นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง เตรียมแถลงใหญ่ถึงมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งระบบในช่วงปลายเดือน พ.ย.66 ว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดทั้งหมด จึงอยากให้รอความชัดเจนก่อน แต่เบื้องต้นยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้กลไกตามอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน ซึ่งจะมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน การดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นคนละส่วนกับโครงการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นเพียงการช่วยเหลือในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ครั้งนี้รัฐบาลจะใช้กลไกในการแก้ไขโครงสร้างหนี้สินอย่างจริงจังและครอบคลุมทั้งระบบ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอฟังจากนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าแนวทางการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลอาจจะทำให้ลูกหนี้ที่ดีจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) แต่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ต่อประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กมันสูงมาก จึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องยกเอาแรงกดดันเหล่านี้ออกจากประชาชนกลุ่มนี้ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เป็นการต่อลมหายใจ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าการพักหนี้ครั้งนี้ จะไม่เหมือน 13 ครั้งที่ผ่านมา ที่เป็นเพียงแค่การประวิงเวลา เพราะรัฐบาลมีกลไกประกอบหลายอย่างในการเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลหวังว่าการพักหนี้ในครั้งนี้ประกอบกับกลไกอื่น ๆ ที่รัฐลงไปจะสามารถทำให้ประชาชนพลิกฟื้นชีวิตกลับมาได้อย่างแข็งแรง

สำหรับกรณีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณยยนาเห็นชอบโครงการพักชำระหนี้ให้ครอบคลุมในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศนั้น เบื้องต้นได้ส่งเรื่องให้คณะทำงานเรื่องการพักหนี้เรียบร้อย และส่วนงานกำลังดูในรายละเอียดอยู่ เพราะต้องยอมรับว่าหนี้สหกรณ์ค่อนข้างซับซ้อน และสหกรณ์มีหลายประเภท จึงต้องมาดูว่านิยามในการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้จะรวมถึงสหกรณ์อะไรบ้าง เพราะหากรวมไปถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ ด้วย สเกลการให้ความช่วยเหลือจะใหญ่มาก

"เท่าที่ทราบเบื้องต้นข้อมูลที่มีการส่งเข้ามาเป็นกลุ่มค่อนข้างจำเพาะ แต่เมื่อเป็นกลุ่มจำเพาะก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่าเป็นกลุ่มสหกรณ์ใดที่ส่งมา คงไม่ใช่สหกรณ์ทั้งหมด และจะต้องมีเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจนว่า ทำไมสหกรณ์นี้จึงสามารถเข้าสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือได้ ส่วนสหกรณ์อื่น ๆ ถึงจะไม่เข้า เราจะต้องดำเนินการโดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถตอบสังคมได้ว่าทำไม! ตรงนี้กำลังให้ส่วนงานราชการดูเอกสารที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งมา เบื้องต้นเป็นอาจจะเฉพาะสหกรณ์เกษตร ซึ่งเราจะยึดตามข้อมูลที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเข้ามาเป็นหลัก"

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น เป็นโจทย์ที่ได้รับมอบหมายมาเช่นกัน โดยหากมุ่งเน้นการช่วยเหลือไปที่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รหัส 21 (กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) ก็จะพุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีอื่น ๆ ที่อยู่นอกกรอบไม่ได้รับความช่วยเหลือไปด้วย ดังนั้นตอนนี้จึงพยายามหารือและพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ก็ต้องอยู่ภายในกรอบภาระที่รัฐบาลรับไหว เพราะต้องยอมรับว่ามูลหนี้ของเอสเอ็มอีต่อรายค่อนข้างสูงไม่ใช่หลักแสนบาทแบบหนี้เกษตรกร ดังนั้นรัฐบาลต้องมีการหากลไกเข้าไปช่วยเสริมและสนับสนุน ซึ่งยืนยันว่าอาจจะไม่ใช่การพักหนี้ และการเข้าไปช่วยเหลือแล้วก็ต้องไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะต้องดูแล และต้องไม่ให้เกิดปัญหา Moral Hazard

อย่างไรก็ดี ในส่วนของความคืบหน้ามาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาทนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมดำเนินการจ่ายเงินให้ชาวนาไม่เกิน 2 สัปดาห์จากนี้ โดยยืนยันว่า ธ.ก.ส. ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องแต่อย่างใด แต่ต้องมีการนำเรื่องเข้าเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ธ.ก.ส. ในช่วงปลายเดือนนี้ก่อน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายภายในกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีเพียงพอดำเนินการ

 

#จุลพันธ์อมรวิวัฒน์ #หนี้นอกระบบ #สหกรณ์ #ชาวนา #แก้หนี้