วันที่ 21 พ.ย.66 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศ  เปิดเผยว่าตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการแก้หนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบ โดยให้ส่วนราชการบูรณาการแก้ไขปัญหา ในการนี้ได้มอบหมายให้ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม และคณะ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทำการแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานไทยที่หนีภัยสงครามจากประเทศอิสราเอลกลับมายังประเทศไทย
​            
โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566  กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการประสานงานกับนายอำเภอแม่แจ่ม อัยการคุ้มครองสิทธิจังหวัดเชียงใหม่ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ลงพื้นที่ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มแรงงานเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล จำนวน 35 คน และเดินทางกลับมาประเทศไทยจำนวน 21 คน ยังคงเหลืออยู่ในประเทศอิสราเอลอีกจำนวน 14 คน เพื่อชี้แจงการแก้ไขปัญหา ติดตามสิทธิต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้มอบให้กลุ่มแรงงาน ปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ 3 ปี และกู้ยืมเงินใหม่ แล้วแต่กรณี รวมถึงแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยนัดประชุมร่วมกัน ณ โรงเรียนบ้านปางอุ๋ง ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มแรงงานไทยยืนยันว่า ได้ยื่นคำร้องไว้ครบถ้วนทุกสิทธิแล้ว โดยขอให้หน่วยงานของรัฐเร่งรัดติดตาม รวมถึงหาช่องทางในการพักชำระหนี้หรือกู้ยืมเงินใหม่แล้วแต่กรณี สำหรับปัญหาหนี้นอกระบบได้มีการซักถามข้อมูลเบื้องต้น เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
​            
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กรมการปกครอง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคประชาสังคม เป็นต้น จากการสำรวจข้อมูลได้มีการเลือกพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้นที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยอาศัยฐานข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวนทั้งสิ้น 410 ราย ซึ่งในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 คณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในรูปแบบภาคีเครือข่าย

กรมสอบสวนคดีพิเศษ วางแผนลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป