เข้าสู่ปีสุดท้ายของวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโจ ไบเดน แล้ว ก่อนจะมีการเลือกตั้งเพื่อหาประธานาธิบดีคนใหม่ในปลายปีนี้

ปรากฏว่า ประธานาธิบดีไบเดน และทางทีมงานในทำเนียบขาว เพิ่งมาเผยแผนการส่งเสริมสุขภาพ และต่อสู้กับความอดอยากของประชาชนชาวอเมริกัน เมื่อไม่กี่เพลาที่ผ่านมานี้

โดยแผนการต่อสู้กับความหิวโหยอดอยาก พร้อมกับดูแลสุขภาพของประชาชนชาวอเมริกันนั้น ทางรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน ก็เตรียมเข็นงบประมาณมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราวกว่า 61,200 ล้านบาท)

ก็ตามมาด้วยเสียงบ่นอุบจากชาวอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อเมริกันชนที่เป็นพลพรรคของรีพับลิกัน พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนจากพรรคเดโมแครต ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์เป็นประการต่างๆ

ว่าประธานาธิบดีไบเดน เพิ่งมาเร่งเครื่องดำเนินนโยบายในลักษณะหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ใกล้จะมีขึ้นในปลายปีนี้ ท่ามกลางคะแนนนิยมของประธานาธิบดีไบเดน ที่กำลังตกต่ำลงทุกขณะ ตามหลังตัวเก็งของพรรครีพับลิกัน อย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คะแนนนิยมดีวันดีคืน แซงหน้าประธานาธิบดีไบเดน แทบจะทุกสำนักโพลล์ แม้ว่าเผชิญกับคดีความต่างๆ กว่า 90 กระทงก็ตาม

บ้างก็ว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน เพิ่งตื่นจากการหลับใหลในการบริหารประเทศกันหรือไร หลังผ่านพ้นการบริหารประเทศมา 3 ปี เพิ่งมาเดินหน้าแผนการดังกล่าว แบบจวนเจียนจะหมดสมัยวาระการดำรงตำแหน่ง เหลือเวลาการเป็นประธานาธิบดีไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ที่จะดำเนินแผนการในอันที่จะสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวอเมริกัน

พวกคนไร้บ้านในสหรัฐฯ นั่งรับประทานอาหารที่ได้รับแจก (Photo : AFP)

บ้างก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงจำนวนเม็ดเงินของงบประมาณในการดำเนินแผนการสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวอเมริกันดังกล่าว เป็นจำนวนที่น้อยนิด คือ เพียง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น แตกต่างจากการดำเนินนโยบายสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย และสนับสนุนอิสราเอลในการทำสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงงบประมาณที่ทางการสหรัฐฯ จัดสรรไปช่วยเหลือยูเครน ในการทำสงครามต่อต้านรัสเซีย ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็มีมูลค่านับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยล่าสุด เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ทางวุฒิสภาสหรัฐฯ หรือสภาซีเนต ซึ่งเป็นสภาสูงของสหรัฐฯ ก็ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือยูเครน เพื่อทำศึกกับรัสเซีย มีมูลค่ามากถึง 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 3,423,800 ล้านบาท)

ขณะที่ “อิสราเอล” อีกหนึ่งชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ปรากฏว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน ก็จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือในการทำสงครามสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาด้วยเม็ดเงินที่มากถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 504,560 ล้านบาท)

ชนิดทำเอาประชาชนพลเมืองของสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าของภาษี ต่างพากันค้อนควักต่อสมาชิกสภาซีเนต รวมถึงรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนเลยทีเดียว ที่ไฟเขียวเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลให้แก่ยูเครน ในขณะที่ประชาชนพลเมืองของประเทศหลายภาคส่วน เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน คนอนาถา ยังคงหิวโหย แต่ทว่า กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือน้อยกว่าหลายเท่าตัว

เช่นเดียวกับสุขภาพของประชาชนพลเมืองชาวสหรัฐฯ ก็ยังมีปัญหาให้ต้องแก้ไขและดูแลกันอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สุขภาพของประชาชนพลเมืองเหล่านี้แข็งแรง ปลอดภัย ไร้โรคา

ทั้งนี้ เมื่อว่าถึงปัญหาเกี่ยวกับความอดอยากหิวโหย และปัญหาสุขภาพแล้ว ก็ต้องบอกว่า ประชาชนคนอเมริกันต่างตั้งความหวังไว้กับประธานาธิบดีไบเดน และรัฐบาลภายใต้การนำของเขาเป็นอย่างมาก ตั้งแต่แรกเริ่มของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 4 ปีที่แล้วมาเลยก็ว่าได้

โดยชาวอเมริกัน ต่างตั้งความหวังว่าจะนายไบเดน จะช่วยฟื้นคืนทั้งทางเศรษฐกิจและการดูแลสุขภาพของชาวอเมริกัน ให้แตกต่างจากในยุคสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเมื่อกล่าวในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น สหรัฐฯ ก็มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ก่อสงครามการค้ากับประเทศและภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคยุโรป และประเทศจีน จนส่งผลกระทบต่อภาวะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง

ส่วนเรื่องปัญหาด้านสุขภาพ ปรากฏว่า ในยุคสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ประเทศสหรัฐฯ ก็เผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส – 2019 หรือโควิด19 จนสหรัฐฯ มีทั้งผู้ป่วยติดเชื้อสะสม และผู้ป่วยที่เสียชีวิตจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ปฐมพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยคนไร้บ้านรายหนึ่ง ก่อนช่วยกันนำตัวส่งโรงพยาบาลต่อไป (Photo : AFP)

ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันในช่วงที่นายไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใหม่ๆ ปรากฏว่า ทั้งในประเด็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนโดยตรง และประเด็นปัญหาเรื่องสุขภาพนั้น กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม จำนวนมากกว่าร้อยละ 50 – 52 ล้วนตั้งความหวังและมีความเชื่อมั่นต่อประธานาธิบดีไบเดนในการแก้ไขทั้งสองปัญหานี้

ทว่า หลังจากที่นายไบเดน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า คะแนนนิยมของประชาชนชาวอเมริกันที่มีต่อความเชื่อมั่นในการบริหารของประธานาธิบดีไบเดน ก็ลดลงตามลำดับอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด ความนิยมของประธานาธิบดีไบเดนในการบริหารด้านเศรษฐกิจและปากท้องพี่น้องประชาชนนี้ ก็ลดลงเหลืออยู่ที่ร้อยละ 30 กว่า แถมมิหนำซ้ำบางสำนักโพลล์ เช่น ศูนย์วิจัยพิว ก็เหลือต่ำกว่าร้อยละ 30 ลงไปแตะที่ร้อยละ 28 เลยด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับ ความเชื่อมั่นในเรื่องการบริหารด้านการดูแลสุขภาพ ปรากฏว่า ก็ลดต่ำลงจากเดิมที่ยืนเหนือกว่าร้อยละ 50 ลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 30 กว่าๆ เท่านั้น ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ช่วงเวลาที่เหลือ ประธานาธิบดีไบเดนและรัฐบาลของเขาไม่น่าจะมีเวลาเพียงพอสำหรับการดำเนินแผนการรับมือปัญหาเศรษฐกิจ ความอดอยากความหิวโหย ตลอดจนปัญหาการดูแลสุขภาพ ไม่น่าจะทันการณ์ โดยผลการเลือกตั้งปลายปีนี้จะเป็นำคำตอบ