คือ หัตถา และ น้ำพระราชหฤทัย หล่อเลี้ยงชาวนาไทย (จบ) เสียงหวานพระพุทธเจ้าข้า “หลังจากวันนั้นท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะ ได้นำกระถางต้นข้าวที่ทางสถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรีได้ปลูกเตรียมไว้ไปถวายสาธิตการเกี่ยวข้าวให้พระองค์ทอดพระเนตรและทรงทดลองเกี่ยวข้าวที่กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ผมมีหน้าที่ถวายสาธิตการเกี่ยวข้าว ผมจบเกษตรที่แม่โจ้และเคยทำนาด้วยจอบมาก็จริง แต่ไม่มีการสอนภูมิปัญญาท้องถิ่นถึงวิธีการเกี่ยวข้าวมาก่อนผมต้องไปขอเรียนรู้จากปราชญ์ชาวนา ฝึกฝนจนเป็นก่อนที่จะมาถวายการสาธิตให้พระองค์ทอดพระเนตร ผมกราบบังคมทูลว่าถ้าเราเกี่ยวข้าวตรงๆตอซังจะขาดยาก ถ้าเกี่ยวเฉียงจะขาดง่าย ต้นข้าวสมัยก่อนสูงบรรพบุรุษของเราจึงเกี่ยวเฉียงเป็นปากฉลาด ตอซังที่เป็นปากฉลาดจะบาดเข่าได้ชาวนาจึงต้องพันผ้าไว้ที่ขา แต่ตอข้าวปัจจุบันไม่สูงจึงเกี่ยวให้เฉียงเพียง 20 องศาก็ใช้ได้ พระพุทธเจ้าข้า แล้วผมก็ถวายสาธิตโดยใช้เคียวโน้มต้นข้าวก่อนจึงใช้มือรวบแล้วเกี่ยว พระองค์ทรงปฏิบัติตาม โดยเกี่ยวจากกระถางที่หนึ่ง สอง สาม สี่ พอไปถึงกระถางที่ห้า เสียงเคียวเกี่ยวข้าวขาดดังเฉี้ยบ ผมกราบบังคมทูลว่าเสียงหวานพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงพระสรวล ด้วยความพอพระราชหฤทัย และทรงเกี่ยวข้าวจนครบ 20 กระถาง อย่างตั้งมั่นในพระราชหฤทัย แล้วทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า พระองค์จะเสด็จฯไปทรงเกี่ยวข้าวที่ได้หว่านไว้เมื่อข้าวสุก ทำให้หัวใจของพวกเราพองโตด้วยความยินดี” นายสุขสันต์ มลิทองกล่าวอย่างมีความสุข ไชโยโอรสาธิราช วันที่ 14 สิงหาคม 2529 เป็นโอกาสแห่งความปลื้มปีติอีกครั้งของชาวสุพรรณบุรี เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯนำพสกนิกรเก็บเกี่ยวข้าวแปลงนาสาธิต ณ บึงไผ่แขก ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ณ ที่ซึ่งพระองค์ได้ทรงปลูกข้าวไว้ ภาพการถวายงานในการเสด็จฯ ครั้งนี้ของนายอารีย์ วงศ์อารยะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนั้นได้ถูกเลือกให้เป็นบุคคลในภาพแห่งความทรงจำ 7 ภาพเช่นกัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ทรงมีต่อชาวนา และทรงมีพระราชวินิจฉัยคัดเลือกภาพถึง 3 ภาพในการเสด็จฯทรงทำนาที่จังหวัดสุพรรณบุรีให้เป็น 3 ใน 7 ภาพบุคคลแห่งความทรงจำ ในโครงการตามหาบุคคลในภาพพระราชกรณียกิจ “บรรยากาศในวันนั้นพสกนิกรจำนวนมากได้มาร่วมเกี่ยวข้าวพร้อมกับพระองค์มากมายจนเต็มท้องนา มีเสียงเพลงไชโยโอรสาธิราชที่เปิดจากเครื่องขยายเสียง และเสียงแซ่ซ้องของพสกนิกรดังกึกก้องไปทั่ว พระองค์ทรงเกี่ยวข้าวอยู่นานจนเสร็จ พระเสโทไหลชุ่มพระวรกาย แต่พระพักตร์ของพระองค์ปรากฏรอยแย้มสรวล สร้างความชื่นชมยินดีแก่ผู้ที่มาเฝ้าชื่นชมพระบารมี ในครั้งนั้นพระองค์ทรงพระราชทานพันธุ์ข้าวให้ข้าราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนชาวไร่ชาวนา และเจ้าของนา หลังจากวันนั้นทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ในการเสด็จฯทำนาทั้ง 3 ครั้งแก่ท่านผู้ว่าฯ ไว้จัดแสดงอันเป็นที่มาของการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาวนาไทยที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสร้างขึ้นที่หน้าศาลากลางหลังเก่า ปัจจุบันได้ย้ายไปที่ศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรีบริเวณศาลากลางจังหวัดแห่งใหม่ อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร” นายสุขสันต์เล่าต่อด้วยความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติที่ได้ถวายงานรับใช้และได้ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด เคียวด้ามทองคำคู่พระหัตถ์ ในการเสด็จฯทรงเกี่ยวข้าวเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2529 นั้น ข้าราชการในจังหวัดสุพรรณบุรีได้ร่วมกันจัดทำเคียวทองคำความยาว 42 เซนติเมตร ด้ามเคียวหุ้มด้วยทองคำ น้ำหนัก 7 บาท 3 สลึง สลักเสลาเป็นลายกนกเครือวัลย์ คอเคียวมีความโค้งมากแบบคอนกกระทุงจึงเรียกว่า “เคียวคอนกระทุง” พระองค์ทรงพระราชทานเคียวด้ามทองคำคู่พระหัตถ์ที่ทรงใช้ในการเกี่ยวข้าวครั้งประวัติศาสตร์นี้แก่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทยตราบจนปัจจุบัน ร่วมกับพันธุ์ข้าวพระราชทานรวงข้าวมงคล 9 รวง แรกที่ทรงเกี่ยว ซึ่งเป็นข้าวเจ้าพันธุ์ กข23 และอุปกรณ์ที่ทรงใช้อื่นๆ อาทิ บัวรดน้ำ ขันน้ำ พลั่ว รถไถ และเครื่องนวดข้าว เป็นต้น ที่พิพิธภัณฑ์ยังได้จัดแสดงภาพถ่ายและจำลองเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 ครั้งนี้ไว้ด้วย ธ ทรงเป็นขวัญข้าวชาวนาไทย เป็นที่ประจักษ์ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวารางกูร ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทพระบรมราชชนกในด้านการเกษตร โดยเฉพาะข้าวและการทำนา จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงปลูกฝังในวิถีการเกษตรไว้ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ เมื่อเจริญวัยขึ้นยังได้โดยเสด็จฯ พระบรมราชชนกไปทั่วถิ่นแคว้นแดนไทยเป็นเนืองนิตย์ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรชาวไทยอย่างมิทรงรู้เหน็ดเหนื่อย พระราชจริยวัตรอันงดงามของทั้งสองพระองค์นับเป็นแบบอย่างและเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของปวงชนชาวไทย ที่โชคดีมีพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงห่วใยดูแลทุกข์สุขของราษฎรเสมอมา นันทนา เปรมานุศิษฎ์ /เรื่อง สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ ภาพ วารสารวัฒนธรรม ข่าวที่เกี่ยวข้อง: คือ หัตถา และ น้ำพระราชหฤทัย หล่อเลี้ยงชาวนาไทย (1)