ต้องถือเป็นการขยายวงของสถานการณ์การสู้รบจากสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ที่ลุกลามบานปลายไปยังภาคส่วนอื่นๆ เลยก็ว่าได้

สำหรับ สถานการณ์ความตึงเครียดใน “ทะเลแดง” อันเกิดจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนติดอาวุธของ “กลุ่มกบฎฮูตี” ในเยเมนกับเรือบรรทุกสินค้าต่างๆ ตลอดจนเรือเดินทะเล เรือเดินสมุทรทั้งหลาย หลายครั้งหลายคราด้วยกัน ที่ผ่านน่านน้ำทะเลแดงแห่งนี้ นับตั้งแต่สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสปะทุลุกโชนขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา

ความตึงเครียดในน่านน้ำทะเลแดงที่บังเกิดขึ้น ก็เป็นไปตามคำขู่ของกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมน ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นประการต่างๆ จากอิหร่าน จากการเป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์ด้วยกัน ได้ประกาศด้วยท่าทีแข็งกร้าวว่า จะโจมตีเรือทุกลำที่แล่นเข้าอิสราเอล เพื่อกดดันให้อิสราเอลหยุดโจมตีต่อกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา พร้อมกับเปิดทางความช่วยเหลือแก่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากขึ้น

ส่งผลให้ทะเลแดง ซึ่งเป็นน่านน้ำคาบเกี่ยวระหว่างภูมิภาคตะวันตะวันออกกลางกับทวีปแอฟริกา ต้องร้อนระอุขึ้นทันที

โดยเมื่อกล่าวถึงความสำคัญของทะเลแดงแล้ว ก็ถือเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เชื่อมต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรนียน ผ่านคลองสุเอซ และทะเลแดง ออกอ่าวเอเดน บริเวณช่องแคบบับ-อัล-มันดับ ไปยังมหาสมุทรอินเดียได้ ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางเป็นอย่างมากจากทะเลเมดิเตอร์เรเนีรยน ออกมหาสมุทรแอตแลนติก ผ่านทวีปแอฟริกาด้านซีกตะวันตก อ้อมแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งอยู่ใต้สุดของทวีปแอฟริกา เพื่อมาออกมหาสมุทรอินเดีย โดยเส้นทางนี้มีระยะทางไกลเพิ่มขึ้นถึง 6,000 กิโลเมตรด้วยกัน

ด้วยประการฉะนี้ เรือสินค้าต่างๆ จึงเลือกใช้เส้นทางทะเลแดงมากกว่า เพราะประหยัดทั้งเวลา และพลังงานเชื้อเพลิงมากกว่า โดยมีตัวเลขระบุว่า เส้นทางทะเลแดงนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าคิดเป็นอย่างน้อยร้อยละ 10 ของการค้าโลกเลยทีเดียว ที่ต้องผ่านน่านน้ำทะเลแดงแห่งนี้ จนนับเป็นหนึ่งของเส้นทางเดินเรือพาณิชย์โลก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีจากกลุ่มกบฎฮูตี ที่ใช้ทั้งโดรนติดอาวุธถล่ม และทั้งยิงด้วยขีปนาวุธวิถีโค้ง ตลอดจนใช้กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มกบฎฮูตีบุกยึดเรือเดินทะเล และเรือสินค้าพาณิชย์ต่างๆ หลายครั้ง หลายครา แถมยังเป็นการปฏิบัติการโจมตีอย่างไม่เลือกหน้า แม้จะเป็นเรือของพลเรือนก็ตาม แบบยกระดับการคุกคามเลยก็ว่าได้ เพราะไล่ถล่มโจมตีอย่างไม่เลือกหน้าว่า เป็นสัญชาติใดกันแน่

ยกตัวอย่างกรณีเรือขนส่งสินค้าที่ชื่อว่า “กาแล็กซีลีดเดอร์” และ “สตรินดา” เรือบรรทุกน้ำมันของนอร์เวย์ เป็นต้น ซึ่งเรือเหล่านี้ถูกกลุ่มกบฎฮูตี ระบุว่า มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอล

ก็ส่งผลให้บรรดาบริษัทผู้ให้บริการเดินเรือต่างๆ ต้องคิดหนัก ด้วยความหวาดผวา ถึงความปลอดภัยในเรือของพวกเขาไม่น้อยเหมือนกัน

ถึงขนาดที่ 4 ใน 5 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเดินเรือบรรทุกสินค้าของโลก ต้องประกาศระงับการเดินเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงเป็นการชั่วคราว เพราะหวั่นเกรงว่า เรือขนส่งสินค้าของพวกเขา จะถูกกลุ่มกบฎฮูตีโจมตีซ้ำรอยเหมือนเรือสินค้าอื่นๆ ที่ตกเป็นเหยื่อเป้าโจมตีที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่ “เมดิเตอร์เรเนียนชิปปิง” หรือ “เอ็มเอสซี” ของอิตาลี-สวิตเซอร์แลนด์ “ซีเอ็มเอซีจีเอ็ม” ของฝรั่งเศส “เมอส์ก” ของเดนมาร์ก และ “ฮาปัก-ลอยด์” ของเยอรมนี

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า จะส่งผลกระทบต่อการค้า และธุรกิจ ลากรวมไปถึงเศรษฐกิจในอนาคต เพราะสินค้าต่างๆ ไม่สามารถลำเลียงขนส่งได้ตามปกติ โดยอาจต้องใช้เส้นทางอ้อม ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนจากการลำเลียงขนส่งสินค้าขึ้นมาอีก เช่น พลังงานเชื้อเพลิง การบริหารจัดการเกี่ยวกับจัดเก็บสินค้าต่างๆ เป็นต้น

ขณะที่ ปฏิกริยาจากนานาชาติ และองค์การระหว่างประเทศ ปรากฏว่า “สหรัฐอเมริกา” ทางนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ได้ประชุมฉุกเฉินกับบรรดาทางการของประเทศต่างๆ กว่า 40 ประเทศที่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมหารือ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ก่อนได้ผลการหารือว่า นานาประเทศต้องจับมือกัน ร่วมมือกัน จัดตั้งเป็น “หน่วยพิเศษ” ขึ้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามในทะเลแดงจากกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมน

โดยนายออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพนตากอนของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีอย่างน้อย 10 ประเทศที่เข้าร่วมทัพพันธมิตร ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร บาห์เรน แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เซเชลส์ และสเปน

ทั้งนี้ ทั้ง 10 ชาติข้างต้น จะมีปฏิบัติการลาดตระเวนในทะเลแดงร่วมกัน เพื่อปกป้องความปลอดภัยของเรือสินค้าจากการถูกกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมนคุกคาม

พร้อมกันนี้ เจ้ากระทรวงเพนตากอนของสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า ยังจะมีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมสนับสนุนด้านข่าวกรองในพื้นที่ทะเลแดงและอ่าวเอเดนอีกด้วย

กล่าวถึงข้อตกลงความร่วมมือข้างต้นนั้น ก็เสมือนหนึ่งเป็นการปัดฝุ่นข้อตกลงที่ 39 ประเทศ เคยทำไว้เมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565) ภายใต้ชื่อว่า “ปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรือง (Operation Prosperity Guardian)” อันเป็นปฏิบัติการรักษาความมั่นคงในน่านน้ำทะเลแดง และช่องแคบบับ-อัล-มันดับ ตลอดจนอ่าวเอเดน นั่นเอง

ขณะเดียวกัน ทางด้านองค์การระหว่างประเทศ อย่าง “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นเอสซี” ก็เตรียมที่จะประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหานี้ โดยสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้ยูเอ็นเอสซี ไฟเขียวอนุญาตให้ใช้มาตรการตอบโต้ต่อกลุ่มกบฎฮูตีได้อย่างชอบธรรม นอกเหนือจากการพิทักษ์ปกป้องแล้ว เพราะการกระทำของกลุ่มกบฎฮูตีดังกล่าว ถือเป็นภัยคุกคามเสรีภาพการเดินเรือ การค้าระหว่างประเทศ และความมั่นคงในน่านน้ำสากล