กรมจัดหางาน-กรมสุลแจง กมธ. กางแผนช่วยเหลือ อพยพแรงงานไทย พร้อมเยียวยาครอบครัว กต.เผยร่างแรงงานไทยเสียชีวิต 7 ราย กลับถึงไทยวันนี้ ด้านปานปรีย์ ย้ำ กต. เร่งประสานเมียนมา-จีน พา 162 คนไทย ออกจากเล้าก์ก่ายให้เร็วที่สุด 

     ที่รัฐสภา วันที่ 8 พ.ย.66 นายธีระชัย แสนแก้ว ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมมาธิการติดตามแรงงานไทยที่รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล เป็นประธานในการประชุมเพื่อติดตามช่วยเหลือแรงงานไทย โดยได้เชิญกรมจัดหางาน และกรมการกงสุลมาให้ข้อมูล ก่อนเดินทางไปจ.อุดรธานีวันที่ 9 พ.ย.นี้ เพื่อไปเยี่ยมครอบครัวของผู้ที่สูญเสียชีวิตและครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมจัดหางานได้รายงานตัวเลขแรงงานที่เดินทางกลับประเทศ 8,815 คน และมีแรงงานมายื่นคำร้อง รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศแล้ว 6,661 คน โดยพิจารณาสั่งจ่ายกองทุน 2,386 คน เป็นวงเงินกว่า 37 ล้านบาท และทางกระทรวงแรงงานมีคำสั่งให้ลงพื้นที่พบแรงงานมาแล้ว 2,654 คน ในจำนวนนี้สอบถามการช่วยเหลือด้านทำงาน ปรากฏว่ามีคนตอบแบบสอบถามประสงค์ทำงานต่างประเทศ 1,374 คน ประสงค์ทำงานในประเทศ 139 คน และต้องการประกอบอาชีพอิสระ 389 คน ที่เหลือยังลังเลต้องการพักผ่อน 

     ขณะที่กรมการกงสุล รายงานว่า สถานการณ์สู้รบยังคงรุนแรงระดมยิงชายแดนฉนวนกาซาและกรุงเทลอาวีฟอย่างต่อเนื่อง และทางสถานทูตได้จัดเที่ยวบินรับแรงงานไทยแล้ว 35 เที่ยวบิน เพื่อรองรับการอพยพคนไทยกว่า 7,000 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการแผน 2 
       เอกอัครราชทูตไทยได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่ของอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวานนี้รมว.เกษตรของอิสราเอล เชิญทูตไปพบเพื่อสอบถามจำนวนแรงงานไทย เพราะจะต้องคำนวณตัวเลขรายงานสำหรับการชดเชย ที่ใช้แรงงานในประเทศและกำลังทำข้อตกลงกับศรีลังกาที่จะนำเข้าแรงงานจำนวน 10,000 คน แทนที่แรงงานไทย สิ่งที่รมว.เกษตรแจ้งทูตไทยคือเรื่องหลักประกันความปลอดภัยของพื้นที่บางส่วนที่รายงานสามารถทำงานได้ เช่นพื้นที่เขตทะเลทรายอาราว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย และทางอิสราเอลหวังให้แรงงานไทยอยู่ ซึ่งแรงงานไทยยังอยู่อิสราเอลอีก 20,000 คน โดยกระจายไปในจุดที่ไม่ใช่เป้าของการโจมตี ทางอิสราเอลพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายไทยพิจารณาส่งแรงงานไทยกลับ แต่ไทยตอบกลับว่าหาก สถานการณ์กลับไปเป็นปกติแรงงานไทยจะกลับไปแน่เพราะการทำงานที่อิสราเอลรายได้ดี" ?

     ทั้งนี้กรรมาธิการยังสอบถามถึงแนวทางการดำเนินการอพยพแรงงานไทยกับประเทศ แนวทางการจงใจแรงงานและการสื่อสารเพื่อให้แรงงานกลับประเทศ และการติดตามช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายโดยมีทายาทร่วมกันเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์

     ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งกำหนดการส่งร่างผู้เสียชีวิตแรงงานไทย ที่เสียชีวิตในอิสราเอล ชุดที่ 4 จำนวน 7 ราย กลับประเทศไทย โดยจะถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เที่ยวบิน LY081 ในวันพรุ่งนี้(9 พ.ย.) เวลา 12.15 น. ประกอบด้วย นายเศรษฐา โฮมสร ,นายดัว แซ่ย่าง ,นายไกรสร อรัญถิตย์ ,นายเกียรติศักดิ์ พาที ,นายธวัชชัย แซ่ท้าว ,นายศรายุทธ ปั้นกิจวานิชเจริญ และนายปพนธนัย โป่งเครือ ก่อนหน้านี้ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับประเทศแล้ว 3 ครั้ง รวม 26 ราย
    
 วันเดียวกัน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึง ความคืบหน้ากรณีการอพยพคนไทย 162 คน ที่ติดค้างอยู่ในเมืองเล่าก์ก่ายประเทศเมียนมา ว่า ขณะนี้คนไทยทั้งหมดยังมีความปลอดภัย โดยอยู่ในความดูแลของรัฐบาลเมียนมา โดยกำลังมีการประสานกับทั้งรัฐบาลเมียนมาและประเทศจีน เพื่อให้คนไทยสามารถออกมาโดยเร็วที่สุด
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสามารถเคลื่อนย้ายคนไทยออกจากเมียนมาได้เมื่อไร นายปานปรีย์ กล่าวว่า จะทำให้เร็วที่สุด เพราะในเมียนมาก็มีการสู้รบกันหนักเหมือนกัน ซึ่งรัฐบาลเมียนมาก็เป็นห่วงว่าหากให้เดินทางในช่วงนี้จะเกิดอันตรายได้ ดังนั้นต้องดูว่าช่วงไหนที่การเดินทางจะปลอดภัยที่สุด