเราด้วย ทุกอย่างต้องเป็นสองทางจึงจะเกิดความสมบูรณ์ ความสำเร็จ คือต่างฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน การพัฒนาต้องการพัฒนาที่สอดคล้องตกลงร่วมกัน เห็นพ้องต้องกัน นั่นคือสุดยอดของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระองค์ทำให้ได้แล้วความสงบจะกลับมา “นอกจากนั้นพระองค์ได้พระราชทานคำว่า รู้ รัก สามัคคี ซึ่งเป็นคำสามคำที่มีค่าและมีความหมายที่สุดในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง หมายความว่าการจะทำอะไรก็ตามที่มีปัญหาไม่ต้องทะเลาะกัน เราต้อง “รู้” เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร รู้ถึงปัญหา รู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา เมื่อรู้ครบถ้วนทุกประการแล้วก็ยังไม่พอ ควรจะมี “ความรัก” ความรักในที่นี้คือความเมตตาที่จะให้เข้ามาแก้ปัญหานั้นๆ คำสุดท้าย “สามัคคี” เมื่อเรารู้ปัญหา เรามีเมตตา อยากจะเข้าไปแก้ปัญหาให้คำนึงเสมอว่า เราทำงานคนเดียวไม่ได้จะต้องช่วยกันทำเป็นกลุ่มประสานสัมพันธ์กัน สามัคคีกันจนเป็นเอกภาพ จะมีพลังเข้าไปแก้ไขปัญหา” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้พูดถึงแนวพระราชดำริหลักการดำเนินชีวิตที่พระราชทานแก่ประชาชคนไทยคือทรงให้ยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” หมายถึงว่าการพัฒนาตามแนวพระราชดำรินั้นว่ามีวัตถุประสงค์ต้องทำให้คนอยู่ได้ด้วยการ “พึ่งตนเอง” ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงแนะนำแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรด้วย โดยทรงให้ยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง”ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนถึงระดับรัฐ รวมไปถึงการนำไปใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศ “เจตจำนงของหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริคือการเดินสายกลาง ด้วยความพอประมาณ การมีเหตุผลและการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวให้พ้นจากความฟุ้งเฟ้อ ซึ่งบรรลุผลได้โดยใช้เครื่องมือคือคุณธรรมและความรู้ ทุกวันนี้ประเทศไทยมีปัญหาเพราะเพราะทำเรื่องเกินตัวทั้งนั้น ดังนั้นทำอะไรต้องนึกถึงพละกำลังของตัวเองเป็นหลักว่าไปได้แค่ไหน ไม่ควรทำเรื่องเสี่ยง ทำแต่พอเพียง ไม่น้อย ไม่มาก แต่ต้องมีประสิทธิภาพ ใช้สติปัญญาเป็นเครื่องมือนำทาง ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าบริหารความเสี่ยงและปฏิบัติกับชีวิตของตนเหมือนเล่นการพนัน ต้องรอบคอบ บ้านเมืองเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมก๋เปลี่ยนตาม ต้องขวนขวายหาความรู้ให้เท่าทันโลกโดยใช้คุณธรรมนำทาง” ดร.สุเมธย้ำว่าถ้าปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริคนไทยจะมีความสุขขึ้นอีกมาก และมีความยั่งยืนด้วย ไม่ใช่เศรษฐกิจโตแล้วแตกโตแล้วแตกเหมือนเช่นทุกวันนี้ ซึ่งองค์การสหประชาชาติก็ได้รับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปณิธานของเขาด้วย โดยนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวว่า ปรัชญานี้เน้นการเดินทางสายกลาง ทำให้สหประชาชาติมีปณิธานมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้คนเป็นเป้าหมายศูนย์กลางแห่งการพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนต่อไป เพราะฉะนั้นเรื่องของหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง”จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรับสั่งเตือนประชาชนให้ดำเนินชีวิตที่มีเหตุมีผล มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน และทำอะไรก็ตามต้องอยู่บนฐานของการใช้ความรู้ รอบรู้ รอบคอบและมีคุณธรรม “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรักแผ่นดิน รักประชาชน ทรงทำทุกอย่างให้แผ่นดิน ให้ประชาชน ขณะที่เสด็จฯแปรพระราชฐานได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ของประชาชน ประชาชนเมื่อมาฝ้าฯรับเสด็จฯก็จะกราบบังคมทูลถึงปัญหาต่างๆซึ่งพระองค์ทรงรับฟังปัญหาจากปากคำของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่รับฟังปัญหาและทรงเข้าไปแก้ไข ไม่ทรงวางเฉย พระองค์ได้รับสั่งเมื่อผมได้เข้าไปถวายงานวันแรกซึ่งซาบซึ้งและจับใจมาก และผมได้ยึดเป็นวิถีชีวิตมาจนทุกวันนี้ มีรับสั่งว่า “ดีแล้วขอบใจที่จะมาช่วยงานฉัน แต่เข้ามาทำงานกับฉันนั้น ฉันไม่มีอะไรจะให้นะ นอกจากความสุขที่จะร่วมกันจากการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น”ผมคิดว่าตลอดระเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงช่วยเหลือประชาชนมากมายสุดที่จะพรรณนา ในทุกๆด้านที่ประชาชนและประเทศชาติประสบปัญหาพระองค์พระราชทานความช่วยเหลือทุกด้าน อาทิทางด้านสังคมสงเคราะห์ การแพทย์การสาธารณสุข การศึกษา การแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง การแก้ปัญหาจราจรและอื่นๆ รวมทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดทำโครงการต่างๆอาทิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สำนักงานกปร.รับผิดชอบ บัดนี้ได้กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศประมาณ กว่า 5,000 โครงการ” ดร.สุเมธพูดถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ผ่านโครงการส่วนพระองค์บ้าง เป็นโครงการส่วนพระองค์ที่ได้ทรงค้นคว้า วิจัย ทดลองจนเกิดผลอันเป็นโครงการทรงดำเนินการด้วยพระองค์เองเช่น โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยบอกว่าเมื่อผลเป็นที่ถ่องแท้แก่พระราชหฤทัยแล้วว่าเป็นทฤษฎีที่ใช้ได้และเป็นการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดผลดีจึงพระรชทานเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีนั้นๆไปสู่เกษตรกรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและอดีตเลขาธิการกปร.บอกว่าโครงการหลวงเป็นโครงการพระราชทานที่ทรงมุ่งพัฒนาชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ ด้วยการปลูกพืชผักเมืองหนาวแทนฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า โครงการหลวงได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อปีพ.ศ.2531 นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2531 ด้วย มูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาต่างๆจำนวนมากตามแนวพระราชดำริ เช่นด้านการศึกษา ด้านการเกษตร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมเป็นต้น รวมทั้งงานเฉพาะกิจอาทิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ พระมหากรุณาธิคุณที่ดร.สุเมธได้บอกเล่าสู่สังคมนับจำนวนครั้งไม่ถ้วนผ่านการบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ สถาบันการศึกษาต่างๆ ผ่านข้อเขียนตลอดจนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือวางอยู่ตามแผงหนังสือทั่วไป อันเป็นช่องทางให้ประชาชนจำนวนมากได้รับรู้และมีโอกาสร่วมกันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และนี่เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ขออนุญาตน้อมนำเอาพระมหากรุณาธิคุณโดยดร.สุเมธถ่ายทอดให้ประชาชนได้สัมผัสอีกคราวหนึ่ง และมาถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงคิดค้นแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆมาให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนในอีกทางหนึ่ง เช่นการใช้ผักตบชวากำจัดน้ำเสีย ที่ทรงเรียกว่า “การใช้อธรรมปราบอธรรม” การ “ปลูกหญ้าแฝก” การ “แกล้งดิน”การทำแก๊สโซฮอลล์ทรงทดลองใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์แทนน้ำมันดีเซล ได้แก่ “น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดน้ำมันปาล์ม” พระราชทานโครงการ “แก้มลิง” พระราชทานเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ พระราชทานฝนหลวงเป็นต้น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประดิษฐ์เครื่องจักรกลหลายประเภทที่ใช้พลังงานมนุษย์หรือสัตว์เพื่อให้เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปนำไปใช้ รวมทั้งได้พระราชทาน กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเมื่อปีพ.ศ. 2536 และกังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับรางวัล 5 รางวัล ในงานนักประดิษฐ์ของโลกที่กรุงบรัสเซลประเทศเบลเยี่ยม โดยทรงได้รับจาก The Beigium Chamber of Inventor ซึ่งเป็นองค์กรที่ประดิษฐ์ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรปจำนวน 5 รางวัลและคณะกรรมการนานาชาติได้กล่าวสดุดีพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า “พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นนักพัฒนา มีพระวิริยะออันสูงส่ง รวมทั้งพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ที่ดี ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์ ทรงใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่าย สิ่งประดิษฐ์ในพระองค์สามารถนำไปพัฒนาใช้งานได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลบอกอย่างภาคภูมิใจและด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่าผู้คนทั่วโลกขนานพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่า “The Great King”เพราะพระองค์ท่านทรงเป็นกษัตริย์ที่ทำงานและทรงเสียสละพระองค์ตลอดเวลา คนถึงขนานพระนามพระองค์ว่า “Working Monarch” ทรงทำงานหนักด้วยความเหนื่อยยาก พระบาทสมเด็จพระปปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงได้รับการเทิดพระเกียรติเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พระบิดาแห่งฝนหลวง และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2554 ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” “หลักการสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระองค์จะทรงเน้นการปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดู และจูงใจนักเรียนให้มาสนใจ แต่ไม่เคยทรงสั่งหรือทรงบังคับให้ทำ จะทรงสอนอย่างละเอียดให้เข้าใจทุกแง่มุมและที่สำคัญทรงเน้นเสมอว่า การสอนควรยึดรากฐานเดิมของสังคมไทยไว้ ไม่ควรคัดลอกจากต่างประเทศมากเกินไป แต่อาจนำหลักการมาเปรียบเทียบได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาพระองค์พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆขึ้นมากมาย ซึ่งถ้าสนใจศึกษาโครงการฯที่พระองค์พระราชทานจะได้รับความรู้ที่ก่อประโยชน์มากมายมหาศาล” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการกปร.คนที่1 ปัจจุบัน คือกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา สรุป ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยเป็นล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้