สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ...*...

ผลพวงจากสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2566 หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ออกมาให้ข้อมูลว่ามีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ชะลอตัวจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5   และคาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.2-3.2 ทำให้มีเสียงเรียกร้องเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในเวลานี้ที่ค่อนข้างมีสภาพค่อนข้างเปราะบาง ...*...

โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ชี้ว่าสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังในช่วงถัดไป คือมาตรการด้านการเงินน่าจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี อย่างมาตรการอัตราดอกเบี้ยต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย หรือส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งต้องมีการกำหนดแนวทางเข้าไปดูแลเป็นการเฉพาะด้วย เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้มีการก่อหนี้มากขึ้น ...*...

พร้อมกันนี้เลขาฯสภาพัฒน์ยังเห็นว่าควรมีการผ่อนคลายการกำหนดอัตราชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำออกไปอีกระยะ หลังช่วงโควิด 19 ได้มีการลดอัตราชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำเหลือร้อยละ 5 ของวงเงินใช้จ่าย และได้มีการปรับเพิ่มอัตราชำระขั้นต่ำในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 8 เนื่องจากมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายแห่งใช้เงินจากบัตรเครดิตเป็นทุนเสริมในการทำธุรกิจ ...*...

“ในเรื่องมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิตต้องทำควบคู่กับการที่ธนาคารพาณิชย์ไปดูกลุ่มที่ใช้การชำระขั้นต่ำเป็นเวลานาน ดึงมาปรับโครงสร้างหนี้ ให้มีภาระดอกเบี้ยลดลงและช่วยให้เกิดการชำระหนี้ดีขึ้น ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาผ่อนที่อยู่อาศัย เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต จึงอยากฝากให้ธปท.พิจารณาตรงนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ขอย้ำว่าถ้ามีการลดดอกเบี้ยคงต้องให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจ เอสเอ็มอี ครัวเรือน ทั้งหมดอยู่ที่การพิจารณาของ ธปท.”เลขาสภาพัฒน์ระบุ ...*...

ขณะที่ก่อนหน้านี้เคยมีมุมมองจากศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า จากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2567 แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อรวมติดลบเป็นเดือนที่ 4 คือ ติดลบร้อยละ  1.11 และเงินเฟ้อไม่รวมอาหารและพลังงาน (Core inflation) บวกในอัตราร้อย0.52 ทั้งนี้การที่เงินเฟ้อทั้ง 2 แบบนั้นต่ำเกินไปมาก แสดงถึงระบบเศรษฐกิจมีปัญหา ไม่เจริญเติบโต ประชาชนมีรายได้ต่ำ ...*...

“ธปท.เคยเสนอคณะรัฐมนตรีไว้ว่า จะตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อรวม ในกรอบร้อยละ 1-3 แต่วันนี้เงินเฟ้อทั้ง 2 แบบ ต่ำกว่ากรอบอย่างมาก น่าจะต้องมีผู้รับผิดชอบ อีกทั้งการที่รัฐบาลดูแลราคาน้ำมันและไฟฟ้านั้น เป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดจีดีพี จึงมีผลน้อยมากต่อเงินเฟ้อ แต่ดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ทำให้มีปริมาณเงินบาทน้อยเกินไป ในระบบเศรษฐกิจนั้น มีผลอย่างมาก ซึ่งทำให้เงินเฟ้อต่ำเกินไป มีผลให้ GDP เติบโตต่ำ ประชาชนรายได้ต่ำ และยากจนลง”ความเห็นจากอดีตรัฐมนตรีคลังที่ยังได้ย้ำด้วยว่าการที่เงินเฟ้อติดลบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาเป็นเดือนที่ 4  เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปมาก ส่งผลให้ (1) การลงทุนเอกชนลดลง, การบริโภคของประชาชนลดลง  และ (2) ค่าเงินบาทแข็งเกินไป ทำให้รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งหมดทำให้จีดีพีเติบโตต่ำมานานมาก ...*...

สอดรับกับความเห็นจากนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ว่าภาคธุรกิจถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง กระทบต้นทุนการดำเนินกิจการโดยตรง ส่วนการกู้ยืมของประชาชนก็มีภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน แม้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับลดเชิงเทคนิคตามนโยบายการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ แต่บ่งชี้ให้เห็นถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ ดังนั้น หอการค้าฯ จึงมีข้อเสนอแนะว่าในระยะถัดไป ควรมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยลดภาระประชาชน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย รวมถึงเสนอให้มีมาตรการใหม่ๆในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายต่อไป ...*...

เช่นเดียวกับแง่คิดจากกูรูด้านเศรษฐศาสตร์ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ว่าในอดีต 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตโควิค-19 ธปท. ปรับดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 1.7 ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่แค่ร้อยละ 0.6 ต่ำกว่าเป้าของธปท.ที่ตั้งไว้ร้อยละ 1-3 อย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามมาก็คือกําลังซื้อในประเทศแผ่วลง เห็นได้ชัดจากที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก จนทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก และเงินทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนไทย สะท้อนให้เห็นว่าถ้าดอกเบี้ยจริงเกินกว่าร้อยละ 1 เหมือนสูงเกินไป ขณะที่ปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ไม่เกินร้อยละ1 อาจติดลบด้วยซ้ำ แต่ดอกเบี้ยกับมีอัตราร้อยละ 2.5 ฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบายสูงค่อนข้างมากแล้ว ก็กระทบกับเศรษฐกิจแรงกว่าที่ธปท.คิด ...*...

“เงินเฟ้อติดลบตั้งนานแล้ว ไปขึ้นดอกเบี้ยทําไม ผมถามว่า ต้องรอให้เรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็งก่อนหรือ แม้แบงก์ชาติจะยืนยันว่า มีความอิสระในการดำเนินโยบายการเงิน แต่ปกติแล้วคุณอยู่ในเรือลําเดียวกัน แล้วคุณจะบอกว่าขอมีอิสระ แต่อยู่ในเรือลำเดียวกันมันก็ฟังแปลก”ข้อสังเกตจากดร.ศุภวุฒิ ...*...

และตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการผ่อนคลายอัตราการชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ ก็แน่นอนว่าแรงกดดันต่อธปท.จะมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลสะเทือนต่อเก้าอี้ผู้ว่าฯธปท.ในที่สุด

ที่มา:เจ้าพระยา (22/01/67)