“ปภ.” แจง น้ำท่วมใต้ ดับแล้ว 31 ราย แจง 10 จว.ใต้ยังนองน้ำ ด้าน “ยะลา-ระนอง” คลี่คลายแล้ว แจงภาคกลางตอนล่างมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง เตือนที่ราบเชิงเขาระวังดินโคลนถล่ม แนะเรือเล็กงดออกจากฝั่งไปอีก 1 วัน วันที่ 11 ม.ค. 60 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ประจำวันที่ 11 ม.ค. ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 117 อำเภอ 700 ตำบล 5,145 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 394,509 ครัวเรือน 1,188,871 คน ผู้เสียชีวิต 31 ราย สูญหาย 2 ราย สถานที่ราชการเสียหาย 17 แห่ง ถนน 592 จุด คอสะพาน 106 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ ยะลา และระนอง ยังคงมีสถานการณ์ใน 10 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 94 อำเภอ 579 ตำบล 4,073 หมู่บ้าน โดยจังหวัดพัทลุง น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ นราธิวาส น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่13 อำเภอ สงขลา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ปัตตานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 9 อำเภอ ตรัง น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ สุราษฎร์ธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 17 อำเภอ นครศรีธรรมราช น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 23 อำเภอ ชุมพร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ กระบี่ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ และประจวบคีรีขันธ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ โดยในภาพรวมสถานการณ์ในปัจจุบันยังมีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำทรงตัวและระดับน้ำลดลงในบางพื้นที่ นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามจากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าบริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกสะสม ส่งผลให้พื้นดินชุ่มน้ำ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ดินไหลและดินถล่ม ส่วนภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ปภ. จึงได้ประสานจังหวัดภาคใต้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่านริมชายฝั่งทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่า ไหลหลาก และดินโคลนถล่ม พร้อมจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ประกอบการทางน้ำและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน