เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ร่วมกับกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน ซึ่งมติคณะกรรมการค่าจ้างจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของคณะกรรมการแต่ละฝ่าย โดยเริ่มประชุมตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. หลังการประชุมหารือต่อเนื่อง 5 ชั่วโมง

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง นำตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้าง แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติเห็นชอบปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 เพิ่มในอัตราวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37% แบ่งเป็น 17 อัตรา โดยมีอัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ตคือ วันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา คือ วันละ 330 บาท 

โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข โดยกระทรวงแรงงาน จะนำเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ หรือในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป


#ค่าแรง #ค่าแรงขั้นต่ำ #ปรับขึ้นค่าแรง