“พระบารมีปกเกล้าฯ” เรียนรู้พระบรมราโชวาท ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้และเพื่อความเป็นสิริมงคลของปวงชนชาวไทย กระผมขอนำเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านเกี่ยวกับพระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่พระราชทานในวโรกาสต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนและดำเนินชีวิตของปวงชนชาวไทยทุกท่าน ซึ่งขออัญเชิญมา ดังนี้ พระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ความตอนหนึ่งว่า "...ชาติไทยเรามีศิลปวัฒนธรรมครบถ้วนทุกสาขา สิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติอันล้ำค่าที่บ่งบอกให้เห็นถึงความเจริญของชาติไทยและคนไทย ซึ่งบรรพชนของเราได้สร้างสมมาหลายชั่วอายุคน ผู้มีจิตสำนึกในความเป็นคนไทย จึงควรศึกษาให้เห็นซึ้งถึงคุณค่า และร่วมกันจรรโลงรักษาไว้เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้มีสิ่งที่ควรแก่การภูมิใจในความเป็นชาติไทยและคนไทยตลอดไป..." พระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏประจำปีการศึกษา  ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ณ  อาคารใหม่  สวนอัมพร เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ ความตอนหนึ่งว่า “...วิชาความรู้ที่บัณฑิตได้ศึกษามา แม้จะเป็นปัจจัยอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงให้แก่ตนแก่ส่วนรวมก็จริง แต่บุคคลผู้สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ดังกล่าวให้สำเร็จได้นั้น นอกจากต้องมีความรู้ในหลักวิชาดีแล้วยังต้องอาศัยคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมากที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ ความจริงใจ. ความจริงใจนี้ มีอยู่สองประการด้วยกัน.ประการหนึ่งความจริงใจต่อตนเอง คือเมื่อตั้งใจจะกระทำการใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แท้แล้ว ก็ติดตามรักษาความตั้งใจที่จะกระทำดังนั้นให้ตลอด. ผู้มีความจริงใจต่อตนเอง ไม่ว่าจะกระทำการใด จึงประสบแต่ความสำเร็จและความเจริญ.  อีกประการหนึ่ง คือความจริงใจต่อผู้อื่น ได้แก่ความซื่อตรงและความเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นโดยบริสุทธิ์ใจ. ผู้มีความจริงใจต่อผู้อื่น ย่อมได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ สามารถร่วมงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ซึ่งเป็นผลดีทั้งแก่งานและสังคมส่วนรวม. จึงขอฝากไว้ให้บัณฑิตได้คิดพิจารณา สำหรับเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ความสำเร็จและความเจริญต่อไป...” พระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของนายทหารและนายตํารวจชั้นนายพล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๙ ความตอนหนึ่งว่า “…การที่ท่านได้รับพระราชทานยศสูงขึ้น ก็หมายความว่า ท่านมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น พร้อมกับได้รับเกียรติเพิ่มขึ้น. ความรับผิดชอบนี้ ถ้าดูตามคํา ก็เรียกว่า ต้องรับผิดในสิ่งที่ทําผิด และรับชอบในสิ่งที่ทําชอบ แต่แท้จริงแล้วมีความหมายที่กว้างขวางกว่านั้น ในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวได้เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ที่ประชุมนี้ไว้ว่า ความรับผิดชอบนี้ คือจะต้องพิจารณาด้วยตนเองให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่า เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ทําเป็นผู้น้อย เป็นผู้ใหญ่ ก็จะต้องพิจารณาว่า อะไรที่จะทําให้งานการในหน้าที่เจริญดีขึ้นและมีผลสําเร็จ ต้องทําด้วยตนเอง เพราะว่าเป็นผู้ใหญ่. ฉะนั้น การที่ได้รับยศสูงเพิ่มความรับผิดชอบนี้ ก็หมายความว่า จะต้องมีความคิดพิจารณายิ่งๆ ขึ้น เป็นสิ่งที่หนักที่จะต้องรับหน้าที่ เพราะว่า เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมามากขึ้นทุกทีอย่างนี้ก็มีผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้น และเมื่อมีผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้นถูกเพ่งเล็งมากขึ้น. ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติตัวด้วยความดี ด้วยความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์แล้ว ผู้ใต้บังคับบัญชา และคนอื่นที่หวังพึ่งจะนับถือ. จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาทบทวนพระบรมราโชวาทดังกล่าว ให้ทราบโดยตระหนัก แล้วตั้งใจประพฤติตนปฏิบัติงานให้เที่ยงตรงหนักแน่น ตามคําสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้ ก็จะเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรี เป็นความดีความเจริญ ทั้งแก่ตัวท่านเอง และหน่วยงาน ทั้งแก่ส่วนรวมตลอดถึงชาติบ้านเมือง…” พระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ความตอนหนึ่งว่า "...ตามที่รายงานให้ทราบว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะสร้างเสริมให้บัณฑิตมีความรู้ ความสามารถที่ก้าวหน้าทันการณ์ทันสมัย และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและส่วนรวม โดยยึดถือปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทนั้น น่าพอใจอย่างมาก ข้าพเจ้าจึงขอเชิญพระบรมราโชวาทที่เคยพระราชทานแก่บัณฑิตในที่ประชุมนี้เกี่ยวกับความเป็นครู ซึ่งเป็นคุณสมบัติประการสำคัญที่จะส่งเสริมบุคคลให้เป็นคนดีมีคุณค่า ให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่าความเป็นครูหมายถึงการมีความรู้ดี ประกอบด้วยหลักวิชาที่ถูกต้องแน่นแฟ้นและแจ่มแจ้งแก่ใจ รวมทั้งคุณความดี และความเอื้ออารี ปรารถนาที่จะถ่ายทอดเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้มีความรู้ความเข้าใจที่ดีด้วย ความแจ่มแจ้งแน่ชัดในใจย่อมทำให้สามารถส่องแสดงความรู้ออกมาให้เข้าใจตามได้โดยง่าย ทั้งในการปฏิบัติงาน ก็ย่อมทำให้ผู้ร่วมงานได้เข้าใจโดยแจ่มชัด ส่วนความหวังดีโดยบริสุทธิ์ใจนั้น จะน้อมนำให้เกิดศรัทธาแจ่มใสมีใจพร้อมที่จะรับความรู้ด้วยความเบิกบาน ทั้งพร้อมที่จะร่วมงานกับผู้ที่มีคุณสมบัติของครูโดยเต็มใจและมั่นใจ ดังนี้ ก็จะทำให้กิจการใดๆที่กระทำอยู่ดำเนินไปโดยสะดวกราบรื่น และสำเร็จประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสมบูรณ์ ความเป็นครูจึงมิใช่คุณสมบัติเฉพาะสำหรับครูเท่านั้น หากแต่เป็นคุณสมบัติที่จะอำนวยประโยชน์เกื้อกูลมาก แก่คนทุกคนและแก่กิจการทุกอย่าง บัณฑิตทั้งหลายแต่ละคณะแต่ละคน ล้วนเป็นผู้มีพื้นฐานวิชาการแน่นแฟ้นดีอยู่แล้วน่าจะศึกษาเรื่องความเป็นครูให้เห็นจริง  และอบรมให้บังเกิดขึ้นพร้อมในตนเองบ้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน ในชาติบ้านเมืองของเรา...” ในโอกาสอันเป็นมงคลเข้าสู่ศักราชใหม่ปี ๒๕๖๐ นี้ กระผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านศึกษาเรียนรู้พระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่พระราชทานในวโรกาสต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนและดำเนินชีวิตของทุกท่านสู่ความสุข สวัสดี เจริญทั้งกายและใจ และเป็นพลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตลอดกาลนานครับ