เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี

หมายเหตุ : “รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร”  ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ  ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐรายวัน” วิเคราะห์สถานการณ์โลกจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย หรือไม่ และอย่างไร ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนสภาวะทางสังคม

 

- มองการเมืองโลกที่ไทยต้องติดตามในปี 2567 อย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส

1.ความขัดแย้งระดับภูมิภาคที่ยังไม่คลี่คลายและยังมีการปะทุเพิ่มเติม แม้ว่าไม่ปะทุจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2567 มากขึ้น การรบนานก็จะสูญเสียมากขึ้น ฟื้นฟูลำบาก การผลิตทดถอยลงไป หากสงครามยังไม่ยุติ

 2.ผลกระทบในระดับโลก การค้าการลงทุนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะมีการพึ่งพาจีนน้อยลง ซึ่งหลายประเทศกำลังปรับระยะห่างจากจีน เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษที่จะมีการปรับฐานการผลิต รวมถึงการแบ่งแยกกลุ่มการค้าที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะสภาพยุโรปที่อาจจะยังไม่แบ่งแยกเด็ดขาด เพราะยังต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน แต่แนวโน้มก็เป็นอย่างนั้น เช่น ไทยเพิ่มขึ้นบางส่วนกับจีนในเรื่องรถไฟฟ้า และอาจจะลดในเรื่องเทคโนโลยี เรื่องอินเตอร์เน็ต เนื่องจากกฎหมายที่ออกมากับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่ไม่ได้ค้าขายกับจีน

การแบ่งขั้วการค้า การแบ่งขั้วการเมืองก็จะเข้มข้นตามสงคราม ตามความขัดแย้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงทำได้ยาก เพียงแต่เราต้องรองรับให้ดีขึ้น ซึ่งบางประเด็นอาจทำให้เกิดความขัดแย้งภายใน เช่น เราจะขยับไปหาสหรัฐฯ มากขึ้นกว่านี้หรือไม่ หากขยับก็จะกระทบกับความสัมพันธ์ไทยกับเมียนมา 

3.เรื่องพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด สภาวะโลกร้อน สภาวะภูมิอากาศที่แปรปรวน ซึ่งหลายประเทศกำลังหาแหล่งพลังงานใหม่ บางประเทศทำโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่บางประเทศยังติดกับดัก รวมถึงประทศไทยที่ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เป้าหมายต่างๆ คลาดเคลื่อน ล่าช้าออกไปมาก ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็พยายามที่เน้นย้ำเรื่องนี้ให้มากขึ้น

ไทยเองก็ต้องดูให้ว่า จะสามารถลดการพึ่งพิงพลังแบบเดิมได้ขนาดไหน อย่างเรื่อง โลว์คาร์บอน เราพูดดี นโยบายชัดเจน แต่การปฏิบัติล่าช้ากว่ากำหนด โดยตัวเลขจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รายงานว่า ไทยตกจากกลุ่มถัวเฉลี่ยปานกลาง มาเป็นกลุ่มถัวเฉลี่ยที่ทำได้น้อยค่อนข้างต่ำ ซึ่งถ้าตกลงไปอีกก็จะมีความผันผวนในเรื่องของพลังงาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เรื่องของสภาพอากาศด้วยและโยงไปถึงการเมืองภายใน 

4. โลกสมัยใหม่ ไซเบอร์ ซีคิวริตี้ หรือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งหายประเทศกำลังปรับโครงสร้าง เรื่องเอไอ เรื่องออนไลน์ ที่กระทบเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ แก็งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การดูแลข้อมูลส่วนบุคคลก็จะเข้มข้นมากขึ้น และการใช้เอไอในหลายส่วน ทั้งการทหาร การแพทย์สาธารณสุขและเรื่องอื่นๆ อย่างสิงค์โปร์ ญี่ปุ่นก็กำลังออกกฎหมาย

ส่วนของไทย กฎหมายเริ่มที่จะเก่าแล้ว ตามไม่ทันที่จะสามารถป้องกันโครงสร้างพื้นฐานคู่ไปกับข้อมูลส่วนบุคคลให้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ปัจจุบันยังแยกส่วนกันมีคณะกรรมการ 2 คณะของไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหลายประเทศเขาปรับให้อยู่ในระบบเดียวกันหมดแล้ว

อย่างข้อมูลสาธารณของเราในโรงพยาบาลที่โดนเจาะไปก็ต้องเข้ามาอยู่ในระบบไซเบอร์ ซีคิวริตี้ ไม่ใช่แค่ป้องกัน แต่ต้องสามารถจัดการคนที่นำข้อมูลออกไปได้ด้วย ทั้งนี้หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยน จะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต่อความเชื่อมั่นต่างๆ ซึ่งตัวเลขการป้องกันทางไซเบอร์ของเราไม่ดีก็เป็นปัญหา

 

- ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทย

ส่วนความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ไทยถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องหรือคู่กรณี ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่ความละเอียดอ่อนตรงนี้ เพราะเราเป็นคู่กรณีเพราะมีผู้เสียชีวิตอันดับต้นๆ มีตัวประกัน มีความเสียหาย และกระทบกับเศรษกิจเนื่องจากเรามีแรงงานเข้าไปทำงานที่นั้นจำนวนมาก ทั้งนี้หากเราเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังที่เข้าช่วยฟื้นฟู เราจะได้ประโยชน์มากและทำให้น้ำหนักไทยกับปาเลสไตน์ดีขึ้น มากกว่าที่จะไปพึ่งอิสราเอลอย่างเดียว

สำหรับเรื่องการค้ากับจีน ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องตัดสินใจว่าจะมีการขยับออกมาอีกไหม ซึ่งจีนเองก็เริ่มปรับน้ำหนักการท่องเที่ยวกับไทย เรื่องดำน้ำก็ล่าช้า ก็ต้องจับสัญญาณให้ดีว่า จีนป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายโดยการลดระดับความสัมพันธ์ไทย-จีน หรือไม่ เพราะอาจมองว่าไทยกำลังเพิ่มน้ำหนักความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา หรือการเข้าไปช่วยกลุ่มต่าง ๆ ที่ต่อต้านทหารเมียนมา ซึ่งปีหน้าจะชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องของนโยบาย รวมถึงการจัดประชุมนานาชาติของไทยที่จะมีผลภูมิภาค

ส่วนการเมืองภายในของไทย คือเรื่องของบทบาทของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเรื่องของวิกฤติ ที่รัฐบาลพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจว่า เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการกระตุ้นด้วยการแจกเงินดิจิทัล

ปีหน้าจะเป็นปีที่รัฐบาลต้องพิสูจน์ว่าจะเดินต่อไปอย่างไรภายใน 1 ปี ถ้ารัฐบาลทำไม่สำเร็จ ปีถัดไปก็จะเกิดปัญหา รัฐบาลมีเวลาบวก ลบไม่เกิน 1 ปีในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ขณะนี้กำลังผันผวน ทั้งเรื่องพลังงานที่หลายประเทศไปเอาน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย หรือซื้อต่อจากอินเดียมาตุนเอาไว้ก่อน ไทยจะต้องอย่างนั้นหรือไม่ เพื่อลดค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของประชาชน

การขึ้นค่าแรง ในปีหน้าจะถูกนำขึ้นมาอยู่บนโต๊ะผู้บริหารประเทศให้ตัดสินใจ เรื่องเหล่านี้หากบริหารไม่ดี ไม่สมดุล อาจจะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองได้รวมทั้งข้อสรุปจากที่นายกฯ เดินทางไปเจรจาในต่างประเทศด้วย ส่วนนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ

ด้านความมั่นคงก็จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในการเจรจา เรียกร้องความชอบธรรมต่าง ๆ ทั้งเรื่องสงครามยูเครน - รัสเซีย ที่บอกว่ารัสเซียเสียทหารไปหลายแสนคน ส่วนสงครามอิสราเอล-ฮามาส บทบาทเราจะสมดุลมากกว่าปีที่แล้วหรือไม่ ข้อผิดพลาด ทั้งการแถลงข่าว แถลงการณ์ ความสับสนในการช่วยเหลือตัวประกันจะกลับมาย้อนแย้งและทำให้เกิดปัญหาอีกหรือไม่

ในเรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่สามารถตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) คนใหม่ที่ยังไม่สามารถตั้งได้ ก็จะทำให้การเจรจา การพูดคุยสันติสุขล่าช้าออกไป รวมถึงเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี กับการพักโทษ ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมากขึ้น ก็จะกระทบภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ของพรรคเพื่อไทย ผู้นำรุ่นใหม่ๆ และเกิดภาพเก่าซ้อนขึ้นว่า มาตรฐานในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้จะเป็นอย่างไร จะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ผกผันมากที่สุด ที่จะต้องบริหารจัดการให้ดี

รวมถึงข่าวที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างร้อนแรง และมีความทับซ้อนกับเศรษฐกิจ เรื่องต่างประเทศ และความมั่นคง จะต้องตั้งหลักให้ดี บริหารให้สมดุล หากเสียศูนย์ไป โอกาสที่จะแก้ก็ยิ่งยากกว่าปีที่แล้ว เพราะถือว่าช่วงฮันนีมูนจบไปแล้ว

 

 

- รัฐบาลจะตั้งรับอย่างไร กับสถานการณ์โลกที่กระทบไทย และการเมืองภายใน

ต้องมีการตั้งรับ และทำงานเชิงรุก ซึ่งรัฐบาลต้องประกอบทีมให้เข้มแข็งมากกว่าเดิม นายกฯ จะตอบไม่รู้เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว แนวทางที่จะต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ต้องความสอดคล้องกับความต้องการหรือความรู้สึกของประชาชนจริงๆ การปรับเปลี่ยนคนที่ไม่ทันสถานการณ์ หรือคนที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน สลับเอาคนที่ทำงานเชิงรุก ไปยึดพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อครองใจประชาชนเพิ่มขึ้น

มีการดำเนินนโยบายเชิงรุก เช่น การเสนอเข้าไปช่วยเหลือปาเลสไตน์ควบคู่ไปพร้อมกับฝรั่งเศส แต่ก็จะยากมาก เพราะที่ผ่านมาความสำเร็จของไทย คือเรารอเวลา เราสงวนท่าที เราไม่ปฏิบัติการอะไรในเชิงรุกมากนัก เราทำตามสถานการณ์ทำให้รู่สึกว่าไม่ทันกับเวลา การตรวจสอบคดีนายทักษิณก็จะเข้มข้น ก็ต้องมีการประเมิน ต้องบริหารให้ดี

ส่วนฝ่ายค้านเองก็จะขยับความเข้มข้นในการตรวจสอบ ซึ่งหากได้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย ความเข้มข้นในการตรวจสอบก็จะมากขึ้น ก็จะทำให้รัฐบาลอยู่สถานะที่เป็นรอง และตั้งรับมากกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงจะเห็นพื้นที่เชิงรุกของพรรคก้าวไกลมากขึ้น เช่น นโยบายต่างๆ ที่เดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งเรื่องนิรโทษกรรม เรื่องสิทธิของคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นภาพที่ซ้อนกัน และจะทำให้ประชาชนเห็นถึงความแตกต่างและแยกแยะเข้าไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า

 

- เรื่องการรับโทษของนายทักษิณ จะเป็นตัวแปรที่ทำให้รัฐบาลไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชนหรือไม่ 

ช่วงที่ 1 ช่วงแรกที่นายทักษิณกลับมาเป็นเรื่องของการรอมชอม ปรองดอง เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลเก่า รัฐบาลใหม่ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณทั้งหมด ซึ่งช่วงแรกถือว่าค่อนข้างลงตัวและได้รับการตอบรับดีพอสมควร ฝ่ายที่ต่อต้านก็จะไม่เคลื่อนไหวรุนแรงมากนัก เงื่อนไขที่กลับมาตอนแรกไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวล เข้าสู่กระบวนการปกติ บรรยากาศการเมืองก็ตอบรับ การทำงานรัฐบาลปัจจุบันกับรัฐบาลที่ผ่านมาก็เชื่อมโยงเชื่อมต่ออำนาจกัน ประชาชนก็รับได้ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไป

ช่วงที่ 2 ในการบริหารจัดการกับนายทักษิณ ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า จะต้องโปร่งใส เป็นธรรม ยุติธรรมให้คนรับได้ กฎเกณฑ์ กติกาต้องไม่หลายมาตรฐาน ไม่มีการเอื้อประโยชน์ทำให้คนเริ่มต่อต้าน รัฐบาลต้องลงมาดูแลกรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณให้มากขึ้น รัฐบาลต้องรีบชี้แจง เพราะไม่สามารถเอาความตั้งใจดีของคนในช่วงแรก ที่อนุโลม มาใช้ไม่ได้

ช่วงที่ 3 เป็นเรื่องของอนาคตตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การจบคดีต่างๆ และทำให้เรื่องของนายทักษิณจบจากกระบวนการทางยุติธรรมให้ได้ จะทำให้สังคมก้าวข้ามการเมือง ก้าวข้ามนายทักษิณ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวนายทักษิณเองด้วย

 

- การที่นายกฯ แก้ปัญหาแต่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ได้สนใจเรื่องความมั่นคงเท่าที่ควร

เป็นการใช้จุดแข็งของตัวเอง เพื่อตั้งหลักให้เป็นประโยชน์ในการเมืองที่จะมีขึ้นในปีหน้า ถือว่าเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่จะใช้จุดแข็งเดิมของตัวเอง เพื่อต่อยอดไปสู่ฐานการเมืองที่แท้จริง ส่วนฐานทางการเมืองที่ยังไม่มี หรือไม่เข้มแข็ง ก็ต้องอาศัยฐานการเมือง หรือจุดแข็งของคนอื่น แต่ปีหน้าความเป็นผู้นำจะถูกโอนกลับมาสู่นายกฯ มากขึ้น ทั้งด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และเรื่องอื่น ๆที่จะทยอย เรื่องสาธารณสุข เรื่องคดีความ การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน จะเอาไปฝากกับอื่นๆ ไม่ได้แล้ว    ​

 

- ประเทศเพื่อนบ้านที่มีการสู้รบตามแนวชายแดนไทย จะมีผลกระทบกับไทยหรือไม่

ปีหน้า "ผู้นำก็จะเก่งมากขึ้น" แต่จะถึงระดับที่จะมาดึงงานพวกนี้มาบริหารเองโดยตรงหรือไม่ ก็ถูกคาดการณ์ว่าจะต้องมีบทบาทมากขึ้น และฝ่ายค้านกดดันและจี้ให้แสดงความเป็นผู้นำ ให้ตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น แต่ก็ต้องระวังในเรื่องการตัดสินใจที่รวดเร็วที่ภาคส่วนธุรกิจต้องใช้ แต่งานความมั่นคงตัดสินใจรวดเร็วอาจจะเกิดความเสียหายกับหน่วยงานความมั่นคง การพูดคุยกับผู้นำต่างๆ ก็ระมัดระวังยิ่งขึ้น

 

-  ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง ไทยต้องจับตามองและต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

 

สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้จับตาดูเรื่องพวกนี้มาหลายปี โดยได้มีรายงานโครงสร้างขั้วอำนาจโลกใน 20 ปีข้างหน้า ที่เกี่ยวกับ 3 ฉากทัศน์สำคัญ ซึ่งนายกฯ ต้องไปศึกษาว่า และตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ฉากทัศน์แรกคือ จีนกับสหรัฐฯ เผชิญหน้ากันมากขึ้น ฉากทัศน์ที่สอง คือ แตกกันเป็นเสี่ยงๆ และฉากทัศน์ที่สาม คือ จีนและสหรัฐฯ เจรจากันได้ ซึ่งเรื่องนี้นายกฯจะต้องตัดสินใจและต้องดำเนินการตามนั้น เราต้องเดินหน้าให้เร็วไม่อย่างนั้นเราจะถูกดึงเข้าไปสู่สงคราม ซึ่งจะเป็นเรื่องที่อันตราย