เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ไทยเบฟฯ พาคณะสื่อมวลชนเดินทางสู่จังหวัดเชียงใหม่ โครงการ “ตามรอยพ่อ” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นายอดุลย์ มีสุข นักวิชาการโครงการศูนย์ศึกษาห้วยฮ่องไคร้ฯ ให้การตอนรับ พร้อมบรรยายความเป็นมา โดยสรุปว่า เมื่ออดีตพื้นที่ของภาคเหนือส่วนมากเป็นภูเขาอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีไม้ สัตว์ป่า แหล่งน้ำลำธาร ต่อมามีการลุกล้ำทำลายจากการตัดไม้ทำลายป่าผลก่อให้เกิดสภาพเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง ป่าไม่มีน้ำก็หมดไป สภาพพื้นที่ได้แปลงเปลี่ยนเป็นภูเขาโลนความแห้งแล้งเข้ามาเยือนพื้นที่จึงแทบไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้เลย นายอดุลย์ บอกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงปัญหาอันนำมาซึ่งความทุกข์เดือดร้อนแก่ประชาชนทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยการพัฒนาพื้นดิน สร้างป่าไม้ และพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร พร้อมทั้งพัฒนาคนโดยการสร้างอาชีพหยุดยั้งไม่ให้เกิดการทำลายป่าไม้ จึงเป็นที่มาของพระราชดำริการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ขึ้น ทรงพระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525 มีพื้นที่โครงการประมาณ 8,500 ไร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ที่ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิตเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือโดยทรงให้ความสำคัญกับหลักภูมิสังคม คือ ลักษณะของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมของพื้นที่ในภาคเหนือ โดยศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ เป็นศูนย์กลางหลักของภาคเหนือครอบคลุมทั้งหมด 17 จังหวัดที่มีการขยายผลการทดลองต่าง ๆ ให้ประชาชนได้มาศึกษาที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เป็นแนวทางหลักในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ อาทิเช่น การสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งแรกที่พระองค์ท่าน ทรงให้มีการทำฝายชะลอน้ำเพื่อรักษาความชุมชื่นให้กับพื้นที่ป่า เมื่อมีความชุมชื้น ป่าจะดี พระราชทานพระราชาธิบายว่า การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น “จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย” ในส่วนของรูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า “...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและ ตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บกักไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะ สามารถปลูก พันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...” ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงแยกออกเป็น 2 ประเภท ดังพระราชดำรัส คือ “...Check Dam มี 2 อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้นรักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่...” และปัจจุบันพื้นที่ของศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ สร้างฝายชะลอน้ำกว่า 500 ตัว ก็เพื่อให้พื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่า มีความอุดมสมบูรณ์ และทรงมีพระราชดำรัสว่า “ดินไม่ดีอย่างไรนั้นไม่กลัว ถ้าหากมีน้ำ ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกก็ได้” นายอดุลย์ กล่าว ด้าน นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ได้นำหลักแนวความคิดของการพัฒนาป่าไม้ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ให้เหมาะสม นั่นคือ การปลูกป่าแบบเบ็ดเสร็จนั้นไว้ด้วยลักษณะของ 3 ป่า ที่ทุกคนจะคุ้นเคยและได้ยินหลักการพัฒนาป่าไม้ที่ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่างแต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง สำหรับประโยชน์อย่างที่ 4 ก่อเกิดประโยชน์การอนุรักษ์ดินและน้ำ ให้ความชุ่มชื้นต่อพื้นที่ป่าไม้ดีขึ้น เอื้ออำนวยต่อต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ และพระองค์ท่าน ทรงมีพระราชดำริ เกี่ยวกับพื้นที่ต้นน้ำลำธารจะต้องเป็นหลักมีความอุดมสมบูรณ์นั้นต้องมีต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม จึงเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมศึกษา ค้นคว้า ทดลอง ทดสอบ หาแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูและการอนุรักษ์บริเวณต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ที่มีสภาพแห้งแล้ง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับชาวเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ได้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช “...เป้าหมายหลักของโครงการแห่งนี้ คือ การฟื้นฟูและอนุรักษ์บริเวณต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งมีสภาพแห้งแล้งโดยเร่งด่วน โดยทดลองใช้วิธีการใหม่ เช่น การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำในระดับบนลงไปตามแนวร่องน้ำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ความชุมชื้นค่อยๆ แผ่ขยายตัวออกไป สำหรับน้ำส่วนที่เหลือก็จะไหลลงอ่างเก็บน้ำในระดับต่ำลงไป เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านงานเกษตรกรรมต่อไป...” (อ่านต่อฉบับหน้า) รายงาน / ฤทัยรัตน์ เมื่องกฤษณะ