23 แห่งชี้ สอศ.ละเลย พ.ร.บ.อาชีวศึกษา"สุเทพ"นัดถกหาทางออก นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม นายกสภาสถาบันอาชีวศึกษาภาคกลาง 2ประธานคณะกรรมการนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ในการประชุมนายกสภาสถาบันอาชีวศึกษา ทั้ง 23 แห่ง ประกอบด้วยสถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่ง และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร 4 ภูมิภาค เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ในเรื่องการกระจายอำนาจให้สภาสถาบันการอาชีวศึกษา เนื่องจากสถาบันการอาชีวศึกษา ทั้ง 19 แห่ง และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร 4 ภูมิภาค จัดตั้งมา 4-5 ปีแล้ว แต่กลับยังไม่มีการกระจายอำนาจ ไม่มีงบประมาณดำเนินการให้แก่สถาบัน งานจึงเดินไปไม่ได้ ซึ่งหมายความว่ามีสถาบัน แต่ไม่มีความสมบูรณ์ แม้แต่การแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร ผู้อำนวยการสถาบันก็ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) ได้ขอให้สถาบันการอาชีวศึกษา ทั้ง 23 แห่ง มาประชุมในวันที่ 18-19 ม.ค.2560 เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขแล้ว นายวิศวะ คงแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ กล่าวว่า เดิมนั้น สอศ.คิดว่าระยะแรกของการตั้งสถาบัน คงยังไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะรับการกระจายอำนาจ แต่ขณะนี้กลายเป็นว่าหน่วยงานบังคับบัญชา ยังไม่มีความพร้อมที่จะกระจายอำนาจ หมายความว่า 6-7 ปีที่ผ่านมา สอศ.ไม่ได้เตรียมกระบวนการในการกระจายอำนาจไว้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้สถาบันการอาชีวศึกษาขับเคลื่อนไปได้อย่างไร จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่รองรับการจัดการศึกษาของชาติได้อย่างไร เพราะไม่มีกระบวนการใดบอกได้ว่า สถาบันจะสามารถบริหารได้ภายใต้กระบวนการกระจายอำนาจ อีกทั้งการสั่งการก็ไม่ได้สั่งผ่านสถาบัน แต่กลับเป็นการสั่งการตรงไปยังสถานศึกษา ซึ่งทำให้มองได้ว่าเป็นเพราะความไม่เข้าใจ หรือมีเจตนาที่จะไม่กระจายอำนาจกันแน่ "ผมอยากถามกลับ เมื่อไม่มีการกระจายอำนาจให้สถาบันได้บริหารตาม พ.ร.บ.อาชีวศึกษา แล้ว สอศ.ต้อง การให้ทำอะไร เพราะเดิมเจตนาคือการต้องการให้ผลิตบัณฑิตสายเทคโนโลยี/ปฏิบัติการ แต่เมื่อไม่มีการกระจายอำนาจ ให้สถาบันดำเนินการแล้วจะพัฒนาบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศได้อย่างไร"นายวิศวะ กล่าว