สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

เป็นประเด็นร้อนข้ามสัปดาห์กับกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างต่อเนื่องนั้น เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมสั่งการให้นายพิธา และพรรคก้าวไกลเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้ง ไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย …*…

และเป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อมีการบิดเบือนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการประกาศให้มาตรา 112 เป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจะแตะต้องมิได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุอย่างชัดเจนไว้แล้วว่ามาตรา 112 แก้ไขได้ แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ …*…

ทว่า ทำไมสิ่งที่นายพิธา และพรรคก้าวไกลกระทำ ถึงเป็นไปโดยไม่ชอบนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายไว้ในคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย ซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค รวมทั้ง มีการรณรงค์ ให้มีการยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ ใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การจัดกิจการ การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่สภา และการใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง” …*…   

แค่เปิดใจเปิดตาให้กว้าง มิให้ “อคติ” ใดมาบดบัง แล้วสละเวลาไปอ่านคำวินิจฉัยในกรณีนี้ของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด ก็จะสามารถช่วยคลี่คลายข้อเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องตกเป็น “เหยื่อ” ให้ใครมาปั่นหัวผ่านทางช่องทางโซเชียลที่มีการทำกันอย่างเป็นขบวนการ …*…

ส่วนเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวออกมา จะนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลได้ไหม เพราะในการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลได้เสนอเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง และไม่ได้รับการทักท้วงใดๆ จากกกต.นั้น อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระให้มุมมองไว้น่าสนใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่รูปแบบความเคลื่อนไหวในการพยายามแก้ไขมาตรา 112 ของนายพิธา และพรรคก้าวไกลเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งกกต.ยังไม่เคยมีการพิจารณาประเด็นนี้มาก่อน …*…

แล้ว ส.ส.ก้าวไกล ที่ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112   หรือไปร่วมชุมนุม หรือช่วยประกันตัวคนด่าในหลวง  จะถูกถอดถอนเพราะผิดจรรยาบรรณได้ไหม อาจารย์แก้วสรรชี้ว่า” เป็นเรื่องปัจเจก จะฆ่าให้ตายหมู่แบบปาเลสไตน์ในกาซ่าไม่ได้   ต้องดูเป็นคนๆไป  ว่ารู้เห็นเป็นใจเป็นตัวตั้งตัวตีชัดเจนไหม ถ้าร่วมลงชื่อด้วย ชุมนุมด้วย ด่าเองด้วย  จ้องคอยประกันตัวด้วย  อย่างนี้ก็ไม่น่าจะรอด” …*…

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล หลักยึดของศาลรัฐธรรมนูญคือข้อกฎหมาย ไม่ใช่เงื่อนไขทางการเมืองใด อย่างที่มีการโหมประโคมอยู่ในเวลานี้

ที่มา:เจ้าพระยา (08/02/67)