วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่กระทรวงกลาโหม นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)  จะเดินทางมายื่นหนังสือที่กระทรวงกลาโหม กรณีเกาะกูด ว่า เป็นสิทธิ์ความกังวลของคนไทยที่กังวลได้ ซึ่งมีความห่วงความรักชาติ เว้นแต่ว่าขอให้มั่นใจว่าวันนี้ประเทศเรามีระบบประชาธิปไตยที่ดี มีการตรวจสอบได้ในสภาฯ คิดจะทำอะไร นำผลประโยชน์ของชาติไปทำเสื่อมเสีย ระบบสามารถตรวจสอบและกำกับได้อยู่ และสังคมก็ช่วยกันดู ให้สบายใจได้ ความกังวลตนก็เข้าใจได้ แต่ก็กังวลให้พองาม

เมื่อถามว่าความกังวลกับความรักชาติมากับความไม่ไว้วางใจ นายสุทิน กล่าวว่า ขอให้แยกแยะ เป็นมานานแล้วประเทศไทย ถ้าเราไม่ไว้วางใจอะไรกันเลยก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้

ส่วนมองว่าจะส่งผลต่อการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน พอมีสังคมไม่ไว้วางใจ ในประเด็นนี้ทำให้การเจรจาไม่ไปไหนเลย นายสุทิน กล่าวว่า ถ้าทุกคนอยู่ที่เส้นของตนเอง ก็จะเป็นคุณในการเจรจา ความเป็นห่วงก็สามารถส่งเสียงสะท้อนได้ เพียงแต่เราไม่เกินเลยไป ซึ่งตนก็มองว่าจะทำให้เป็นผลบวก การเจรจาก็จะคำนึงถึงเสียงเหล่านี้ แต่ถ้าหากเราเลยเส้นไป จะทำให้การเจรจาเบี่ยงเบนไป

เมื่อถามว่าปัญหาพื้นที่เกาะกูด ก็ไม่ต่างกันกับพื้นที่ ส.ป.ก. เพราะถือแผนที่กันคนละฉบับ นายสุทิน กล่าวว่า  มันก็อาจจะคล้ายกัน แต่คนละประเทศ เราต้องหาจุดลงตัวให้ได้

เมื่อถามว่ามีความกังวลผลประโยชน์ระหว่างตระกูลและผลประโยชน์ของประเทศ นายสุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบการตรวจสอบ ทุกวันนี้เป็นระบบประชาธิปไตย คงไม่มีใครคิดไปทำอะไรกันขนาดนั้น ถึงมีความคิดก็ทำไม่ได้

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ กลุ่ม คปท.ได้ไปยื่นหนังสือที่กองทัพเรือ และวันนี้มายื่นที่กระทรวงกลาโหม ที่ดูเหมือนว่าจะพยายามดึงกองทัพเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ นายสุทิน กล่าวว่า เขาคงมองว่ากองทัพ มีส่วนในการเจรจาในเรื่องนี้ เขาก็เลยมา ซึ่งตนมองว่า ส่วนงานไหนที่มีส่วนกับเรื่องนี้ทางกลุ่ม คปท.ก็คงจะไป

เมื่อถามว่าทางกระทรวงกลาโหมได้คุยกับทางกรมแผนที่ทหารในเส้นเขตแดน ที่มีความทับซ้อนที่เกาะกูด หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเรื่องสนธิสัญญา ซึ่งทหารมีหน้าที่ดูแลอธิปไตย ที่เป็นหน้าที่หลัก เราก็รู้จักลำดับ เป็นลำดับที่ต้องรักษา เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ลำดับแรกคือกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปคุยกันมาก่อน เราจะไปล้ำเส้นเขาไม่ได้ กระทรวงกลาโหม อยู่ในอำนาจต้องรักษาเส้นเขตแดนเป็นหลัก

เมื่อถามว่ามองว่าควรจะยึดตาม MOU 44 คือการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันกับการแบ่งเส้นเขตแดน และต้องทำควบคู่กัน ทั้งสองอย่างนี้หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ตนยังไม่ชำนาญพอ ยังไม่ได้ศึกษาในส่วนนี้ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้มีระบบการทำงานอยู่ จะต้องหาทางออกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็แล้วแต่ จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพื่อรักษามิตรภาพ

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะไม่นำเรื่องเขตแดนมาพูด นายสุทิน กล่าวว่า อาจจะเป็นไปได้เพราะ 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดี และกำลังมีความร่วมมือกันในหลายเรื่องไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

เมื่อถามว่า หากนำผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้หมดแล้วจะไม่มีอะไรมารับประกันว่าในอนาคตกัมพูชาจะไม่มาอ้างสิทธิ์เกาะกูดจากไทย นายสุทิน กล่าวว่า ก็ให้ลองดูอีกสักหน่อย ขณะนี้ยังไม่เกิดเรื่องอะไรขึ้น