"บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก" ร่วมแถลงโครงการ ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน ผ่านไป 2 ปี คัดแยกบุคคลในทะเบียนประวัติอาชญากรได้เพียง 3.7 จาก 13 ล้านคน คืนสิทธิประชาชน 9.3 ล้านคน กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ "ผบ.ตร."เผยไม่สามารถใช้ได้กับ"ทักษิณ" เพราะมีโทษสูงกว่า 1 ปี และเป็นโทษหนัก 

  ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย.66 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร., พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แห่งศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผู้แทนจากกรมการจัดหางาน, ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงโครงการ ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน
 
ซึ่งปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบประวัติของบุคคลจำนวนมาก เพื่อคัดกรองบุคคลเข้าทำงาน โดยประชาชนต้องแสดงผล การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ประกอบในการสมัครงาน ซึ่งมีประชาชนจำนวนมาก ที่เคยมีประวัติถูกดำเนินคดีอาญา แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง จะยังมีประวัติอาชญากรรม อยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้ถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาส กลับไปใช้ชีวิตใหม่ ทำให้ขาดรายได้ และอาจทำให้ต้องก่ออาชญากรรม

ในการแก้ไขปัญหา ทาง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในขณะนั้น จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.(ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เข้ามาจัดทำโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า รายการที่ยังไม่เคยมีการรายงานผลคดีถึงที่สุด ในฐานข้อมูลกองทะเบียนประวัติอาชญากร จำนวนกว่า 13 ล้านรายการ
 
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงได้เรียกประชุมเร่งรัดติดตามผลคดีถึงที่สุดเป็นประจำทุกเดือน ภายในระยะเวลา 1 ปีเศษ สามารถลบหรือคัดแยกประวัติอาชญากรรม ให้แก่บุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ได้ จำนวนประมาณ 2 ล้านรายการ เทียบเท่ากับที่เคยทำมาตลอดระยะเวลา 10 ปี ก่อนเริ่มโครงการ
 
ต่อมา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กำกับดูแลปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจ ไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ ปี 2561 โดยร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ ปี 2566
 
ได้มีการลงนามและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พ.ค.66 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งเป็นไปตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ หรือ Presumption Of Innocence ว่าในคดีอาญาหากไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

 โดยมีการปรับปรุงการจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 ทะเบียน ได้แก่ 1.ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา 2.ทะเบียนประวัติอาชญากร และ3.ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร การปรับปรุงหลักเกณฑ์การถอนประวัติ ออกจากฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็น 9 ข้อ คือ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง, ยกฟ้อง, มีกฎหมายยกเลิกความผิดนั้น, ผู้เสพยาเสพติด ที่ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่มีผลเป็นที่น่าพอใจ, ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม, มีกฎหมายล้างมลทิน, ได้รับการอภัยโทษ, ไม่มีการกระทำความผิดซ้ำภายใน 20 ปี, ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน, มีคำพิพากษาใหม่ว่ามิใช่ผู้กระทำความผิด และคดีขาดอายุความ

 ผลการแบ่งทะเบียนในการจัดเก็บข้อมูล และหลักเกณฑ์การคัดแยกประวัติอาชญากรรมตามระเบียบนี้ ทำให้มีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรเพียง 3,729,173 ราย จากทั้งหมด 13,051,234 ราย สามารถคืนสิทธิให้กับประชาชน จากโครงการนี้จำนวนกว่า 9.3 ล้านคน ในขณะเดียวกันยังสามารถใช้ข้อมูล เพื่ออำนวยความยุติธรรมในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ตามอำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ

 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เปิดเผยถึงโครงการ ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน ว่า ช่วยคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน ได้แล้ว 9.3 ล้านคน จากกว่า 13 ล้านคน ในช่วงปีที่ผ่านมา มองว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในการจะไม่เสียสิทธิ เช่น โทษเมาแล้วขับ จะไม่ใช่อาชญากร แต่ในส่วนของบริษัทเอกชน แต่ละบริษัทมีหลักเกณฑ์ มาตรฐานในการรับคนทำงานไม่เหมือนกัน แต่ยอมรับว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 100% แต่จะพยายามแก้ปัญหาให้คนได้รับสิทธิมากที่สุดในการกลับไปใช้ในชีวิตในสังคม
 
ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปรับปรุงการให้บริการประชาชนในการตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นผู้ที่อยู่ในโครงการลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชนหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ www.crd-check.com
 "เมื่อท่านมีชื่ออยู่ในโครงการ หมายความว่าประวัติอาชญากรรมของท่าน ได้ถูกทำการคัดแยก และถอนประวัติเรียบร้อยแล้ว" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าว
  
สำหรับในประเด็นของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ระหว่างต้องโทษและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่สามารถใช้ได้กับนายทักษิณ เพราะมีโทษสูงกว่า 1 ปี และเป็นโทษหนัก ซึ่งประเด็นของนายทักษิณนั้น ผ่านขั้นตอนของตำรวจไปแล้วไม่ได้อยู่ในความดูแลของตำรวจ แต่อยู่ในการดูแลของกระบวนการยุติธรรม หรือกรมราชทัณฑ์ ส่วนจะมีการพระราชทานยศคืนนายทักษิณหรือไม่นั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เปิดเผยว่า ไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
   
  วันเดียวกัน ที่บริเวณด้านหน้าอาคารกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล พร้อมด้วย นายนัสเซอร์ ยีหมะ จัดกิจกรรมปราศรัย เพื่อขอเข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) ทวงถามรายละเอียดกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจก่อนจะครบ 90 วัน
  
   นายพิชิต กล่าวปราศรัยในตอนหนึ่งว่า การรักษาตัวของนายทักษิณ จะครบ 90 วัน ในวันจันทร์ที่ 20 พ.ย.นี้ ซึ่ง รมว.ยธ. ยังมีเวลาในการพิจารณาเซ็นเอกสารให้ส่งตัวนายทักษิณเข้าเรือนจำ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมาขอเข้าพบในวันนี้ พร้อมย้ำว่า รมว.ยธ. ต้องให้เหตุผลอธิบายให้ได้ว่าทำไมยังคงนายทักษิณรักษาตัวอยู่ต่อ โดยกรณีของนายทักษิณ จะเป็นตราบาปของ รมว.ยธ. ที่จะต้องแก้ไข และคืนความเป็นธรรมให้กับคำตัดสินของศาลว่านายทักษิณจะต้องติดคุก โดยยกกรณีของนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ เสี่ยแป้ง นาโหนด ที่หนีออกจากโรงพยาบาล ตำรวจใช้งบประมาณ และกำลังพลเป็นจำนวนมากในการตามหา ส่วนนายทักษิณที่นอนอยู่ รพ.ตำรวจ ก็ใช้งบหลวงมากเช่นเดียวกัน
    
   85 วัน ที่นายทักษิณ ชินวัตร อยู่โรงพยาบาลตำรวจ รักษาด้วยโรคอะไร ป่วยเป็นโรคอะไร ผ่าตัดอะไร สังคมไม่เคยรับรู้ สังคมเห็นแค่ว่านายทักษิณนอนอยู่บนเตียง และเข็นออกมาโชว์เท่านั้น นายพิชิตกล่าว
   
  นายพิชิต ยังเรียกร้องให้นำตัวนายทักษิณกลับมารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หากไม่สามารถทำได้ก็ขอให้ยุบกรมราขทัณฑ์ และ รพ.ของกรมราชทัณฑ์ทิ้งไป แล้วให้นักโทษทุกคนไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และย้ำว่าสถานะของนายทักษิณขณะนี้คือนักโทษไม่ใช่นายกรัฐมนตรี อีกทั้ง กระบวนการยุติธรรม ภายใต้การบริหารของกระทรวงยุติธรรม กำลังใช้นายทักษิณเป็นตัวตั้ง พร้อมยืนยันว่ากลุ่ม คปท. ไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลาให้นายทักษิณพักรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ที่ รมว.ยธ. ต้องตัดสินใจ ว่าจะทำเพื่อรักษากระบวนการยุติธรรม หรือจะทำลายระบบยุติธรรมเสียเอง
    
 นายพิชิต กล่าวอีกว่า  การที่นายทักษิณได้รับเอกสิทธิ์ในตรงนี้ก็เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติในสภาก็ไม่มีใครกล้าพูดถึงนายทักษิณ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายบอกว่าจะเร่งฟื้นฟูระบบนิติรัฐ และนิติธรรมของประเทศ แต่เรื่องนี้กลับทำลายระบบที่กล่าวมาทั้งสิ้น
   
  หากไม่ได้รับคำตอบในเรื่องนี้ ก็อาจจะปักหลักค้างคืน แต่จะขอดูท่าทีของ รมว.ยธ. ก่อน