“ศปถ.” เผยยอด " 7 วันอันตราย" ตายพุ่ง 478 ราย บาดเจ็บรวม 4,128 คน ถอดบทเรียนหวังลดอุบัติเหตุสงกรานต์ 5 ม.ค. 60 – ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้สรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2560 ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ในระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 59 – 4 ม.ค. 60 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,919 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 478 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 4,128 คน ทั้งนี้ ศปถ.ได้ประสานจังหวัดสรุปผลการดำเนินงาน วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน ถอดบทเรียนการทำงาน พร้อมบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนน ภายใต้ 5 เสาหลักตามแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ควบคู่กับการลดปัจจัยเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบการประสานพลังกลไก “ประชารัฐ” เน้นการใช้มาตรการทางสังคมและชุมชนในการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ เพื่อให้ประเทศไทยมีการสัญจรที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2560 กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 4 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 340 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 52 ราย ผู้บาดเจ็บ 367 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 33.53 ทัศน์วิสัยไม่ดี ร้อยละ 24.71 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.23 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.53 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 43.82 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 30.00 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 47.77 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,042 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,647 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 596,808 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 95,432 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี 13 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา 15 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.59 – 4 ม.ค.60 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,919 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 478 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 4,128 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 36.59 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 31.31 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.82 รถปิกอัพ ร้อยละ 8.00 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 61.78 ถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.92 ถนนใน อบต.หรือหมู่บ้าน ร้อยละ 36.49 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.24 ซึ่งผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.22 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง และสตูล จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี และเชียงใหม่ 152 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี 33 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และอุดรธานี 164 คน ในช่วง 7 วัน เรียกตรวจยานพาหนะรวม 4,419,430 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 727,438 ราย สำหรับข้อมูลปริมาณรถของศูนย์ปฏิบัติการคมนาคม พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2559 – 4 มกราคม 2560 มีปริมาณรถบนท้องถนนขาเข้าและขาออกกรุงเทพฯ จำนวน 11,053,835 คัน เมื่อเทียบกับช่วงปกติ มีปริมาณรถ 8,765,808 คัน เพิ่มขึ้นจำนวน 2,288,027 คัน คิดเป็นร้อยละ 26.10 จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น “สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2560 มีจำนวนอุบัติเหตุผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา สำหรับสาเหตุหลักยังคงเกิดจากการเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 69.15 ทางศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ประสานให้จังหวัดยึด 5 เสาหลักตามแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนเป็นกรอบในการดำเนินงาน ครอบคลุมการวางกลไกการบริหารจัดการอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นระบบ การยกระดับการสัญจรและยานพาหนะที่ปลอดภัย การสร้างจิตสำนึกและวินัยจราจรในกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน และการจัดการหลังเกิดอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะการป้องกันอุบัติเหตุจากการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ และอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ การกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตขับรถให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และการส่งเสริมการคาดเข็มขัดนิรภัยในผู้โดยสารทุกที่นั่ง เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง” รมช.มหาดไทย กล่าวและว่า ศปถ.ขอให้จังหวัดสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2560 ถอดบทเรียนวิเคราะห์สาเหตุปัจจัยเสี่ยง รวมถึงสภาพปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนภารกิจการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ เพื่อให้ประเทศไทยมีการสัญจรที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการลดอุบัติเหตุทางถนนระยะยาว กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้จังหวัดใช้กลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบการประสานพลังกลไก ประชารัฐ เน้นการใช้มาตรการทางสังคมและชุมชนในการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ เพื่อเสริมกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน โดยให้จังหวัดเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนเชิงรุกที่ครอบคลุมทุกช่องทางสื่อ เพื่อสร้างรากฐานวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก ถอดบทเรียนการทำงานของทุกภาคส่วน จะได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จมาเป็นต้นแบบให้แต่ละพื้นที่ นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาบริบททางสังคม เพื่อเสริมสร้างกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้เป็นระบบที่เข้มแข็ง รวมถึงนำปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนในการทำงานมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนมุ่งสร้างถนนทุกสายของประเทศไทยเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยเพื่อให้ทุกการเดินทางใน 365 วันบนถนนของเมืองไทยมีความปลอดภัย