"สมศักดิ์" ยอมรับ"ทักษิณ" เข้าเกณฑ์ระเบียบราชทัณฑ์ใหม่ ปฏิเสธเอี่ยวแก้ระเบียบ อธิบดีราชทัณฑ์แจงอดีตนายกฯ ขอขยายเวลารักษาตัวนอกเรือนจำหลังครบ 120 วัน ทำได้ ขึ้นอยู่กับดุยพินิจแพทย์ ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา ระบุครบ 120 วัน ยังขอพักโทษไม่ได้ ด้านศาลรธน. นัดฟังคำวินิจฉัยปม "พิธา" ถือหุ้นสื่อ 24 ม.ค.ปีหน้า หลังไต่สวนพยาน 3 ปาก 
       
    
 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.66 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวของกรมราชทัณฑ์ที่มีชื่อตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกรณีออกกฎกระทรวง ปี 2563 ว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปี 2560 เป็นกฎหมายที่ออกมาในช่วงของรัฐบาลคสช.ก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นส.ส. ซึ่งหลังจากมีการเลือกตั้งในปี 2562 ตนเข้ามาเป็นรมว.ยุติธรรม โดยได้ออกกฎกระทรวง มาตรา 33 เรื่องการจำแนก พฤติกรรม การรักษาพยาบาล ตลอดจนการเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง ในปี 2563 
    
 ต่อมามีข้าราชการ อดีตข้าราชการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เข้ามาหาตน เพื่อขอให้มีที่คุมขังนอกเรือนจำ ทั้งกับนักโทษ ผู้ต้องขัง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหา ที่ไม่ควรจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งตนก็เห็นด้วย จึงให้ปลัดกระทรวง และคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรมดำเนินการเรื่องนี้ แต่ยังไม่ทันเสร็จเรื่องตนก็ได้ลาออกจากรมว.ยุติธรรม และได้มาเห็นการทำระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาช่วงนี้ และมีการกล่าวถึงตน ยิ่งตนมีฐานะเป็นวิปรัฐบาลด้วย ทำให้มีหลายคนเข้ามาถาม ซึ่งทางวิปก็ยอมรับว่า ในช่วงที่มีการออกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี จึงขอให้ตนมาช่วยชี้แจง และทำความเข้าใจต่อสาธารณะ ในส่วนที่จะเข้าสู่กระบวนการการคัดแยกให้เป็นสากลขึ้น
   
  นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทำให้มีกระแสข่าวออกมาว่ามีการเอื้อประโยชน์กับผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ซึ่งตนก็ชี้แจงไปว่าไม่ใช่ เป็นกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในกรอบสากล เพราะฉะนั้นการจำแนกผู้ต้องขัง และมีที่คุมขังนอกเรือนจำนั้น เป็นการดำเนินการตามหลักสากล และกฎหมายนี้ก็อนุญาตให้ดำเนินการในลักษณะนี้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการอย่างครบถ้วน ตามเกณฑ์ แต่การจำคุกที่มีโทษร้ายแรง จะไม่ถูกนำมาจำแนก เรื่องนี้เป็นเรื่องการทำความเข้าใจ ขณะนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่มีตัวอย่างในกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในการคุมขัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการอธิบายเรื่องทัณฑวิทยา ซึ่งตนก็ยินดีที่จะตอบคำถามในส่วนที่ยังขัดกับความรู้สึกของประชาชน และยังมีประเด็นไหนที่น่าจะต้องปรับแก้ให้ชัดเจน ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรมอยู่ด้วยนั้น ก็ไม่ได้ไปล้วงลูก แต่ทบทวนสิ่งที่เคยผ่านมาให้เห็น
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาใหม่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เข้าเกณฑ์ เพราะเท่าที่ดูคือมีโทษไม่เกิน 4 ปี และไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในข่าย สิ่งที่น่ากลัวของสังคม แต่เป็นโทษในลักษณะที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม จึงสามารถอยู่ในที่คุมขังได้ และเป็นโทษที่มีจำนวนน้อยกว่า 1 ปี 
    
 เมื่อถามถึงกระแสข่าวการที่นายสมศักดิ์ได้เข้าพรรคเพื่อไทย เพราะมีการเอื้อประโยชน์กันในส่วนนี้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ ถ้าคิดว่าจะต้องเข้าพรรคเพื่อไทย ตนคงทำให้เสร็จในตอนนั้นไปแล้ว แต่ตนไม่ได้คิด มันเป็นไปตามครรลอง เป็นพัฒนาการของกฎหมายจากปี 2560 ไม่ได้คิดว่าจะไปอยู่พรรคการเมืองไหน แต่กฎหมายมันพัฒนาไปเข้าสู่ความเป็นสากล
    
   ยืนยันว่า นี่คือพัฒนาการของกฎหมาย และเป็นโอกาสของประเทศ โชคดีที่มีกรณีสำคัญตรงนี้ที่ทำให้คนสนใจ และได้ออกมาอธิบาย แต่เมื่อผมเห็นว่าเหตุการณ์เริ่มเดินไปในอีกทิศทางหนึ่ง จึงต้องพูดให้สังคมเข้าใจ และกรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีอำนาจใหญ่กว่าศาล 
    
 นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การบริหารโทษทางอาญามี 5 ประเภท แต่ในส่วนของกรมราชทัณฑ์มี 2 ประเภท คือประหารชีวิต และการจำคุก ซึ่งการจำคุกนี้ ไม่ได้สงวนไว้แค่ในเรือนจำเท่านั้น ขณะนี้เท่าที่ทราบในการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่อย่างไม่เป็นทางการ มีกลุ่มคนที่มีโทษน้อยกว่า 4 ปี จำนวน 10,000 กว่าคน ไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้ แต่เป็นเหตุการณ์ที่พ้องต้องกัน ซึ่งโชคดีที่ได้เอาเคสนี้มาอธิบายต่อสาธารณะ เพราะมีวีไอพีอยู่ตรงนี้ทำให้คนสนใจติดตาม แต่ไม่ได้ทำเฉพาะกรณีนี้ หรือเป็นการเอื้อประโยชน์
   
  ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของการรักษาตัวที่โรงพยาบาลของนายทักษิณเกิน 120 วัน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อยู่ในความเห็นของแพทย์ และอำนาจของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา และจากสถิติของเดือนนี้ ก็มีผู้ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเกิน 30 วัน เป็นจำนวนมากเกือบ 150 คน ไม่ใช่แค่ 1-2 คน ในอดีตก็มีมาก แต่ไม่ได้เปิดเผย นายทักษิณเป็นคนที่สาธารณะให้ความสนใจ ถ้ามีผู้ที่อธิบายเรื่องดังกล่าวให้สังคมเข้าใจ สังคมจะยอมรับและเดินหน้าต่อไปได้
  
   เมื่อถามถึงการที่นายทักษิณมีสุขภาพดีตอนที่อยู่ต่างประเทศ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทยกลับป่วย ถือว่าแปลกหรือไม่ นายสมศักดิ์ ย้อนถามว่า ก็น้องไม่เคยถูกจองจำ น้องลองไปสักสองสามวัน ชีวิตมันเครียดนะ เราเสียอิสรภาพหรือสิ่งต่างๆ ที่เราเคย ลองเข้าไปนอนสักคืนสองคืน นอนไม่หลับ คนอายุมากความดันขึ้น ป่วย ดังนั้นทางผบ. เรือนจำและอธิบดีก็มองว่ามีความเสี่ยง เมื่อเห็นเหตุการณ์แล้วจึงไปส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และเพื่อไม่ให้ตนเองต้องรับผิดชอบด้วย ใครไม่เคยไปนอนคุก ไม่เคยถูกจองจำ ลองไปสักคืนสองคืน จะพบว่าความเครียดเป็นต้นกำเนิดของโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย
      
 โรคเครียดเป็นบ่อเกิดของโรคอื่นเช่น โรคเบาหวาน ความดันเข้ามารุมเร้า พร้อมถามผู้สื่อข่าวว่าเคยเป็นหวัดภูมิแพ้หรือไม่นอนไม่หลับสองคืนก็จะป่วยหนัก ตนเองก็เป็นเช่นกันเดี๋ยวนี้โรคภัยไข้เจ็บเยอะ ยิ่งคนที่อยู่ในเรือนจำเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เมื่อถามว่าจะสามารถเปิดเผยแค่เพียงชื่อโรคของนายทักษิณได้หรือไม่ นายสมศักดิ์  กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ตนเพียงแค่มาพูดในทางวิชาการ
    
 ด้าน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านรายการ มุมการเมือง ทางไทยพีบีเอส ถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะครบกำหนดพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจใกล้ครบกำหนด 120 วัน ว่า ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการนำผู้ต้องขังรักษาภายนอกเรือนจำ กำหนดกรอบเวลาไว้ 3 ระยะ คือ 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน
    
 โดยเมื่อครบกำหนด 120 วัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของราชทัณฑ์ ประกอบกับการวินิจฉัยของแพทย์ว่ายังจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องหรือไม่ แม้กฎกระทรวง จะระบุกรอบเวลาไว้ถึง 120 วัน แต่หากแพทย์ลงความเห็นว่า ยังจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง ก็สามารถขยายเวลาได้โดยไม่ได้มีข้อกำหนดว่า จะขยายได้ถึงเมื่อใด
      
 ถ้าจำเป็นต้องรักษาเกิน 120 วัน แม้กฎหมายไม่ได้เขียนขยายได้เท่าไหร่ แต่ต้องติดตามรักษาต่อเนื่องว่าอาการเป็นอย่างไร ถึงนำกลับเข้าเรือนจำได้ ยืนยันการขยายเวลาให้นายทักษิณรักษานอกเรือนจำ ไม่ได้เป็นการประวิงเวลา ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขังมีผลบังคับใช้"
    
 นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า ไม่สามารถเปิดเผยอาการ หรือ รายละเอียดใดๆเกี่ยวกับกระบวนการรักษานายทักษิณได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อกฎหมาย และจริยธรรมแพทย์ และกรมราชทัณฑ์ ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจที่ขัดกับข้อกฎหมายได้
    
   "แม้จะครบ 120 วันแล้ว แต่นายทักษิณจะยังไม่สามารถขอพักโทษได้ โดยจะต้องรอให้รับโทษจำคุกแล้วเป็นเวลา 6 เดือนก่อน"
    
 วันเดียวกัน ที่ศาลรัฐธรรรมนูญ เมื่อเวลา 09.10 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้การในชั้นไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ คดีหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์(ส.ส.)  โดย นายพิธา เปิดเผยว่า รอวันนี้มานาน เพราะจะมีโอกาสสื่อสารข้อเท็จจริง ตนเองยังมั่นใจในข้อเท็จจริง และหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญ ทางกกต.ก็มีข้อมูล แต่ในส่วนของตนก็มีข้อมูลเช่นกัน ยินดีตอบทุกคำถามให้สิ้นข้อสงสัย ทั้งคำถามที่เกี่ยวกับบริษัทไอทีวี และคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว
    
 นายพิธา กล่าวว่า ไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อ ไม่ได้ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2550 นอกจากนี้ เมื่อนำไปเทียบคำพิพากษาในคดีอื่นๆ ทำให้มั่นใจว่าไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว  การนัดไต่สวนในวันนี้ จึงมีความพร้อมตอบข้อซักถาม ตามที่ได้ทบทวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมานาน 16 ปี ก่อนคุณพ่อเสียชีวิต  ซึ่งตนได้ทบทวนข้อเท็จจริงถึงแม้ว่าจะนานมาแล้ว 16 ปี ตั้งแต่พ่อเสียปี 49 ที่ไอทีวียุติการประกอบยุติการประกอบสื่อปี 50 ได้ทบทวนข้อเท็จจริงอย่างหนักแน่นและมั่นใจว่าจะใช้โอกาสนี้ในการพูดเป็นครั้งแรกและเป็นการสื่อสารครั้งแรกนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีรอวันนี้มานานพอสมควร
   
  ต่อมา เวลา09.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานบุคคลในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา101(6)ประกอบมาตรา98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และศาลฯได้มีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา รวมถึงสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.นับแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย 
   
  ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่าได้ไต่สวนพยานในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา101(6)ประกอบมาตรา98(3)หรือไม่ จากกรณี เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยมีพยานรวม 3 ปากคือนายแสวง บุญมี ,นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายคิมห์ สิริทวีชัย ตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณีคดีเป็นอันเสร็จสิ้นการไต่สวนศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 24 ม.ค.67 เวลา 14.00 น.
    
 สำหรับคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่...)พ.ศ... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ศาลได้มีการอภิปรายเพื่อเตรียมการไต่สวนในวันที่ 25 ธ.ค.66 เวลา 09.30 น