"อภิสิทธิ์"นำปชป. ถกปรองดอง ด้าน " พล.ต.คงชีพ" เผยภาพรวมการหารือ เสนอ ปฏิรูปพรรคการเมือง ขจัด ปัญหานายทุน ระบุ รบ.มีขอบเขตใช้อำนาจ และ ปรับปรุงองค์กรอิสระ ติง ยุทธศาสตร์ชาติ ต้องอ่อนตัว เมื่อวันที่ 17 ก.พ.เวลา 12.30 น.ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะโฆษก คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวภายหลัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค เดินทางเข้าหารือ พูดคุยกับคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เพื่อร่วมสร้างแนวทางความสามัคคีปรองดองพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะตามกรอบ 10 ประเด็น ที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กำหนดว่า วันนี้ถือเป็นวันที่ 4 ที่คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยวันนี้เป็นคิวของพรรคประชาธิปัตย์ โดยก่อนหน้านั้นได้เชิญ พรรคประชากรไทย พรรครวมพลัง พรรคไทยมหารัฐพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า สำหรับบรรยากาศการพูดคุยทั้งหมดได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และพรรคการเมืองมีการเตรียมข้อมูลมาเป็นอย่างดีเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็น และพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ มีข้อสรุปข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ในด้านการเมือง โดยมองปัญหาหลักในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันและการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้มองว่าในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่คน ประชาชนไม่ไว้วางใจนักการเมือง เนื่องจาก นักการเมืองไม่เคารพสิทธิ์และรับฟังกันและกัน ภายใต้รัฐธรรมนูญ และขาดสปิริตความรับผิดชอบ พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง ถือเป็นปัญหาหลักของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีการระดมทุนก่อให้เกิดนายทุนพรรคและเกิดการตอบแทนกัน ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองจึงมองว่ามีความสำคัญที่สุดที่ต้องดำเนินการก่อน โดยพรรคการเมืองมีข้อเสนอว่าประชาธิปไตยต้องเดินคู่กับหลักนิติธรรมและรัฐบาลต้องมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ไม่ใช่ไม่มีข้อจำกัด พร้อมทั้งไม่ก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ และมีกลไกบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กรอิสระด้วย ให้สามารถทำงานได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพและไม่ถูกแทรกแซง พร้อมทั้ง ต้องสร้างการเรียนรู้และยอมรับของประชาชน ในสิทธิหน้าที่ของตัวเอง ร่วมกันพัฒนาระบบเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม และมีส่วนร่วมในการควบคุมอำนาจรับด้วย และทุกฝ่ายต้องเคารพในสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องความไม่สุดโต่ง มีความพอประมาณมีเหตุผลรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน และมีภูมิคุ้มกันรับรู้ว่าอะไรที่จะเป็นจุดเสี่ยง พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า สำหรับประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้ความสำคัญในเรื่องของที่ดินทำกิน การบริหารจัดการน้ำ ต้องมีการปฏิรูปเร่งด่วน ทำด้วยความจริงจังโปร่งใส เพราะมองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและช่องว่างในมิติต่างๆ ส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงโครงสร้าง และปัญหาอื่นอื่นตามมา นายทุนยังมีอิทธิพลทุกรัฐบาล และรัฐบาลเองก็ต้องแก้ปัญหาให้มีการกระจายรายได้ สำหรับกระบวนการยุติธรรมมองว่ายังมีลักษณะสองมาตรฐานและต้องได้รับการปฏิรูปและสร้างการตรวจสอบสมดุลอย่างแท้จริงโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมีการตรวจสอบจากภายนอกได้ ส่วน คนที่ไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรม มองว่าอาจมีสาเหตุจาก ที่มาขององค์คณะองค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงประชาชนเป็นเหตุของการเชื่อได้ว่ามีการแทรกแซงองค์กรอิสระจึงทำให้เกิดอคติและไม่ยอมรับและไม่ยึดหลักนิติธรรม พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า สำหรับในด้านการทุจริตคอรัปชั่น พรรคการเมืองมองเรื่องของการ ปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดิน ให้โปร่งใส มีกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณ มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพและมีความจำเป็นในการปลูกฝังค่านิยมและสร้างการตระหนักรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อความเสียหายที่จะเกิดจากการทุจริตคอรัปชั่นและต้องมีความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ และสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ในสวนการทุจริตเชิงนโยบาย พรรคการเมืองมองว่าไม่ควรถูกผลประโยชน์ของกลุ่มของพวกตัวเอง ไปกับการลงนามในสัญญาระหว่างประเทศและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในวิธีการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวกับการทุจริตให้มากขึ้น พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ในด้านของต่างประเทศ พรรคการเมือง มองว่าไม่ควรขยายประเด็นความขัดแย้ง ของพรรคการเมืองโดยยกของเรื่องประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมเสรีภาพไปขยายผล และทำลายพรรคการเมืองอื่น จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ ในขณะเดียวกันต้องเปิดพื้นที่รับฟังกลุ่มที่เรียกร้องให้ข้อคิดเห็น ในกรณีที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพต้องได้รับความคุ้มครองภายใต้ขอบเขตบริบทของประเทศที่เหมาะสม พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า เรื่องยุทธศาสตร์ชาติโดยพรรคการเมืองมองว่าต้องมีเกิดการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงยุทธศาสตร์ชาติ ถึงจะเป็นที่ยอมรับในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ชาติเอง ต้องมีความอ่อนตัวซึ่งจะมีความเป็นกังวลอยู่บ้างว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นการกำหนด อนาคต หรือเป้าหมายระยะยาว ซึ่งกังวลว่าอาจจะต้องมีการปรับปรุงวิสัยทัศน์ในระยะยาวด้วยสำหรับการปรองดอง พรรคการเมืองมองว่าอยากให้มีเจ้าภาพเดียว และที่ดำเนินการอยู่ถูกต้องแล้วและไม่วิจารณ์ข้อคิดเห็นของกลุ่มต่างๆในที่สาธารณะและเปิดกว้างกับความความคิดเห็นทุกไฟล์และเห็นว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องทำความจริงให้ปรากฏ พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ข้อคิดเห็นของพรรคการเมืองทุกพรรคถือเป็นประโยชน์ร่วมกันและกระบวนการปรองดองจำเป็นต้องมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจไปด้วยกัน ขอให้เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันไม่วิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีค่าสารสื่อสาธารณะที่จะกลายเป็นเงื่อนไขอุปสรรคของการเดินหน้าปรองดองทั้งนี้ต้องขอเวลาให้คณะทำงานได้รวบรวมความคิดเห็นทุกพรรคการเมืองอย่างครบถ้วนและขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะทำให้ดีที่สุด สำหรับในวันที่ 20 ก.พ.เวลา 13.00 น.-16.00 น.จะเชิญพรรคประชาธรรม พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน พรรคประชาสามัคคี และในวันที่ 21 ก.พ. เวลา 13.00 น.-16.00 น.จะเชิญพรรคปฏิรูปไทยพรรคพลังคนกีฬาและพรรคเพื่อชีวิต